ผักคันทรง ก้านตรง ยอดหวาน ผักป่าสู่บ้าน เป็นอาหารและยา

นับย้อนไป 16 ปีแห่งความหลัง คงพอจำกันได้ว่า เกิดน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก พายุฝน ดินถล่มแลนด์สไลซ์ ในพื้นที่ภาคเหนือ ชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือน ไร่นาสวนเกษตร เสียหายเหลือที่จะประเมินมูลค่าเป็นเงินได้ ชาวบ้านผู้ประสบภัยต่างขัดสนปัจจัยการดำรงชีพต่างๆ แม้แต่อาหารการกิน พืชผลผักไม้ที่เคยเก็บกินก็หายไปไม่น้อย สิ่งที่ฟื้นกลับมาให้เป็นประโยชน์เห็นจะมีก็แต่พืชผักพื้นบ้านที่ยังอยู่รอดบ้าง เจริญเติบโตขึ้นมาใหม่บ้าง นั่นแหละคือคุณสมบัติที่โดดเด่นของ “ผักพื้นบ้าน” และส่งต่อคุณค่าทางอาหาร รวมทั้งเป็นยาให้ชาวชน

“ผักคันทรง” เป็นผักที่ชาวบ้านรู้จักกันดี ทนแล้ง ทนแดด ทนฝน ทนน้ำท่วม ไม่มีโรคแมลงรบกวน รสชาติหวาน กรอบ อร่อย ยอดอ่อนใบอ่อนมีเสน่ห์ชวนลิ้มชิมรส “ผักคันทรง” ชื่ออาจแปลกสำหรับใครบางคน แต่คนทุกภาครู้จัก เพียงแต่เรียกต่างกันไปบ้าง ซึ่งพอได้เห็นยอดที่อวบอิ่ม หรือได้เห็นต้นที่เป็นพุ่ม ก็จะถึงบางอ้อกันทันที ผักชนิดนี้ มีความคล้ายเหมือนกับผักพื้นบ้านหลายอย่าง กิ่งก้าน ผลและใบแก่คล้ายกับพุทรา ยอดใบอ่อนคล้ายผักหวานป่า ออกผลคล้ายผักหวานบ้าน โดยเฉพาะผลที่ติดใต้ใบ มีพูเล็กน้อย สีเขียว รูปทรงค่อนข้างกลม และมีขั้วผลคล้ายกับผักหวานบ้าน ทำให้บางพื้นที่เรียกว่า “ผักหวานต้น” ก็มี ซึ่งต้น “ผักคันทรง” เมื่อถูกเด็ดยอดหรือตัดกิ่งจะแตกยอดใหม่ที่อวบอ้วน สีเขียวอ่อน พุ่งยอดขึ้นตรงพ้นทรงพุ่ม ทดแทนยอดเดิมได้รวดเร็วมาก และยังเพิ่มจำนวนยอดมากขึ้นด้วย ยิ่งในฤดูฝนจะชูสะพรั่งยอดให้เก็บได้มากมายทีเดียว

ถึงแม้ว่าจะละม้ายคล้ายเหมือนผักหวานบ้าน ผักหวานป่า แต่นักพฤกษศาสตร์ จัดไว้คนละตระกูลกัน คือ “ผักคันทรง” จัดอยู่ในตระกูล หรือ วงศ์พุทรา RHAMNACEAE ให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cutubrina asiatica (L.) Brongn ชื่อที่เรียกในท้องถิ่นต่างๆ อีสานใต้เรียก “ก้านตรง” ภาคเหนือเรียก “ก้านถึง” “ก้านเถิง” “ผักก้านเถิง” “ผักคันถง” หรือ “ผักแก่นทรง” ภาคใต้เรียก “กะทรง” “ทรง” ภาคกลางเรียก “คันทรง” “คันซง” “คันซุง” หรือ “ผักหวานทะเล” ชาวกะเหรี่ยงเรียก “เพลโพเดาะ” ชาวลัวะเรียก “ผักหวานต้น” ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ผักก้านตง ผักก้านถึง ผักก้นถุง ก็เรียกกันนะ

“ผักคันทรง” มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แพร่ขยายไปทั่ว ถึงแอฟริกาตะวันออก เคนยา โมซัมบิก แถบอันดามัน พม่า อินเดีย ศรีลังกา เกาะมัลดีฟ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน กัมพูชา เวียดนาม ไทยเราพบทั่วทุกภาค พบมากในภาคเหนือของไทย “ผักคันทรง” เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง กึ่งไม้เลื้อย ลำต้นแข็งแรง  เปลือกต้นสีเขียวอมเทา มีริ้วรอยปริแตกตื้นถี่ มีตุ่มตาที่เกิดจากการสลัดทิ้งใบ แตกกิ่งตั้งตรง สูง 2-3 เมตร แต่บางต้นถ้าวัดตามความยาวของกิ่งเลื้อย ที่ไม่เคยถูกตัดฟัน จะพบได้ว่ายาวมากถึง 9 เมตรทีเดียว เป็นไม้ที่แตกกิ่งก้านดีมาก แตกตั้งแต่โคนต้นขึ้นมา กิ่งก้านมีขนาดเล็ก กลม มีสีเขียวเข้มมัน แพร่ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง จะพบขึ้นเองในป่าดงดิบ ป่าราบ ป่าละเมาะ ที่รกร้าง ข้างทาง และพบแถบชายทะเล ชายหาดหินปูน เดี๋ยวนี้มีนำมาปลูกเป็นรั้ว ปลูกสวนหลังบ้าน เป็นผักที่ได้มาจากป่าเขา สู่บ้านเราด้วยคุณค่า

