พืชผลแล้งตาย จากตูนิเซียถึงไทย

จะเรียกว่าโลกร้อนหรือโลกเดือดก็ตาม เป็นที่แน่แท้แล้วว่าโลกใบนี้ของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ และออกจะแน่แท้แล้วเช่นกันว่า ความพยายามที่จะควบคุมโลกไม่ได้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า ที่ประเทศน้อยใหญ่กำลังพยายามกันอย่างยิ่งนั้น ยากที่จะเป็นได้

เพราะด้วยจำนวนประชากรกว่า 7 พันล้าน และการบริโภคทั้งอาหารและความสะดวกสบายนานา จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2571 หรือ 5 ปีข้างหน้านี่เอง

เรียกว่าถ้าไม่รีบจากโลกนี้ไปเสียก่อนวัยอันควร เราทุกคนจะได้รับผลกระทบนี้อย่างแน่นอน จะได้เป็นประจักษ์โลกที่้ร้อนหรือเดือดนั้นอย่างแน่นอน

โลกจะยังเดินหน้าร้อนขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป สัมผัสได้จากอากาศที่ร้อนขึ้น ค่าไฟเพื่อระงับความร้อนพุ่งสูงขึ้น ต้นไม้ใบหญ้า พืชผลการเกษตรล้มตาย หรือมีโรคราหน้าตาแปลกๆ มาทำลายล้างเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

แม้โลกจะยืนยันว่าจะไม่ยอมแพ้ แต่คำยืนยันนั้นจะทำให้โลกชนะหรือเปล่า ต้องลุ้นกันเหงื่อหยด

วันนี้มาเล่าเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรรมปลูกองุ่นของตูนิเซีย ประเทศที่อยู่เหนือสุดของทวีปแอฟริกา อยู่ห่างจากอิตาลีของยุโรปแค่มีทะเลคั่น จึงมีภูมิอากาศคล้ายกัน ร้อนชื้นแต่มีลมทะเล ปลูกองุ่นได้ดี เหมือนอิตาลี

องุ่นเป็นผลิตผลหลักที่เคยเลี้ยงดูเกษตรกรตูนิเซียหลายล้านคน ส่งเป็นวัตถุดิบไปผลิตไวน์เครื่องดื่มราคาแพงให้กับยุโรป

แต่อากาศที่ร้อนระอุทำให้องุ่นและอุตสาหกรรมไวน์ขนาดเล็กของตูนิเซีย เสียหายหนักจนเกษตรกรและคนทำไวน์เผชิญหน้ากับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้

ตัวเลขความเสียหายหรือการลดลงของผลผลิตองุ่น ถ้าถามกระทรวงเกษตรของตูนิเซีย เขาว่าลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าถามกลุ่มอุตสาหกรรมไวน์ของประเทศ เขาว่าลดลงแล้ว 40-50 เปอร์เซ็นต์

ชาวสวนองุ่นคนหนึ่ง ชื่อ Wajdi Graya หรือ เกรยา กล่าวว่า ผลผลิตของเขาลดลง 2 ใน 5 ถึง 3 ใน 5 ในปีนี้ หลังจากที่เจออุณหภูมิสูงสุดในเดือนกรกฎาคมพุ่งสูงถึง 38-48 องศาเซลเซียส ความร้อนทำให้ระดับน้ำตาลในองุ่นลดลง และจำนวนมากก็ตายเพราะความร้อนนั้นเอง

Wajdi Graya บอกว่า สิ่งที่ทำได้คือชะลอการเก็บเกี่ยวพืชผลเพื่อให้ได้ระดับน้ำตาลที่ยอมรับได้ แต่มันก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี

ในสมัยโบราณ ตูนิเซียเป็นผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ภายใต้จักรวรรดิคาร์ธาจิเนียนและโรมัน และมีการผลิตในเชิงพาณิชย์เริ่มต้นภายใต้ลัทธิล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส คือผลิตไวน์ส่งไปให้ประเทศเจ้าอาณานิคม แม้ว่าจะไม่ใช่รายย่อยเหมือนชิลี และประเทศอื่นๆ ก็ตาม

ซูเปอร์มาร์เก็ตในตูนิเซียจำหน่ายไวน์ที่ผลิตในท้องถิ่นให้เลือกมากมาย เป็นไวน์คุณภาพดี ราคาไม่แพง ส่วนใหญ่มาจากเนินเขาทางตอนเหนือ อันอุดมสมบูรณ์ใกล้กับคาบสมุทรที่เชื่อมต่อกับยุโรป

องุ่นจะถูกเก็บแต่เช้าตรู่และถูกส่งไปยังโรงงานแปรรูปที่ทันสมัยที่ Takelsa ในตอนกลางของตูนิเซียเพื่อแปรรูปเป็นไวน์

“เป็นปีที่ทุกข์ทรมาน บางคนเก็บเกี่ยวพืชผลไม่ได้เลย เกษตรนอกพื้นที่ชลประทานเสียหายหนัก แต่ในพื้นที่ชลประทานแม้ว่าพืชจะได้รับน้ำบ้าง ก็สู้กับความร้อนที่แผดเผาเถาองุ่นจนแห้งตายไม่ได้” เกรยา กล่าว

Hammadi Brik ผู้อำนวยการ บริษัท Coteaux Takelsa ซึ่งผลิตไวน์จากองุ่นที่ปลูกโดยเกรยาและเกษตรกรอีกประมาณ 160 ราย บอกว่า ต้องช่วยขยายเวลาชำระหนี้ของเกษตรกรที่เป็นหนี้บริษัทอยู่ เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นเกษตรกรจะไม่รอดแน่

และถึงไม่ทำ ก็เชื่อว่าเกษตรกรจะไม่สามารถชำระหนี้ได้อยู่ดี

กลับมาที่เมืองไทย แม้ในยามภูมิอากาศเป็นใคร เกษตรกรเราก็อยู่สภาพชักหน้าไม่ถึงหลัง หนี้ล้นกันถ้วนหน้า

ถ้าเจอโลกร้อนกระหน่ำซ้ำเข้าไปอีก จะเป็นกันอย่างไร