ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
กล้วยหอมทอง นับเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เพราะนอกจากบริโภคภายในประเทศแล้วยังมีการสร้างมาตรฐานส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งกล้วยหอมทองสามารถปลูกได้หลายภูมิภาคของประเทศ จึงช่วยให้เกษตรกรเกิดรายได้จากการจำหน่ายกล้วยหอมทอง เพราะมีการปลูกที่ได้มาตรฐานเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาด
หลังจากตัดเครือกล้วยหอมทองจำหน่ายแล้ว สิ่งที่หลงเหลือจากผลกล้วยที่เหลือภายในสวนอย่างต้นกล้วยและเครือกล้วย ปัจจุบันไม่ได้ปล่อยให้เป็นของเหลือทิ้งหรือปล่อยไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่สามารถนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าสร้างเป็นสินค้าหรือนวัตกรรม คือนำผลผลิตที่เหลือทิ้งอย่างเครือกล้วยและต้นกล้วยมาผลิตเป็นกระดาษที่ใช้ติดฝาผนัง และสามารถนำไปขึ้นรูปเป็นภาชนะใส่อาหารรักษ์โลก ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้วัสดุจากธรรมชาติมากขึ้น
ดร.ภานุ พัฒนปณิธิพงศ์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า สินค้าอย่างกล้วยหอมทองถือว่าเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถ้าหากผลผลิตจำหน่ายออกจากสวนได้หมดจึงถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากในรอบปีระหว่างปลูกและดูแลกล้วยหอมอยู่ แต่ถ้ามีปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมอากาศเข้าในประเทศ จนทำให้การผลิตกล้วยหอมเกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อการผลิต จะส่งผลให้ผลผลิตไม่สวย ตกเกรด และไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ จึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายผลผลิตได้หรือถ้าได้ราคาก็ไม่ดีนัก
จึงอาจทำให้เกิดผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงจนถึงปลายน้ำ เกษตรกรต้นน้ำอาจไม่มีรายได้หรือหากจำหน่ายผลกล้วยได้ก็มีราคาที่ถูก จึงได้มีการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพสินค้าเกษตรกรและชุมชน นำของเหลือจากกล้วยมาผลิตเป็นกระดาษจากเครือกล้วยและต้นกล้วยที่สามารถเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกหนึ่งช่องทาง
ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา จึงได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้แนวคิด BCG Model นำองค์ความรู้ด้านการแปรรูปของเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตนำสู่วิธีการแปรรูปเป็นกระดาษกล้วยหอมทอง
ซึ่งต้นกล้วยสด 1,000 กิโลกรัม สามารถแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษได้ 500 กิโลกรัม ผลิตกระดาษได้ จำนวน 2,000-3,000 แผ่น ราคาแผ่นละ 40-60 บาท สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและกลุ่ม 80,000-150,000 บาทต่อไร่
“ของเหลือทิ้งจากลำต้น ก้าน โคนใบ นำมาแปรรูปเป็นกระดาษด้วยวิธีการภูมิปัญญาชาวบ้าน แบบทำมือ หรือกึ่งอุตสาหกรรม จากนั้นนำมาต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งกระดาษที่ใช้วัตถุดิบส่วนผสมที่นำมาคิดค้นและพัฒนาขึ้นสามารถใช้กับอาหารได้ มีคุณสมบัติปลอดภัย เนื่องด้วยการปลูกกล้วยของกลุ่มเป็นแบบออร์แกนิกอยู่แล้ว การผลิตจะไม่ใช้กลุ่มเคมีที่มีสารตกค้าง เป็น Food grade ที่มีความปลอดภัยมาก โดยแนวคิดนี้ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองในจังหวัดอุดรธานีต่อไป” ดร.ภานุ กล่าว
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี เป็นผู้นำเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมีศักยภาพด้านการผลิตและจำหน่ายกล้วยหอมทอง โดยมีพื้นที่ปลูก รวมกว่า 60 ไร่ 25,000 ต้น ผลผลิต 300-500 ตัน ส่วนเหลือทิ้ง 4,000-6,000 ตันต่อไร่ ช่องทางการจำหน่ายหลักคือ ตลาดในประเทศและต่างประเทศ
จึงมีวัตถุดิบหรือของเหลือจากการผลิตกล้วยมาทำเป็นกระดาษได้อย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่มมีภูมิปัญญาของชุมชนมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า โดยมีความต้องการหาวิธีการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่ากล้วยตกเกรด และของเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวหรือแปรรูป มาต่อยอดองค์ความรู้ที่จะมาช่วยเสริมศักยภาพของชุมชนให้สามารถเกิดมูลค่าและคุณค่ากับผลผลิตตกเกรดได้เป็นอย่างดี
หากสนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำของเหลือจากกล้วยมาทำการแปรรูปเพิ่มมูลค่า สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 084-952-2789