รมว.คลังแตะเบรก ททท. ลดภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวรอบใหม่

กระทรวงการคลังแตะเบรก ททท.เสนอมาตรการกระตุ้น ท่องเที่ยวรอบใหม่ แบ่งเป็นโซนจังหวัด ต้องดูงบประเทศด้วย ย้ำคุ้มค่าหรือไม่ อยากเน้นท้องถิ่นหรือชุมชนที่คนเข้าไปไม่ถึง “อภิศักดิ์” ปลื้มยอดพร้อมเพย์เฉียด 32 ล้านบัญชี ภาครัฐจ่าย-รับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดปีหน้า

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยกรณีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมหารือเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวรอบใหม่ ว่า กระทรวงการคลังยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ มองว่าทุกฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะคิดมาตรการได้ อยากคิดอะไรก็คิดได้ทั้งหมด สุดท้ายก็ต้องมาดูงบประมาณของประเทศเป็นอย่างไร ถ้านำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบต่างๆ ต้องดูว่างบประมาณที่นำมาใช้นั้น คุ้มค่าหรือไม่ ถ้าคุ้มก็ถือว่าผ่าน แต่ถ้าไม่คุ้มก็คงไม่ผ่าน
“เรื่องนี้เขาคิดเอง รายละเอียดเป็นอย่างไรกระทรวงการคลังยังไม่รู้ ให้เขาเข้ามาคุยก่อน ตรงนี้ทุกอย่างคิดได้ สุดท้ายต้องมาดูงบของประเทศ ถ้าเอาไปใช้แบบนี้จะคุ้มไหม ถ้าคุ้มค่าก็โอเค ถ้าไม่คุ้มค่า ก็ไม่โอเค” นายอภิศักดิ์ กล่าว

ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมท่องเที่ยวปกติอยู่แล้ว เช่น หักลดหย่อนภาษีจากการกินอาหาร หรือเข้าพักโรงแรม เป็นต้น แต่เห็นว่ามีอีกส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวที่น่าส่งเสริม คือการท่องเที่ยวแบบท้องถิ่นหรือชุมชน ส่วนนี้คนยังเข้าไปไม่ถึง การส่งเสริมท่องเที่ยวท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นต้องมาดูอีกเช่นกันว่า งบที่จะใส่ลงไปจะเกิดประโยชน์กับท้องถิ่นหรือชุมชนมากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดประโยชน์สูงก็เหมาะสมที่จะสนับสนุน แต่คงไม่ส่งเสริมได้ทุกท้องถิ่นหรือชุมชน

ทั้งนี้ ททท.คิดมาตรการภาษี นำค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยว เช่น ที่พัก อาหาร ซื้อของที่ระลึกร้านค้าชุมชน ค่าบริการบริษัทนำเที่ยว นำมาลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในโครงการ “เที่ยวทั่วไทย ไปถึงถิ่น” คาดว่าจะเริ่มโครงการเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2560 มีการแบ่งโซนท่องเที่ยวเป็น 1. เมืองท่องเที่ยวหลัก 14 จังหวัด ลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท 2. 12 เมืองต้องห้ามพลาดลดหย่อนได้ 3 หมื่นบาท 3. โซนจังหวัดท่องเที่ยวรอง 51 จังหวัด ลดหย่อนได้ 5 หมื่นบาท

นายอภิศักดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนต์ กล่าวถึงการประชุมว่า เป็นตามแผนที่วางไว้ ด้านที่ 1 พร้อมเพย์มีมาลงทะเบียน 31.5 ล้านบัญชี ใช้เลขบัตรประชาชน 23.3 ล้านคน และใช้เบอร์โทรศัพท์ 8 ล้านคน ด้านที่ 2 ล่าสุด 30 มิถุนายนนี้ หน่วยงานติดตั้งเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) 1.05 แสนหน่วยงาน 1.8 แสนเครื่อง เร่งติดตั้งให้ได้ตามเป้า 5.6 แสนเครื่อง

ด้านที่ 3 การยื่นเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นตามแผน ด้านที่ 4 อีเพย์เมนต์ภาครัฐ เริ่มจ่ายและรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดใน ปีหน้า ส่วนที่สองแจกสวัสดิการภาครัฐใน 2-3 สัปดาห์ จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบ เริ่มแจก 1 ตุลาคมนี้ กับผู้มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน คุณสมบัติผ่าน 11 ล้านคน เพราะรายได้เกินแสนบาทต่อปี

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด