เผยแพร่ |
---|
วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้าน จะมาแนะนำ “10 พืชทนแล้ง ใช้น้ำน้อย” ภาวะที่ปริมาณน้ำไม่มีเพียงพอต่อการเพาะปลูก ส่วนใหญ่มักจะเป็นพืชไร่ พืชที่มีอายุช่วงเก็บเกี่ยวสั้น ใช้เวลาไม่นานก็ให้ผลผลิต เป็นพืชที่ทนต่อความร้อนได้ดี และเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ อีกทั้งไม่ต้องดูแลมาก ก็สามารถเติบโตได้เองในทุกสภาพดิน
“น้ำ” เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเกษตร เมื่อการใช้น้ำปริมาณที่จำกัด ทางออกสำหรับเกษตรกรคือ ปลูกพืชน้ำน้อย แทนการทำนาหรือพืชไร่ที่ต้องใช้น้ำมาก พืชทนแล้งมีหลายชนิด ทั้งพืชสวนและพืชไร่ บางชนิดทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี มาดูกันว่าพืชทนแล้งชนิดไหน ที่จะทำให้ได้ผลผลิตดี และไม่ต้องดูแลมากนัก
🥬คะน้า
คะน้า จัดเป็นพืชใบเขียวที่ใบมีสีเขียวจัด และเป็นผักที่กินได้ทั้งใบไปจนถึงก้าน โดยผักคะน้าจะมีอายุ 2 ปี แต่ปลูกเป็นผักฤดูเดียว ผักคะน้าเป็นผักสวนครัวที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่ปลูกได้ผลดี ที่สุดอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเมษายน
อายุการเก็บเกี่ยวของคะน้าอยู่ที่ประมาณ 45-55 วันหลังปลูก คะน้าที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือ คะน้าที่มีอายุ 45 วัน แต่คะน้าที่มีอายุ 50-55 วัน เป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้น้ำหนักมากกว่า
คะน้าต้องการปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง อาจใส่ปุ๋ยสูตร 12-8-8 หรือ 20-11-11 ในอัตราประมาณ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณปุ๋ยคอกที่ใช้โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ หลังจากถอนแยกครั้งแรกและหลังจากถอนแยกครั้งที่ 2
ปริมาณการใช้น้ำ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 10 บาทต่อกิโลกรัม
🍄เห็ดฟาง
เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่ไม่ต้องคอยรดน้ำใส่ปุ๋ย ไม่ต้องดูแลก็โตได้ไวมากๆ ดังนั้น หากเพาะเห็ดฟางใช้เวลา 10 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว โดย 3-4 วันแรก เป็นช่วงบ่มใย ส่วน 5-6 วันหลัง เป็นการบ่มดอกเห็ดให้เติบโต
เพาะเห็ดฟางให้โตไว เพาะเห็ดฟางในตะกร้า เนื่องจากต้นทุนต่ำ ใช้พื้นที่น้อย อีกทั้งเคลื่อนย้ายง่าย สะดวก เหมาะสำหรับปลูกในครัวเรือน โดยสิ่งที่ต้องรู้คือ เวลาปลูกในตะกร้า ควรนำตะกร้าใส่ถุงพลาสติก แล้วผูกปิดให้มิดชิด เพื่อกันอากาศเข้าในช่วง 3-4 วันแรก เส้นใยเห็ดจะได้เดินหาอาหารในตะกร้าได้อย่างเต็มที่ ควรหาก้านไม้ไผ่มาทำเป็นโครงในตะกร้าด้วย เพื่อไม่ให้พลาสติกติดกับหน้าดินที่จะเกิดเห็ดฟางขึ้นมา
พอครบเวลา 3-4 วัน ให้นำตะกร้าเพาะเห็ดฟางออกมา เพื่อรดน้ำตัดใย แล้วนำใส่ถุงพลาสติกอีกรอบ ทิ้งไว้ 7 วัน โดยรอบนี้ ให้คอยเปิดถุง รับลมเข้าตะกร้า ทุกเช้า-เย็น เป็นเวลา 10-15 นาทีด้วย เพื่อให้เส้นใยจับดอก เพียงเท่านี้ ก็จะได้เห็ดฟางดอกโตๆ ไว้กินที่บ้าน หรือนำไปขายสร้างรายได้เสริมได้แล้ว
ปริมาณการใช้น้ำ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 50 บาทต่อกิโลกรัม
🥬กวางตุ้ง
เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกได้ดีในดินทุกชนิดที่มีความชื้นสูง และเติบโตได้ดีหากให้น้ำที่ไม่เพียงพอ คัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ตรงตามความต้องการของตลาด พันธุ์ดอก เป็นพันธุ์ที่ออกดอกเร็ว อายุเก็บเกี่ยว 30-40 วัน พันธุ์ใบ มีหลายพันธุ์ ลักษณะแตกต่างกัน มีทั้งพันธุ์ก้านใบแบน เช่น ผักกาดฮ่องเต้ พันธุ์ก้านใบมน และพันธุ์ก้านใบกลม ได้แก่ พันธุ์ผักกาด กวางตุ้งที่จำหน่ายตามร้านค้าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป มีอายุเก็บเกี่ยว 40-50 วัน
ก่อนปลูกหว่านปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ หลังถอนแยก หว่านปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมกับปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่
ปริมาณการใช้น้ำ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 10 บาทต่อกิโลกรัม
🌱ถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาว ลำต้นเป็นไม้เลื้อย ต้องการสิ่งค้ำจุน สามารถม้วนพันสิ่งยึดเกาะได้ เถามีสีเขียวอ่อน เนื้อแข็งและค่อนข้างเหนียว ใบเรียวยาวขอบเรียบ คล้ายรูปหอก 1 กิ่ง มีใบอยู่รวมกัน 3 ใบ ส่วนดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ มีสีขาวอมม่วง ส่วนฝักมีลักษณะกลมมน สีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม ยาวประมาณ 20-80 เซนติเมตร
ระยะเวลาปลูกถั่วฝักยาว ตั้งแต่เริ่มต้นเพาะเมล็ด จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เฉลี่ยใช้เวลา 40-45 วัน ทั้งนี้ช้าเร็วขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของแต่ละคน แนะนำให้ปลูกสายพันธุ์ถั่วเนื้อจะดีที่สุด เพราะฝักอวบ เนื้อเยอะ โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ ถั่วฝักยาวพันธุ์พิจิตร 2 พันธุ์พิจิตร 3 ลายเสือจักรพันธ์ เบอร์ 1 พันธุ์หยกขาว พันธุ์น่าน 1 เป็นต้น
ช่วงที่ให้ผลผลิตดีที่สุดก็คือ ช่วงฤดูฝน หากต้องการปลูกแนะนำให้ปลูกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนพฤศจิกายนจะดีที่สุด ต้นถั่วฝักยาวชอบดินที่ระบายน้ำและอากาศได้ดี ดินที่มีความร่วนซุย ก่อนปลูก ให้นำดินร่วนมาผสมกับปุ๋ยคอก กาบมะพร้าวสับ แกลบดิบ แล้วหมักทิ้งไว้ นอกจากจะทำให้ดินโปร่งดีแล้ว ยังเพิ่มธาตุอาหาร ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
ปริมาณการใช้น้ำ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 23 บาทต่อกิโลกรัม
🍀มะระจีน
มะระ เป็นพืชเถา มีเถาช่วยพยุงเลื้อยโดยใช้เถายึดลำต้นให้ติดค้าง สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล และปลูกขึ้นได้ดีกับดินแทบทุกประเภท ในดินควรมีความชื้นสูงสม่ำเสมอ และควรได้รับแสงแดดเต็มที่
ในการปลูกมะระ ฤดูหนึ่งจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3 เดือน และเริ่มเก็บผลผลิตหลังปลูก ประมาณ 45-50 วัน เมื่อเก็บจนหมดฤดูจะเก็บได้ประมาณ 15-20 ครั้ง เกษตรกรนิยมปลูกมะระและพืชผักตามช่วงฤดูกาลเพราะง่ายกับการดูแลรักษานั่นเอง
การเตรียมดินให้ร่วนซุยที่สุด การเตรียมดินก็ต้องไถและพรวนดินให้ลึกประมาณ 10-12 นิ้ว เก็บหญ้าออกให้หมด แล้วตากทิ้งไว้สัก 7-10 วัน ในขณะพรวนดินควรใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ วัว ควาย เมื่อปลูกแล้วให้หลุมห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะแถวห่างกันประมาณ 1 เมตร
ปริมาณการใช้น้ำ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 15 บาทต่อกิโลกรัม
🥒แตงกวา
แตงกวา ควรปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 25 เซนติเมตร โดยก่อนหยอดเมล็ดลงหลุมปลูก จะทำการคลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันเชื้อราและโรคพืช หากเป็นช่วงอากาศร้อนคลุมด้วยผ้าพลาสติก ส่วนฤดูอื่นๆ จะใช้ฟางคลุม
ตัวจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงใส่ช่วงหลัง เพราะแตงกวาเจริญเติบโตจนสุดแล้วรากเขาเริ่มแตกหาอาหารไม่ได้แล้ว ตัวจุลินทรีย์จะไปช่วยย่อยธาตุอาหารในดินเพื่อให้แตงกวาดูดสารอาหารได้เลย อัตราส่วนปุ๋ยเคมีประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร ปุ๋ยหมักกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงใช้อัตราส่วนเหมือนกันคือ 200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 200 ลิตร
ปริมาณการใช้น้ำ 560 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 5 บาทต่อกิโลกรัม
🌽ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ในขณะที่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นับว่าเป็นพืชไร่ชนิดหนึ่ง ที่มีศักยภาพที่จะใช้ปลูกในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาประมาณ 2-3 เท่า ปัจจุบันนิยมปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก
ข้าวโพดพันธุ์นครสวรรค์ 1 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 ประมาณ 10% โดยเฉพาะเมื่อปลูกในช่วงปลายฤดูฝน (กรกฎาคม-สิงหาคม) จะให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 ประมาณ 21% พันธุ์ข้าวโพดนครสวรรค์ 1 มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 110-120 วัน อายุการออกไหมประมาณ 52-54 วัน
การใช้ปุ๋ย ควรใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอก, ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยพืชสด) ร่วมกัน ปุ๋ยเคมีในดินสีแดง ควรใช้ 20-20-0 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ดินสีดำควรใช้ปุ๋ยยูเรีย 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ หลังปลูกประมาณ 4 สัปดาห์
ปริมาณการใช้น้ำ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 8.93 บาทต่อกิโลกรัม
🌶 พริก
พริก เป็นพืชในเขตร้อนหรือกึ่งร้อนที่ทนความแห้งแล้งได้ดีพอควร และสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขังหรือชื้นแฉะ เพราะจะทำให้รากเน่าและตายได้
ปลูกได้ตลอดปี แต่ปลูกได้ผลดีที่สุดระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เก็บผลผลิตในฤดูแล้งทำให้สะดวกในการตากแห้ง และช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู 24-29 องศาเซลเซียล สำหรับการปลูกให้ได้ราคาสูงจะต้องปลูกในเดือนเมษายน-พฤษภาคม และสิงหาคม-กันยายนเป็นช่วงที่ปลูกพริกยากที่สุด
ตั้งแต่การเพาะเมล็ดจนถึงวันเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 95-100 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวต่อเนื่องได้อีก 1-3 ปี แตกต่างกันตามสายพันธุ์ ควรเลือกใช้พันธุ์พริกที่ตลาดมีความต้องการมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ปัจจุบันนิยมใช้พันธุ์ลูกผสมซุปเปอร์ฮอท
ปริมาณการใช้น้ำ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 15 บาทต่อกิโลกรัม
🍠มันเทศ
มันเทศ เป็นพืชหัวที่ปลูกง่าย ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินทรายริมแม่น้ำก็สามารถปลูกมันเทศได้ ดินที่เหมาะสมที่สุดเป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี มันเทศเป็นพืชที่ต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโตค่อนข้างน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวหรือพืชไร่บางชนิด
การปลูกมันเทศเพื่อให้ผลผลิตสูง หัวมีคุณภาพดี ควรมีการคัดเลือกท่อนพันธุ์เฉพาะส่วนยอดยาว 30 เซนติเมตร มาปลูกเท่านั้น การเตรียมยอดพันธุ์มันเทศ หลังจากตัดยอดมันเทศมาใหม่ๆ ไม่ควรจะนำยอดมันเทศเหล่านั้นไปปลูกลงแปลงทันที เพราะว่ายอดพันธุ์มันเทศที่ตัดมาใหม่นั้น ยังไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแปลงปลูกเนื่องจากยังไม่มีราก จะมีผลทำให้มันเทศชะงักการเจริญเติบโต และตั้งตัวลงหัวได้ช้า
อายุเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวมันเทศจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวมันเทศเมื่ออายุได้ 90-150 วัน หลังจากการปลูก
ปริมาณการใช้น้ำ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 11 บาทต่อกิโลกรัม
🫘ถั่วเขียวผิวมัน
ถั่วเขียว เป็นพืชทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ฤดูแล้งเหมาะสําหรับการปลูกในนาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ปลูกในเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวในเดือนมีนาคม การปลูกในฤดูแล้งนี้ไม่เหมาะสมสําหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีอากาศหนาวเย็น เนื่องจากถั่วเขียวเมื่อต้นเล็กไม่ทนทานต่ออากาศที่เย็นเกินไป
ถั่วเขียวจัดอยู่ในกลุ่มพืชที่ผลิตไว้ใช้ในประเทศ ถั่วเขียวเป็นพืชที่มีโปรตีนสูง นิยมใช้ทั้งการบริโภคและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลายรูปแบบ ได้แก่ ถั่วงอก วุ้นเส้น ขนมหวาน แป้งถั่วเขียว สบู่ และครีมทาผิว เป็นต้น รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรในการปรับปรุงบำรุงดิน เนื่องจากถั่วเขียวเป็นพืชอายุสั้น มีประสิทธิภาพการตรึงไนโตรเจนในอากาศ 10-56 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และต้นถั่วเขียวยังสามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้ดี โดยทั่วไปจะให้ปริมาณไนโตรเจนสูงถึง 5-6 กิโลกรัมต่อไร่
ปริมาณการใช้น้ำ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ขาย 23 บาทต่อกิโลกรัม
#พืชใช้น้ำน้อย #ทนแล้ง #ปลูกผัก #เทคโนโลยีชาวบ้าน #Technologychaoban
✨ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมการเกษตร, allkaset.com, rakbankerd.com, sgethai.com