Soft Power เกลือทะเลของไทย

กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทย จำกัด สหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี ผู้แทนเกษตรกรชาวนาเกลือทะเล และเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสำรวจและคัดเลือกพื้นที่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวงานอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล ในพิธีแรกนาเกลือ และประเพณีทำขวัญเกลือทะเล ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2567

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการสำรวจและคัดเลือกแปลงนาเกลือทะเลเพื่อจัดงานอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล “ประเพณีทำขวัญเกลือ” โดยในปี 2567 นี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดงานในรูปแบบวัฒนธรรมผสมผสานการท่องเที่ยวเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้อาชีพทำนาเกลือทะเลซึ่งเป็นอาชีพที่เป็นอัตลักษณ์ของคนไทยให้เป็นที่รู้จักและไม่สูญหายไป และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล รวมทั้งเป็นการส่งเสริม Soft power ตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ซึ่งประเพณีที่สำคัญของการทำนาเกลือทะเล ประกอบด้วย 2 ประเพณีสำคัญ คือ พิธีแรกนาเกลือ คือการประกอบพิธีกรรมการเริ่มทำนาเกลือในฤดูกาลใหม่ เพื่อสร้างความสิริมงคลตามความเชื่อของชาวนาเกลือว่าจะทำให้ได้ผลผลิตเกลือจำนวนมากในฤดูกาลนั้น ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ พิธีไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยของมงคล การปล่อยน้ำเค็มเข้านาครั้งแรก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือหลังออกพรรษาของทุกปี และอีกหนึ่งประเพณี คือ ประเพณีการทำขวัญเกลือ โดยจะจัดขึ้นเมื่อได้ผลผลิตเกลือเป็นครั้งแรกในฤดูกาลทำนาเกลือ ซึ่งชาวนาเกลือจะหาบเกลือเข้าเก็บในยุ้งเกลือเพื่อรอจำหน่าย โดยบูชาเทวดาและเจ้าที่รวมไว้ 3 ที่ ได้แก่ ศาลเจ้าที่ ยุ้งเก็บเกลือ และศาลพระภูมิ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณพระแม่ธรณี เทวดา เจ้าที่เจ้าทางทั้งหลาย และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำนาเกลือรอบต่อไปให้ได้ผลดี

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ประเพณีสำคัญของการทำนาเกลือทะเล นิยมจัดในวันพฤหัสบดีหรือวันธงชัย เนื่องจากเป็นวันสิริมงคล ส่งเสริมให้เกิดประโยชน์และสิ่งที่ดีตามความเชื่อแต่โบราณสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน