เมาค้าง แก้ด้วยชาดอกประยงค์

ต้นประยงค์ เป็นชื่อไทยโบราณ จัดเป็นไม้มงคลอีกชนิดหนึ่ง ดอกเป็นช่อ ลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ เล็กๆ สีเหลืองดูน่ารัก ตามความเชื่อโบราณเชื่อกันว่า บ้านไหนปลูกประยงค์ไว้ในบริเวณบ้าน จะทำให้บ้านมีความมั่นคง ยั่งยืน อยู่ยงคงกระพัน ไม่พ่ายแพ้ต่อสิ่งใดๆ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ใบคล้ายใบแก้ว ถ้าตัดบ่อยๆ ก็จะเป็นพุ่มแล้วออกดอกบ่อย ดอกให้กลิ่นหอมแรงตอนกลางคืน ดอกนั้นออกเป็นระยะๆ ตลอดปี แต่ละครั้งที่ให้ดอก ประยงค์จะให้ดอกสะพรั่งพร้อมกันเกือบตลอดทั้งต้น ทำนองเดียวกับดอกประดู่ ประยงค์มี 6 กลีบ แต่ไม่บาน เป็นเพียงตุ่มขนาดเล็กกลมๆ เท่านั้น เมื่อดอกอ่อนมีสีเขียวแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

ก้านและใบ ช่วยแก้แผลบวมฟกช้ำจากการหกล้ม หรือถูกกระทบกระแทก ฝีมีหนองทั้งหลายได้

รากและใบ ไข้แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก แก้ไข้ และอาการชัก

ในประเทศฟิลิปปินส์ ใช้ต้มเป็นยาบำรุงร่างกาย แต่ที่เด็ดจริงๆ อยู่ที่ดอก แก้เมาค้าง ดับร้อน แก้กระหายน้ำ แก้ไอ วิงเวียนศีรษะ ทำให้หูตาสว่าง ลดการอึดอัดแน่นหน้าอก รสชาติออกขมเฝื่อนเล็กน้อย รับประทานไม่ยาก

วิธีต้มง่ายนิดเดียว คือ เด็ดจากต้นทั้งก้านล้างน้ำให้สะอาด โดยใส่ในตะแกรงถี่ๆ ใส่กาชงชาหรือใส่ในแก้ว เติมน้ำร้อน แช่ทิ้งไว้สักพัก ได้น้ำชาสีชมพูอ่อนๆ สวยงามน่ารับประทาน ถ้าแช่นานสีจะเข้มขึ้น ขึ้นอยู่กับการใส่ดอกประยงค์มากน้อยด้วย หากมีอาการเมาค้าง ดื่มในตอนน้ำชาอุ่นๆ จะช่วยแก้อาการได้เป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกสดชื่น หากชอบแบบติดหวาน ใส่น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำผึ้งตอนไม่ร้อนเพียงเล็กน้อย แล้วแช่เย็นจะได้ดอกประยงค์ที่ดื่มได้ชื่นใจ มีสรรพคุณแก้กระหายน้ำอีกด้วย

ทั้งนี้ การรับประทานชาดอกประยงค์ก็มีข้อควรระวัง เนื่องจากในดอกประยงค์มีสารที่ทำให้เกิดการแท้งได้ จึงห้ามดื่มในหญิงที่ตั้งครรภ์ หากมีข้อสงสัยในการกิน ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทยหรือผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดจากการใช้สมุนไพรไม่เหมาะกับสุขภาพของแต่ละคนได้

 

ขอบคุณข้อมูล : คุณภูริชญา อินทร์เนตร จากคอลัมน์ “เรือนไทย” ในอภัยภูเบศรสาร ฉบับ 142