ลุงโชค ปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน วังน้ำเขียว ปลูกไผ่ ใช้ไผ่ รักไผ่ จนเกิดคุณค่าและมูลค่า

ไผ่ ถือเป็นอีกหนึ่งพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ตั้งแต่การบริโภคตลอดไปจนถึงเป็นสิ่งปลูกสร้าง จึงทำให้ไผ่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นพืชทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เกษตรกรในหลายพื้นที่แบ่งพื้นที่ทางการเกษตรมาปลูกไผ่ โดยไม่เน้นที่จะปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งไผ่เมื่อปลูกเริ่มแรกเพียงครั้งเดียว หากมีการดูแลดีและใส่ใจในเรื่องของการบำรุงต้น สามารถให้ผลผลิตตั้งแต่การเก็บหน่อขาย หรือจะปล่อยให้เป็นลำไผ่ที่สวยนำไปสร้างสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นการตกแต่งบ้านเรือนได้ด้วยเช่นกัน

คุณโชคดี ปรโลกานนท์ หรือ ลุงโชค เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่คว่ำหวอดในการปลูกไผ่เป็นอย่างมาก ลุงโชคได้ใช้ประโยชน์จากไผ่สร้างรายได้ในทุกมิติในทุกช่องทาง ตั้งแต่ในเรื่องของการทำเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เป็นสิ่งที่สะดุดตาให้กับผู้พบเห็น จึงทำให้ในเวลาต่อมาไผ่ที่ปลูกทั้งหมด เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ทำรายได้ให้กับลุงโชค ชนิดที่ว่าสร้างรายได้ส่งต่อให้กับลูกหลานได้

คุณโชคดี ปรโลกานนท์ หรือ ลุงโชค

ไผ่พืชเศรษฐกิจ น่าสนใจ

ตอบโจทย์ การสร้างรายได้

ลุงโชค เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีภายในสวนแห่งนี้ปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นพืชเชิงเดี่ยว เมื่อทำไปเรื่อยๆ รายได้จากพืชเชิงเดี่ยวไม่ตอบโจทย์มากนัก จึงได้ปรับเปลี่ยนหันมาปลูกไม้ผลและมีไผ่เป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนในครั้งนั้น โดยเน้นทำเป็นสวนวนเกษตรควบคู่กันไป ในเวลาต่อมาค้นพบอีกว่าไผ่เป็นพืชที่ตอบโจทย์ เพราะสามารถที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ และมองว่าลำไผ่เป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพราะใช้งานได้ไม่รู้จบ

“การปลูกไผ่ของลุง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพ่อตา โดยท่านได้ปลูกไผ่ไว้เพื่อใช้สอย จากการสังเกตของลุงในครั้งนั้น ทำให้เห็นว่าไผ่มีลำที่ตรง มีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก และเป็นไผ่ทางถิ่นอีสาน ลุงก็เลยไปหาแหล่งพันธุ์ที่จังหวัดปราจีนบุรีมาปลูก เพราะทางอีสานยังไม่มีพันธุ์ที่สามารถขยายเป็นการค้าได้ พอเริ่มคิดในเรื่องของมูลค่า และเน้นไปที่ไผ่ใช้ลำ จึงได้ข้อสรุปว่าไผ่ที่เหมาะกับการใช้ลำและเป็นที่ต้องการของตลาด มีไผ่เลี้ยง ไผ่ซางหม่น และไผ่ตง ซึ่ง 3 ชนิดนี้ เหมาะสมที่จะนำมาใช้เพื่อการค้า” ลุงโชค บอก

จากประสบการณ์ของวันเวลาที่ผันเปลี่ยนไป เมื่อได้ปลูกและสัมผัสไผ่อย่างใกล้ชิด ลุงโชค บอกว่า ไผ่เป็นมากกว่าพืชเศรษฐกิจ เพราะให้ในเรื่องของความยั่งยืนเมื่อเทียบกับการปลูกต้นไม้ชนิดอื่นๆ ที่ปลูกแล้วเมื่อตัดไปใช้ประโยชน์ก็หมดไป แต่ไผ่ปลูกครั้งเดียวไม่ต้องมีการเริ่มต้นใหม่ การใส่ปุ๋ยและยาจึงไม่เหมือนพืชอื่นๆ ต้นทุนเคมีภัณฑ์เหล่านี้จึงไม่มี

