Solar Greenhouse นวัตกรรมติดแอร์ปลูกพืชด้วยแสงเทียม

ในปัจจุบันพืชผักในประเทศไทย ยังคงประสบปัญหาในเรื่องสารกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในพืชผักส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้น หากผู้บริโภคสามารถปลูกผักรับประทานเอง หรือมีระบบปลูกผักที่เป็นระบบปิดและสามารถควบคุมอุณหภูมิให้มีระดับที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ก็จะช่วยลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชลงได้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้ระบบการปลูกผักนี้สามารถป้องกันโรคและแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนเป็นสังคมเมืองมากขึ้น การหาพื้นที่ปลูกผักรับประทานเองเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซึ่งชุดปลูกผักติดแอร์ด้วยแสง LED ระบบอัตโนมัติจึงตอบโจทย์สำหรับปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวได้รับการคิดค้นและพัฒนาจาก คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ สถานีวิจัยและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ

แต่ด้วยนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นนั้นต้องใช้พลังงานในการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมและพลังงานสำหรับหลอด LED ที่ใช้ในการปลูกพืชในปริมาณที่มากพอสมควร การนำพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์มาปรับใช้ สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อเป็นแหล่งพลังงานของระบบปลูกดังกล่าว จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มเฉลี่ยของแสง 4.5-5. kWh/sqm/day (ww. 2552) ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์

โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.  เพื่อจัดสร้างชุดปลูกผักติดแอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์
2. เพื่อช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชในผัก
3. เพื่อทดสอบการเจริญเติบโตของผักที่ปลูกในชุดปลูกผักติดแอร์ด้วยพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์

คุณศรันย์ กำลังให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจนวัตกรรม

และจากข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการสร้างนวัตกรรม “Solar Greenhouse ติดแอร์สำหรับปลูกพืชด้วยแสงเทียม” ที่เป็นระบบปลูกพืชแบบปิด ควบคุมการทำงานได้ 2 ระบบ คือ ควบคุมแบบอัตโนมัติและระบบควบคุมแบบไร้สาย ทำให้การปลูกผักปลอดภัยสำหรับรับประทานจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากอีกต่อไป

ระบบติดตั้งของนวัตกรรม

นวัตกรรม Solar Greenhouse ติดแอร์สำหรับปลูกพืชด้วยเเสงเทียม ผลิตด้วยโครงสร้างเหล็กบุด้วยผนังด้วยฉนวนกันความร้อน หลังคามุงด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ โดยควบคุมการใช้งานกระแสไฟฟ้าด้วย อุปกรณ์ Grid tie inverter ที่ทำให้ระบบปลูกสามารถใช้พลังงานร่วมกับไฟฟ้าจากสายส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณศรันย์และนวัตกรรมที่คิดค้น

โดยระบบปลูกผักภายใต้ผนังกันความร้อน จะเป็นระบบปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบหมุนเวียนสารละลายธาตุอาหาร และใช้แสงเทียมจาก LED สำหรับการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ประหยัดน้ำและปุ๋ย โดยนวัตกรรม Solar Greenhouse ติดแอร์สำหรับปลูกพืชด้วยแสงเทียมนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปนี้

Advertisement
  1. ใช้สำหรับการปลูกพืชผักปลอดภัยรับประทานเอง
  2. สามารถประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชได้หลายชนิด
  3. สามารถปลูกพืชในที่ที่ไม่มีแสงสว่างได้ เช่น ในบ้าน ในอาคาร หรือในห้องพัก ฯลฯ
  4. เป็นต้นแบบสำหรับการผลิตผักในเชิงอุตสาหกรรม

Advertisement

ซึ่งนวัตกรรมชุดปลูกผักติดแอร์ด้วยแสงเทียม ใช้แหล่งพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับกระแสไฟฟ้าจากสายส่ง โดยติดตั้งระบบทำความเย็นไว้ภายในตู้โครงสร้างโลหะที่บรรจุชุดปลูกมีไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งระบบปลูกนี้จะใช้สารละลายธาตุอาหาร AB สูตร Kmitl เพื่อศึกษาข้อมูลองค์ประกอบผลผลิตและข้อมูลการเจริญเติบโตของผักคะน้า ที่ปลูกในชุดต้นแบบฯ ภายใต้แสง LED ที่มีระดับความเข้มแสง 60, 90, 120 และ 150 วัตต์ต่อตารางเมตร โดยใช้แผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCBD) จำนวน 4 ซ้ำ ภายใต้ชุดปลูกย่อยขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อ 1 ซ้ำ จากการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสถิติ พบค่า LAI, CGR, ความกว้างใบ, ความยาวใบ น้ำหนักแห้ง และน้ำหนักสด ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่าจำนวนใบมีค่าความแตกต่างกันทางสถิติ

ซึ่งจากข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ จึงอาจสรุปได้ว่า ความเข้มแสงที่ใช้อาจเหมาะสมกับการปลูกพืชผักที่ขายใบเป็นการค้า มากกว่าการใช้สำหรับการปลูกพืชผักเพื่อเก็บผลผลิตสด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การทดลองวิจัยนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการทดสอบความเข้มแสง ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีก เช่น ชนิดของวัสดุแหล่งกำเนิดแสง สีของแสง ขนาดของรางปลูก อุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม หรือสารละลายธาตุอาหาร เป็นต้น ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชทั้งสิ้น และจากผลประเมินค่า Economic Pathway พบว่า ระบบปลูกนี้สามารถไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ แต่ยังคงต้องศึกษา พัฒนาต่อยอด ในอีกหลายมิติในอนาคต

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับ Solar Greenhouse นวัตกรรมติดแอร์ปลูกพืชด้วยแสงเทียม สามารถติดต่อ คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ สถานีวิจัยและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบอร์โทรศัพท์ 064-065-4197