เกษตรกรหัวก้าวหน้า เชียงม่วน พะเยา เลี้ยงแมงป่องช้าง สร้างรายได้

แมงป่องช้าง (Giant scorpion) ชื่อสามัญ : แมงป่องช้าง Common name : Giant scorpion ชื่อวิทยาศาสตร์ : Heterometrus sp. Order : ScorpionesFamily : Scorpionidae

ลักษณะทั่วไป แมงป่องช้างเป็นสัตว์มีเปลือกแข็งหุ้ม ลำตัวเรียว มีขาจำนวน 4 คู่ อวัยวะที่โดดเด่น คือ “ก้ามใหญ่” (pedipalps) 1 คู่ มีส่วนหัวและอกอยู่รวมกัน เรียกว่า prosoma ทำหน้าที่หนีบอาหารหรือจับเหยื่อ มีตาบนหัว 1 คู่ และตาข้างอีก 3 คู่ตรงกลางหลัง (middle dorsal) และขอบข้างส่วนหน้า (anterolateral) ตรงปากมี “ก้ามเล็ก” (chelicera) 1 คู่ ส่วนถัดมาเรียกว่า mesosoma ประกอบด้วยปล้อง 7 ปล้อง ซึ่งปล้องที่ 3 มีอวัยวะสำคัญคือ “ช่องสืบพันธุ์” (genital operculum) และมีอวัยวะที่เรียกว่า pectines หรือ pectens 1 คู่ มีรูปร่างคล้ายหวี ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากการสั่นของพื้นดิน ส่วนสุดท้ายคือส่วนหางเรียวยาว เรียกว่า metasoma ประกอบด้วยปล้อง 5 ปล้องกับปล้องสุดท้าย คือ “ปล้องพิษ” มีลักษณะพองกลมปลายเรียวแหลม คล้ายรูปหยดน้ำกลับหัว บรรจุต่อมพิษ มีเข็มที่ใช้ต่อย เรียกว่า “เหล็กใน” (sting apparatus) สำหรับฉีดพิษ

แมงป่องช้าง

แม้ว่าแมงป่องมีตาหลายคู่ แต่มีประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำมาก และไม่ไวพอจะรับแสงกระพริบได้ เช่น แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป และต้องใช้เวลานานในการปรับตาให้ตอบสนองต่อแสง สังเกตได้เมื่อมันถูกนำออกจากที่มืด ต้องใช้เวลานับนาทีจึงจะเริ่มเคลื่อนไหว

ข้อด้อยเรื่องสายตาได้ถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่น หากสังเกตให้ดีจะพบว่าทั่วตัวแมงป่องปกคลุมด้วยเส้นขนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะบริเวณปล้องพิษ ขนเหล่านี้รับความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวของอากาศ ทำให้แมงป่องไวต่อเสียงมาก ดังนั้น จึงไม่แปลกที่แมงป่องจะชูหางขึ้นทันทีที่มีเสียง หรือมีการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อมีเหยื่อหรือศัตรูเข้ามาใกล้ และสามารถฉีดพิษสู่เหยื่อได้อย่างแม่นยำ

แมงป่องช้างตัวเมีย

ลักษณะพิเศษของแมงป่อง (ไม่เฉพาะแมงป่องช้าง) ที่ต่างไปจากสัตว์มีเปลือกแข็งชนิดอื่นๆ เกิดจากสารชนิดหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบแน่นอน ฝังตัวอยู่เป็นชั้นบางๆ ในเปลือกของแมงป่อง สารชนิดนี้ทำให้เปลือกแมงป่องเรืองแสงสีเขียวภายใต้แสง UV ถึงแม้แมงป่องตายไปแล้วเป็นเวลานาน คุณสมบัติเรืองแสงนี้ก็ยังคงอยู่ จากฟอสซิลแมงป่องอายุหลายร้อยปีพบว่า แม้ว่าเปลือกจะไม่คงรูปร่างแล้ว แต่สารเรืองแสงยังคงฝังตัวติดกับหินฟอสซิล นอกจากนี้ ตัวอย่างดอง หรือแม้กระทั่งแมงป่องทอดที่มีขายทั่วไป ยังคงมีการเรืองแสงอยู่แทบไม่แตกต่างจากแมงป่องที่มีชีวิตแม้แต่น้อย

ชีววิทยาของแมงป่องช้าง  หลังการผสมพันธุ์ แมงป่องช้างตัวเมียจะตั้งท้อง สังเกตได้จากการขยายตัวของกล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างปล้องที่ 3 ถึงปล้องที่ 7 แม่แมงป่องช้างจะตั้งท้องนานประมาณ 7 เดือนถึง 1 ปี จากนั้นจะออกลูกออกมาเป็นตัวในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ช่วงฤดูฝนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์

แมงป่องช้างตัวผู้

ก่อนตกลูก แม่แมงป่องจะซ่อนตัวในที่ปลอดภัย ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะคลานไปมาบริเวณใต้ท้องแม่ ส่วนแม่แมงป่องจะงอขาคู่แรกรองรับลูกบางตัวเอาไว้ และกางหวีหรือ pectines ออกเต็มที่เพื่อให้ช่องสืบพันธุ์อยู่พ้นจากพื้นดินให้มากที่สุด หาก pectines สัมผัสพื้นจะไม่ยอมคลอด เพราะลูกอาจมีอันตราย

แมงป่องช้างตกลูกครั้งละประมาณ 7-28 ตัว ด้วยอัตราประมาณ 1 ตัวต่อ 1 ชั่วโมง ดังนั้น แม่แมงป่องจึงใช้เวลาตกลูกแต่ละครอกนานมาก ตั้งแต่ 12-24 ชั่วโมง ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะปีนขึ้นไปเกาะกลุ่มเป็นก้อนสีขาวยั้วเยี้ยบนหลังแม่แมงป่อง ซึ่งระยะนี้แม่แมงป่องจะกินอาหารและน้ำน้อยมาก และไม่เคลื่อนย้ายไปไหนหากไม่จำเป็น เพราะต้องคอยระวังภัยให้ลูก ส่วนลูกแมงป่องจะอยู่บนหลังแม่นานถึง 2 สัปดาห์โดยไม่กินน้ำและอาหารเลย

ลูกแมงป่องช้างแรกเกิดมีสีขาวล้วน ยกเว้นตาที่เป็นจุดดำ 2 จุด ตามลำตัวอาจมีจุดสีดำหรือน้ำตาล ตัวอ่อนนุ่มนิ่ม อ้วนกลมเป็นปล้องๆ ส่วนหางสั้น ลำตัวเมื่อยืดหางออกเต็มที่ยาว 1.3 เซนติเมตร และหนัก 0.2 กรัม ใน 3 วันแรกลักษณะภายนอกไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ส่วนใหญ่ลูกแมงป่องจะเกาะกลุ่มกันอยู่นิ่งๆ กระทั่งหลังวันที่ 5 สีของลูกแมงป่องช้างจะเข้มขึ้น จากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมื่ออายุ 7 วัน ลูกแมงป่องช้างมีขนาด 1.7 เซนติเมตร หนัก 0.18 กรัม เคลื่อนไหวมากขึ้น และอาจไต่ไปมาบนหลังแม่

ในช่วงที่อยู่บนหลังแม่นี้ ลูกแมงป่องช้างได้พลังงานและน้ำจากการสลายไขมันที่สะสมอยู่ในลำตัวที่อ้วนกลม จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งถึงระยะนี้ ไม่พบการเรืองแสงภายใต้แสง UV

ลักษณะการเลี้ยงในบ่อและฝาปิด

ลูกแมงป่องช้างจะลอกคราบครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 11 วัน หลังลอกคราบลักษณะภายนอกของมันจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากลำตัวอวบอ้วนสีขาวเปลี่ยนเป็นลำตัวผอมเพรียวสีน้ำตาลเข้ม ขนาดราว 2.6 เซนติเมตร และหนัก 0.15 กรัม เริ่มเคลื่อนไหวรวดเร็ว ลูกแมงป่องบางตัวจะขึ้นๆ ลงๆ จากหลังแม่ และเริ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังคงไม่กินอะไรทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดคือเริ่มมีการเรืองแสงตามก้ามและขา ยกเว้นส่วนหลังและท้อง กระทั่งเข้าสู่วันที่ 14 แม้สีของลูกแมงป่องไม่ต่างจากตอนลอกคราบใหม่ๆ นัก แต่กลับพบว่ามีการเรืองแสงเพิ่มมากขึ้น เมื่อลูกแมงป่องมีอายุประมาณ 15 วัน จะลงจากหลังแม่จนหมด และมีการเรืองแสงทั่วทั้งตัว ลำตัวยาว 2.7 เซนติเมตร น้ำหนัก 0.14 กรัม พร้อมแสดงท่าทางการยกหาง

หลังจากนี้เป็นต้นไป สีผิวของลูกแมงป่องจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น มันจะเคลื่อนไหวรวดเร็ว และชอบซุกตัวอยู่ตามซอกหิน ใต้ใบไม้ ลูกๆ ที่เป็นอิสระจากแม่แล้วจะยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันกับแม่ เนื่องจากยังล่าเหยื่อไม่ได้ก็จะคอยกินเศษอาหารที่เหลือจากแม่ จนกว่าจะสามารถล่าเหยื่อเองได้จึงจะแยกไปอยู่ตามลำพัง ลูกแมงป่องช้างเจริญเติบโตช้ามาก อายุ 1 เดือนมีขนาดราว 3.3 เซนติเมตร หนัก 0.32 กรัม อายุ 1 ปี มีขนาดราว 6 เซนติเมตร และหนักราว 2 กรัม ต้องใช้เวลาอีกนานนับปีและลอกคราบอีกหลายครั้งจึงจะโตเป็นตัวเต็มวัย โดยทั่วไปแมงป่องช้างจะมีอายุราว 3-5 ปี

ตัวอ่อนหากตกจากหลังแม่จะโดนแม่กิน
คุณอู่ ขณะดูแลแมงป่องช้าง

อาหารของแมงป่องช้าง ได้แก่ พวกสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น แมงมุม บึ้ง กิ้งกือ หนอน และแมลงอื่นๆ โดยจะกินขณะที่เหยื่อยังไม่ตาย แมงป่องช้างจะใช้ก้ามจับเหยื่อก่อนแล้วใช้หางที่มีเหล็กในต่อยเหยื่ออย่างรวดเร็ว ซ้ำหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งเหยื่อตายแมงป่องจึงจะใช้ก้ามเล็กๆ 1 คู่ ตัดอาหารออกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนที่จะกิน

รูปแบบการจับ  ชาวบ้านจับแมงป่องช้างตามท่อนไม้ผุ หรือทางการค้าอาจทำการเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณมากๆ

รูปแบบการนำไปบริโภค ชาวจีนและญี่ปุ่นเชื่อว่าแมงป่องมีสรรพคุณทางยาใช้รักษาโรคต่างๆ ได้หลายโรค และมีการกินกันอย่างแพร่หลาย การประกอบอาหารนิยมนำมาปิ้ง ย่าง ทอด หรือกินทั้งตัว ในประเทศไทยนิยมนำไปดองเหล้าเพื่อรักษาโรค และทางแถบแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจากจีนจะมีการทอดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้กินกัน

คุณอัฐสิทธิ์ พรหมจักร หรือ คุณอู่ (ขวา) กับผู้เขียน

คุณอรรถสิทธิ์ พรหมจักร หรือ คุณอู่ เกษตรกรหัวก้าวหน้า อยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านมาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ได้ค้นคว้ากิจกรรมทางการเกษตรที่แปลกแตกต่างจากคนอื่นทำ ซึ่งมีผลต่อรายได้ พบว่าการเลี้ยงแมงป่องช้างเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำรายได้ให้ โดยได้หาพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติมาเลี้ยงในวงบ่อซีเมนต์ขนาด 2×3 เมตร เลี้ยงได้ประมาณ 300-400 ตัว แต่บางคนเลี้ยงได้ถึง 1,000  ตัว

มีการปรับสภาพพื้นบ่อโดยใช้ดินและขอนไม้รวมถึงกระเบื้องเก่ารองพื้น และมีแผ่นสังกะสีปิดคลุมปากบ่อ เพื่อไม่ให้โดนแสง เพราะแมงป่องช้างชอบอยู่ในความมืด ชาวบ้านทางภาคเหนือจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแมงมืด การกินอาหารจะกินในช่วงกลางคืน โดยใช้จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงปีกแข็งหรือแม้แต่หอยทากเป็นอาหาร การกินอาหารครั้งหนึ่งจะอยู่ได้ 7-10 วัน จะกินอาหารประมาณ 1 ตัวต่อครั้ง ที่สำคัญต้องมีถาดน้ำวางไว้อย่าให้ขาด ข้อควรระวังในช่วงออกลูกวัยอ่อนที่ลูกยังเกาะหลังอยู่ อย่าให้ลูกตกจากหลังแม่ เพราะแม่จะจับกิน การให้ลูกครั้งหนึ่งประมาณ 20-30 ตัว อายุ 8-12 เดือนก็สามารถจับขายได้โดยน้ำหนักจะอยู่ที่ 30-40 กรัมต่อตัว ตลาดอยู่ที่ตลาดนัดจตุจักร จีน เวียดนาม สถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจากจีน เช่น จังหวัดชลบุรีทอดขายกันตัวละ 120 บาท ปีที่แล้วราคาอยู่ที่ 1,000 บาท แต่ปีนี้เหลือ 300-400 บาท

เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องพยายามค้นหาสิ่งใหม่ไปโดยตลอดเพราะคนไทยเป็นนักตามที่ดีมาก คนที่ทำก่อนย่อมประสบผลสำเร็จก่อน และเมื่อมีคนตามเยอะสินค้าล้นตลาดหรือเกินความต้องการของตลาด เราก็ต้องหาสิ่งใหม่ที่คนอื่นยังไม่ทำมาเริ่มทำ เป็นอย่างนี้เรื่อยไป