ไผ่ดูแลไม่ยาก

จัดการมีระบบ ผลผลิตมีต่อเนื่อง

การจะปลูกไผ่ให้ได้คุณภาพและผลผลิตดี ลุงโชค บอกว่า จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดต้องเริ่มที่การจัดการสวนไผ่ ซึ่งก่อนที่จะทำสวนไผ่ให้มีระบบระเบียบได้นั้น สิ่งที่ผู้ปลูกไผ่ต้องมีก็คือในเรื่องความเข้าใจในสายพันธุ์ไผ่ ว่าไผ่แต่ละชนิดมีความต้องการหรือการดูแลในขั้นตอนเป็นพิเศษ ซึ่งลุงโชคได้ค้นพบว่าไผ่เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตออกทางด้านข้างไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเมื่อไผ่ออกหน่อมา ผู้ปลูกอย่าด่วนใจร้อนที่จะตัดหน่ออ่อนเหล่านั้นมากิน แต่ควรปล่อยให้หน่อขึ้นไปตามธรรมชาติเสียก่อน ซึ่งหลังปลูกได้อายุประมาณ 2 ปี ไผ่จะให้ผลผลิตที่พร้อมให้ใช้ประโยชน์ได้

การตัดลำไผ่ออกไปใช้ประโยชน์ จะต้องตัดลำแก่ที่อยู่ตรงกลางออกไปเสียก่อน เมื่อเข้าใจว่าลำแก่อยู่บริเวณไหนของกอ ก็จะทำให้สามารถจัดระบบของกอได้ง่ายขึ้น ซึ่งการปลูกไผ่ในสมัยนี้ลุงโชคอธิบายว่า แตกต่างกว่าการปลูกในอดีตมาก เพราะในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องของการออกหน่อว่าเป็นอย่างไร ยิ่งตัดลำที่ง่ายไปใช้และจัดการอย่างไม่เป็นระบบจะทำให้กอไผ่ไม่มีระเบียบ

“พอเราทำกอไผ่ให้มันสวย และง่ายต่อการตัด ง่ายต่อการคัดเลือก ทำให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะไผ่ลำแก่ที่สามารถแยกไปใช้ประโยชน์ได้อย่างชัดเจน เพราะไผ่ในปัจจุบันถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างรีสอร์ต ร้านกาแฟ ไม้ไผ่ที่ปลูกเหล่านี้ จึงต้องเป็นไม้ที่มีคุณภาพ ที่แก่พอดี พอไปจัดการในกรรมวิธีต่างๆ ก็จะช่วยให้ได้ไม้ไผ่ที่มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นการยกระดับสินค้าจากไผ่ได้อีกด้วย” ลุงโชค บอก

นอกจากการนำไม้ไผ่ไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของสิ่งปลูกสร้างแล้ว ลุงโชค ยังเล่าอีกว่า สวนไผ่ถือเป็นป่าร่มเงาที่สามารถเป็นสถานที่พักผ่อน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอำเภอวังน้ำเขียวถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ จึงทำให้สวนไผ่ของลุงโชคต้อนรับนักท่องเที่ยวในฤดูกาลนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากปลูกไผ่สร้างรายได้หลักแล้ว การทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยังสามารถทำให้เกิดเป็นรายได้เสริมตามมา

สำหรับการดูแลบำรุงต้นไผ่ภายในสวน ลุงโชคเล่า ให้ฟังว่า ในอดีตนั้นการดูแลไม่มีอะไรซับซ้อน จะเน้นปล่อยให้อยู่เองโตเองตามธรรมชาติ แต่เมื่อทำเป็นการค้ามากขึ้น การยกระดับไผ่ให้มีคุณภาพนับว่ามีความสำคัญ ต้องบำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยคอก พร้อมกับเพิ่มระบบน้ำเข้าไปในการดูแล เพราะว่าไผ่เวลาที่ออกหน่อ หากพึ่งพาฝนตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เมื่อมีหน่อใหม่เกิดขึ้นมาแล้วเกิดฝนทิ้งช่วง จะมีผลเสียต่อหน่อคือทำให้หน่อฝ่อ ส่งผลทำให้ในปีนั้นทางสวนอาจจะไม่มีลำไผ่ใหม่มาทดแทน

“ระยะหลังมาสำหรับการปลูกไผ่เพื่อใช้ลำ ลุงจำเป็นจะต้องให้ระบบน้ำเข้ามาช่วยในช่วงที่เกิดหน่อใหม่ๆ พอหลังจากที่หน่อโตดีแล้ว จะหยุดให้น้ำและปล่อยให้โตเองตามธรรมชาติ เพราะถ้าไปให้น้ำมาในช่วงฤดูหนาว จะทำให้เนื้อในของไม้ไม่แก่ลง ลุงจะให้น้ำช่วยในช่วงออกหน่อเท่านั้น แต่ถ้าปลูกไผ่เพื่อบริโภคหน่อสด หรือเป็นแปลงไผ่เพื่อขยายพันธุ์ ระบบน้ำมีความสำคัญต้องมีระบบน้ำอยู่ตลอด ส่วนการใส่ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยคอก ส่วนยาต่างๆ แทบจะไม่ได้ใช้ เพราะโรคและแมลงศัตรูพืชสำหรับไผ่ถือว่าค่อนข้างน้อย” ลุงโชค บอก