ส่วนที่นำมาเป็นผัก คือใบอ่อน ยอดอ่อน ซึ่งใบของผักคันทรงเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบอ่อนคล้ายใบผักหวานป่า สีเขียวอ่อน ใบรูปรี ปลายเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักมน มีความอวบอิ่ม ก้านอ่อน กรอบ แต่ชูตั้งตรง โผล่พ้นทรงพุ่ม อวดโฉมสว่างกระจ่างตา ใบแก่ รูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ลักษณะใบแข็งกระด้าง คล้ายใบพุทรา หลังใบสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ สีผิวใบเขียวมันเงา เส้นใบเห็นชัด มี 3 เส้นแยกจากโคนใบ อีกหลายคู่ แยกจากเส้นกลางใบ มีขนที่เส้นใบ มีหูใบเล็กๆ ติดอยู่ “ดอกคันทรง” ออกดอกเป็นช่อกระจุกเล็กๆ ออกตามซอกกิ่ง สีเหลืองอ่อนปนเขียว มีกลิ่นหอม “ผลคันทรง” เป็นผลเดี่ยว รูปทรงกลม หรือกลมแป้น มี 3 พู ขั้วผลมีกลีบเลี้ยง เป็นแผ่นวงกลมสีเขียว ติดอยู่ทุกผล ออกเรียงห้อยตามกิ่งใต้ใบเป็นแถว ผลมีลักษณะกลมปลายเว้า มีสีเขียว ขนาด 0.8-0.9 เซนติเมตร คล้ายผลผักหวานบ้าน แต่สีเขียวเข้มเป็นมันมากกว่า เห็นร่องพูไม่ชัดเจนนัก เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แล้วเป็นสีน้ำตาล ข้างในผลมีเมล็ด 3 เมล็ด แบน สีน้ำตาลเทา หรือสีดำใช้เพาะขยายพันธุ์ได้

“ผักคันทรง” มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม ใบแก่คันทรงมีรสขม ใบอ่อนมีรสหวาน ใช้เป็นยาช่วยให้เจริญอาหาร รากคันทรง เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้ผสมกับรากผักย่านาง และรากผักหวานบ้าน เป็นยาหลักใช้รักษาไข้ แก้ไข้พิษออกตุ่ม ฝนกับน้ำมะพร้าวกินแก้โรคตานขโมย หัวโตพุงโลก้นปอดเด็ก หรือโรคพยาธิเด็ก กินแก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อาการบวม เปลือกต้น กับราก ใบ ต้มกินแก้บวมน้ำ แก้ต่อมน้ำเหลืองเสีย รักษาโรคกระเพาะ ต้มน้ำอาบ แก้อาการบวมจากโรคไต และหัวใจพิการ แก้โรคเหน็บชา น้ำมันสกัดจากเมล็ดคันทรง เป็นยาแก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้อาการชา แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ใช้รักษาโรคกระดูกข้อเสื่อม หรือโรครูมาติกได้ ข้อควรระวัง ใบและผลคันทรง มี “สารซาโปมิน” ทำให้ง่วงนอน กินมากเป็นอันตราย โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ มีโอกาสแท้งลูกได้

ชาวบ้านทำอาหารพื้นบ้านได้ลิ้มลองรส “ผักคันทรง” เขานำมาเป็นอาหาร ประกอบอาหารได้มากมายหลายอย่าง ใบอ่อนยอดอ่อนผักคันทรงลวก ต้ม นึ่ง จิ้มน้ำพริกสารพัด น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกกะปิ น้ำพริกน้ำปลา น้ำพริกน้ำปู น้ำพริกอ่อง น้ำพริกขี้กา เอามาแกงเลียง แกงแค แกงส้ม แกงกะทิ แกงใส่ปลาย่าง แกงใส่กุ้งสด ใส่แกงขนุน ต้มจืดหมูสับ ต้มจืดเต้าหู้ไข่ ยำผักคันทรง รองห่อหมกปลา ผัดไฟแดง ผัดใส่ไข่ ผัดน้ำมันหอย ผัดน้ำปลา ชุบแป้งทอดกรอบ ไข่เจียวคันทรง ของอร่อยๆ มากหลายเมนู ต้องยกความอร่อยให้ผักคันทรงเขาละนะ

“ผักคันทรง” ก้านตรงยอดหวาน ผักป่าสู่บ้าน เป็นอาหารและยา ถึงแม้จะเป็นแค่ผักพื้นบ้าน เก็บขาย เก็บแบ่งปันกันกินตามประสาชาวบ้าน หาไม่ได้ตามตลาดใหญ่ ไม่มีวางขายบนห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อถึงเวลาที่มีคนนิยมกันมากขึ้น เชื่อว่าโอกาสการขึ้นชั้น ยกระดับ อัพเกรด “ผักคันทรง” ย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน นอกจากจะมาจากค่าความนิยมชมชอบของชาวเราแล้ว สถานการณ์ความต้องการอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง และที่สำคัญในยามวิกฤต ประสบภัยธรรมชาติ ภาพของผักพื้นบ้านต่างๆ จะลอยวนเวียนอยู่ในห้วงความคิด ณ เวลานั้น คิดถึง ต้องการ อยากพบเจอ เมื่อในสภาวะปกติ ยามสุขสงบ ใยเรามิสรรหามาจัดปลูกเพาะพันธุ์กันไว้เล่า