กรมวิชาการเกษตร จับมือ กรมการข้าว กำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าว

หอยเชอรี่ ศัตรูข้าวที่สำคัญ ทำความเสียหายแก่ข้าวในนา ตั้งแต่ในระยะกล้าจนถึงระยะแตกกอ ทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศ หากไม่ทำการป้องกันกำจัด หอยเชอรี่สามารถทำลายข้าวในพื้นที่ 1 ตารางเมตร เสียหายได้ภายในเวลา 1 คืน สามารถทำให้สูญเสียผลผลิตข้าวมากกว่าร้อยละ 50 แม้ว่าปัจจุบันปัญหาการแพร่ระบาดของหอยเชอรี่จะลดลงเนื่องจากการแพร่กระจายของศัตรูตามธรรมชาติที่สำคัญคือ นกปากห่าง แต่พื้นที่นาข้าวที่การปลูกข้าวไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะนาข้าวที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง จึงยังพบปัญหาการแพร่ระบาดของหอยเชอรี่

คุณอุรัสยาณ์ ขวัญเรือน (ซ้ายมือ) และ ดร.พจนีย์ หน่อฝั้น

คุณอุรัสยาน์ ขวัญเรือน นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากพืชหลายชนิดเพื่อนำมาทดแทนการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ รวมทั้งการวิจัยพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่การศึกษาถึงในระดับแปลงนายังมีน้อย สารสกัดจากพืชที่นิยมนำมาใช้ป้องกันกำจัดหอยเชอรี่คือ กากเม็ดชา แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้กันนำเข้ามาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

คุณอุรัสยาน์ บอกว่า มีความสนใจสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่งที่มีในประเทศไทยคือ มะคำดีควาย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ประคำดีควาย ทางภาคเหนือ เรียกกันว่า ส้มป่อยเทศ มะซัก

มะคำดีควาย หรือประคำดีควาย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร ลักษณะใบแบบขนนก มีใบย่อย 7-13 คู่ เป็นรูปหอกป้านปลายแหลม ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกสีนวล ผลค่อนข้างกลม ผิวเปลือกอ่อน ออกรวมกันเป็นพวง ผลสดสีเขียว เมื่อสุกจะมีสีดำ ภายในมีเม็ดเปลือกหุ้มแข็งขนาดใหญ่ 1 เม็ดต่อ 1 ผล ผลแก่จะออกในช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน

ต้นประคำดีควาย

ต้นมะคำดีควาย พบได้ในบริเวณป่าเบญจพรรณ หรือป่าดงดิบ พบในทุกภาคของประเทศไทย และอาจพบได้ในพื้นที่เขตชุมชน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเม็ด

เม็ดประคำดีควาย

คุณอุรัสยาน์ บอกอีกด้วยว่า ในเนื้อผลของมะคำดีควายมีสารซาโปนิน มีฤทธิ์กำจัดหอยทากน้ำจืดได้ดี และสามารถป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทียบเท่ากับการใช้กากเม็ดชา จึงขอความร่วมมือจากกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อศึกษาวิธีสกัดและการแยกสารสำคัญกลุ่มซาโปนินที่มีฤทธิ์ต่อหอยเชอรี่จากสารสกัดมะคำดีควาย รวมทั้งการนำสารสกัดหยาบมะคำดีควายไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบเม็ดละลายน้ำและวิจัยหาอัตราการใช้ที่เหมาะสมของสารสกัดมะคำดีควายรูปแบบเม็ดละลายน้ำ ในการป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำน้อยที่สุด พร้อมทั้งหาความเป็นไปได้ในการใช้ในสภาพแปลงนา เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้เลือกใช้วิธีการป้องกันกำจัดที่มีความปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเกษตรน้อยที่สุด

ดร.พจนีย์ หน่อฝั้น นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตรจากสารธรรมชาติ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เริ่มดำเนินการโดยการเตรียมสารสกัด นำเนื้อผลมะคำดีควายแห้งมาบดเป็นผงละเอียด แช่เมทานอลแล้วปั่นกวนส่วนผสมเป็นระยะๆ เป็นเวลา 2 ชั่วโมง กรองสารสกัดที่ได้แล้วเติมเมทานอลลงในภาชนะเดิมเพื่อแช่สกัดอีกรอบหนึ่ง รวบรวมสารสกัดที่ได้ไปลดปริมาตรด้วยเครื่องลดปริมาตรสารแบบสุญญากาศจะได้สารสกัดมะคำดีควายที่มีสีน้ำตาลเข้ม ทดสอบประสิทธิภาพเบื้องต้นของสารสกัดมะคำดีควายต่อหอยเชอรี่ในห้องปฏิบัติการของกลุ่มงานสัตววิทยาการเกษตร กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โดยนำหอยเชอรี่ที่เก็บรวบรวมจากแปลงเกษตรกรใส่ในตู้ทดลองขนาด 25x40x25 เซนติเมตร บรรจุน้ำปริมาตร 8 ลิตร ใช้หอยเชอรี่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ขนาดละ 5 ตัว รวม 15 ตัวต่อตู้ พบว่าสารสกัดมะคำดีควายที่ระดับความเข้มข้น 0.02 กรัมต่อน้ำ 800 มิลลิลิตร มีประสิทธิภาพทำให้หอยตายทั้งหมด (100%) หลังจากใส่สาร 72 ชั่วโมง

เตรียมใบคะน้าเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดมะคำดีควายต่อหนอนใยผัก