ปลูกเอง ใช้เอง

จนไผ่ที่ปลูก ขายตัวไผ่เอง

เมื่อไผ่ที่ปลูกออกผลผลิตมามากขึ้นจนสุดสายตาภายในสวน คุณโชค เล่าให้ฟังด้วยหลักคิดที่น่าสนใจว่า สิ่งแรกที่ทำให้คนอื่นๆ เห็น นั้นก็คือการนำไผ่ที่ปลูกมาใช้เองก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศาลาที่พักจากไผ่ เป็นการสร้างที่ได้มาตรฐานไว้รับแขกที่เข้ามาภายในสวนเพื่อหาความรู้ เมื่อได้มาเห็นสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ลุงโชคทำจากไผ่ หรือสิ่งใช้สอยประโยชน์ที่ล้วนแล้วแต่ได้จากไม้ไผ่ทั้งสิ้น จึงทำให้การทำตลาดตามมา

เพราะไผ่ที่ลุงโชคปลูกด้วยความรักและใส่ใจทุกลมหายใจนี้เอง จึงทำให้คุณภาพไม้ไผ่ที่สวนแห่งนี้มีความคงทน และที่สำคัญไผ่ทุกลำของลุงโชคจะไม่มีมอดเข้ามากัดกิน ไผ่ที่นี่มีคุณภาพไม่ผุพังง่าย แต่สามารถนำไปออกแบบหรือดีไซน์ให้เป็นบ้าน อาคารที่มีทรงแปลกสวยงามออกไป จากสิ่งเหล่านี้เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ลุงโชคมีช่องทางการทำตลาดมากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะขายไผ่ได้ คนปลูกไผ่ต้องใช้เองก่อนและต้องใช้ได้อย่างดี เรื่องของการติดต่อซื้อขายมีเข้ามาอย่างแน่นอน

“ลำไม้ไผ่ที่สวนขาย ราคาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเส้นผ่านศูนย์กลาง แต่ความยาวของไผ่เท่ากัน ความยาวประมาณ 6.50 เมตร ราคาจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ ถ้าเป็นไผ่เลี้ยง ไผ่ซางหม่น ไผ่ตง ราคาจะต่างกัน อย่างไผ่เลี้ยงราคาจะอยู่ที่ 150 บาท ไผ่ซางหม่นราคาสูงสุดอยู่ที่ 350 บาท และไผ่ตงราคาอยู่ที่ 800-1,000 บาท ราคาที่บอกมานี้ในความยาวที่ 6 เมตร” ลุงโชค บอก

สำหรับการปลูกไผ่เพื่อเป็นการสร้างรายได้นั้น ลุงโชค แนะว่า ไผ่ถ้ามองเป็นพืชเศรษฐกิจยังถือว่าทำตลาดได้อีกนาน เพียงแต่ผู้ปลูกอย่ายึดติด หรือปลูกเพื่อทำตามกระแสเท่านั้น แต่ต้องมีการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมและงานวิจัยเข้ามารองรับ เพื่อยกระดับไผ่ให้ต่อยอดไปทำประโยชน์ได้หลากหลาย ตั้งแต่การทำเป็นสิ่งเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของปัจจัย 4 ก็จะช่วยให้การปลูกไผ่เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีรายได้อย่างยั่งยืน

“คนจะปลูกไผ่ ควรจะเรียนรู้เรื่องไผ่ก่อน ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องไผ่ และพอทำแล้วอาจจะทำไปตามกระแส พอล้มเหลวก็ไปโทษไผ่ แต่ไม่เคยโทษตัวเอง ว่าเราไม่ได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เกิดความยั่งยืน เราจะต้องใช้วิถีไผ่ที่สามารถสอนในเรื่องของปรัชญาดำรงชีพได้ดี ปลูกไผ่ ใช้ไผ่ รักไผ่ มองไผ่ในเชิงของคุณค่ามากกว่ามูลค่า แล้วจะเกิดความยั่งยืน” ลุงโชค แนะหลักคิดทิ้งท้าย

หากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือสนใจสินค้าลำไม้ไผ่จากสวนลุงโชค สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณโชคดี ปรโลกานนท์ หรือ ลุงโชค สวนตั้งอยู่ที่ ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา หมายเลขโทรศัพท์ 065-782-5659