นำสารสกัดมะคำดีควายไปแยกองค์ประกอบทางเคมีด้วยเทคนิคคอลัมน์โครมาโทกราฟี และตรวจสอบเอกลักษณ์ทางเคมีของสารที่แยกออกมาได้ด้วยเทคนิคทีแอลซีสมรรถนะสูง จนได้สารซาโปนินกึ่งบริสุทธิ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นสารเทียบ (chemical marker) ในการควบคุมคุณภาพในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สารสกัดมะคำดีควายต่อไป

ต่อจากนั้นคุณอุรัสยาน์ได้นำสารสกัดมะคำดีควายมาขึ้นรูปเป็นสารสกัดมะคำดีควายแบบเม็ดละลายน้ำ ขนาดเม็ดละ 1 กรัม และลดความชื้น แล้วนำไปทดสอบประสิทธิภาพเบื้องต้นกับหอยเชอรี่ โดยเลือกความเข้มข้นที่ทำให้หอยเชอรี่ตายมากที่สุด

จากนั้นนำไปทดสอบประสิทธิภาพกับหอยเชอรี่ในห้องปฏิบัติการ วางแผนการทดลองแบบ RCB (Randomized Complete Block) จำนวน 4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี

คุณอุรัสยาน์ได้เลือกกรรมวิธีที่ดีที่สุด 4 กรรมวิธี และเปรียบเทียบกับกากเม็ดชา กับไม่ใช้สารกำจัดหอยเป็นกรรมวิธีควบคุม เพื่อทดสอบความเป็นพิษต่อปลานิลในห้องปฏิบัติการ โดยใช้สารสกัดมะคำดีควายแบบเม็ดละลายน้ำอัตรา 2, 3, 4, และ 5 กิโลกรัมต่อไร่ และใช้กากเม็ดชาอัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นสารเปรียบเทียบ และกรรมวิธีที่ไม่ใส่สารกำจัดหอย

คุณอุรัสยาน์ กล่าวว่า จากการทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการพบว่า การใช้สารสกัดมะคำดีควายแบบเม็ดละลายน้ำ 2 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้หอยเชอรี่ตายร้อยละ 80 ที่ 72 ชั่วโมง ซึ่งไม่แตกต่างจากกากเม็ดชาที่ทำให้หอยเชอรี่ตายร้อยละ 93.3

สำหรับผลกระทบต่อสัตว์น้ำพบว่า การใช้สารสกัดมะคำดีควายแบบเม็ดละลายน้ำอัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ที่ 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ปลานิลตายร้อยละ 30 ซึ่งแตกต่างจากกากเม็ดชาที่ทำให้ปลานิลตายทั้งหมด 

ทดสอบประสิทธิภาพในแปลงนา

คุณอุรัสยาน์ กล่าวต่อไปอีกว่า หลังจากการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดมะคำดีควายแบบเม็ดละลายน้ำในห้องปฏิบัติการแล้ว กรมการข้าวได้นำไปทดสอบในแปลงนาทดลอง ณ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ช่วงเดือนธันวาคม 2563-พฤษภาคม 2565 ผลการทดลองพบว่า หลังจากใช้สาร 7 วัน สารสกัดมะคำดีควายแบบเม็ดละลายน้ำอัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้หอยเชอรี่ตายไม่แตกต่างจากกากเม็ดชา ซึ่งในปี 2567 จะดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพของสกัดมะคำดีควายแบบเม็ดในระดับแปลงนาเกษตรกรและประเมินการยอมรับของเกษตรกร รวมถึงการศึกษาผลกระทบต่อสัตว์อื่นๆ ในแปลงนาข้าวต่อไป

สารสกัดประคำดีควายด้วยตัวทำละลาย

นำไปต่อยอด ป้องกันกำจัดหนอนใยผักในแปลงคะน้า

จากการที่กรมวิชาการเกษตรมีนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและเน้นให้นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ศึกษาวิจัยและพัฒนาหาวิธีป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบยั่งยืน และส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ ดร.พจนีย์ได้ทำการวิจัยสารสกัดจากพืชว่านน้ำและหางไหลป้องกันกำจัดหนอนใยผักในแปลงคะน้าได้ผลมาแล้ว

สารสกัดประคำดีควายด้วยตัวทำละลาย

เนื่องจากเห็นว่าสารสกัดมะคำดีควายมีสารออกฤทธิ์เป็นสารในกลุ่มซาโปนิน เช่นเดียวกับกากเม็ดชานั้น จึงทำการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดมะคำดีควาย ต่อหนอนใยผักในห้องปฏิบัติการ โดยวิธีการจุ่มใบ (leaf dipping method) นำใบคะน้ามาจุ่มในสารสกัดมะคำดีควายแล้วนำใบคะน้าใส่กล่องเลี้ยงแมลงปล่อยหนอนใยผัก วัย 2 จำนวน 10 ตัวต่อกล่อง ทดสอบ 4 ซ้ำ พบว่า สารสกัดจากมะคำดีควายที่อัตราความเข้มข้น 2.0-5.0%w/v มีประสิทธิภาพทำให้หนอนตายได้ดี 62.5-83.0%

ดร.พจนีย์ บอกว่า สารสกัดจากมะคำดีควายจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรสามารถใช้ควบคุมหนอนใยผักในคะน้าหรือพืชตระกูลกะหล่ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้จากผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ และจะได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการพัฒนาสารสกัดจากมะคำดีควายให้เป็นผลิตภัณฑ์สารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้ง่ายและสะดวก มีประสิทธิภาพสูง เพื่อนำไปใช้ในแปลงปลูกคะน้าและกะหล่ำต่อไป

เม็ดประคำดีควาย
สารสกัดประคำดีควายด้วยตัวทำละลาย