รถตัดหญ้าแพงโกล่า ขับเคลื่อน 3 ล้อ พร้อมระบบดูดเก็บหญ้า ไร้คนขับ

เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มต้องการอาหารหยาบคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโคเนื้อและโคนม ซึ่งการใช้พืชอาหารสัตว์หรืออาหารหยาบคุณภาพดี ผู้เลี้ยงโคนมหลายรายยอมรับว่า สามารถเพิ่มผลผลิตน้ำนมและลดต้นทุนค่าอาหารข้นได้มาก ซึ่งการผลิตพืชอาหารสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการของสัตว์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มพื้นที่การปลูกหญ้าหรือพืชอาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรที่ดินได้ถูกใช้เพิ่มมากขึ้นทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จะมีพื้นที่ถือครองสำหรับการใช้เลี้ยงสัตว์น้อยลง

นาหญ้าแพงโกล่า (ภาพ : กรมปศุสัตว์)

กลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี ประกอบด้วย นายรัตนพล สำราญ และคณะ รวมทั้งครูที่ปรึกษา ได้แก่ นายธนวิทย์ อุมา นายซลอ พลนิล ต่างเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดสร้างผลงานสิ่งประดิษฐ์คือ รถตัดหญ้าแพงโกล่า ขับเคลื่อน 3 ล้อ พร้อมระบบดูดหญ้า ไร้คนขับ ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลที่ช่วยอำนวยความสะดวก สามารถช่วยเหลือในการตัดหญ้าและดูดเก็บใบหญ้าแพงโกล่า ในขณะเดียวกัน ทำให้ลดใช้แรงงานในการกวาดเก็บหญ้า สามารถทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

รถตัดหญ้าแพงโกล่า ขับเคลื่อน 3 ล้อ พร้อมระบบดูดเก็บหญ้า 

คุณลักษณะของสิ่งประดิษฐ์

รถตัดหญ้าแพงโกล่า ขับเคลื่อน 3 ล้อ พร้อมระบบดูดเก็บหญ้า ไร้คนขับ มีโครงสร้างที่แข็งแรงและทำงานได้ตรงตามโจทย์ที่กำหนด สามารถตัดหญ้าและมีระบบดูดเก็บหญ้าแพงโกล่าใส่ในตะแกรงที่ติดตั้ง พร้อมขับเคลื่อนโดยใช้การรีโมตการเคลื่อนที่ระยะไกล โดยใช้คนควบคุมรีโมตในการบังคับการทำงานพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนโดยใช้การชาร์จจากพลังงานสะอาดคือแผงโซลาร์เซลล์ เป็นตัวชาร์จไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่

โชว์ระบบการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ 

ประโยชน์ของสิ่งประดิษฐ์

โดยทั่วไป การปลูกหญ้าแพงโกล่าหรือการสร้างนาหญ้า เกษตรกรสามารถปลูกได้ทั้งพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ดอน แต่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกนาหญ้าในพื้นที่ลุ่มเช่นเดียวกับการทำนาข้าว โดยจะปลูกหญ้าแพงโกล่า โดยใช้ท่อนพันธุ์อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากปลูกหญ้าแพงโกล่าไปแล้ว 8-10 วัน หญ้าแพงโกล่าจะเริ่มงอก สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ เมื่อหญ้าแพงโกล่าอายุ 60 วัน และเก็บเกี่ยวครั้งต่อไปได้ทุกๆ 40 วัน โดยตัดหญ้าสูงจากพื้นดิน 5-10 เซนติเมตร

ได้หญ้าแล้ว ขับรถกลับบ้านได้อย่างสบายใจ

เนื่องจากหญ้าแพงโกล่า เป็นหญ้าเสบียงอาหารสัตว์ในรูปหญ้าสด หญ้าแห้ง และหญ้าหมัก ที่ตลาดมีความต้องการสูง จึงเป็นสินค้าอาหารสัตว์ที่มีแหล่งตลาดรับซื้อที่แน่นอน เมื่อเกษตรกรมีรถตัดหญ้าแพงโกล่า ขับเคลื่อน 3 ล้อ พร้อมระบบดูดเก็บหญ้า ไร้คนขับ ไปใช้ในแปลงเพาะปลูก สามารถช่วยเก็บเกี่ยวได้สะดวกรวดเร็ว สามารถนำไปขายให้กลุ่มคนเลี้ยงโคนม โคเนื้อ และกระบือได้

Advertisement

ปัจจุบัน วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี ได้ส่งเสริม ชุมชนเกษตรกรบ้านผับแล้ง ตำบลสำโรง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีรายได้จากการปลูกหญ้าแพงโกล่าออกขายในรูปแบบหญ้าสดและหญ้าแห้ง ที่สามารถอัดก้อนสต๊อกไว้รองรับความต้องการของลูกค้าได้ตลอดทั้งปี นำมาซึ่งรายได้ที่ดี อาชีพที่มั่นคง ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้ในกระบวนการผลิตและจัดการหญ้าแพงโกล่าได้ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ

มูลสัตว์จากการเลี้ยงกระบือ 

ผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ ช่วยชุมชนประหยัดค่าใช้จ่าย

Advertisement

ผลการศึกษาของกรมปศุสัตว์พบว่า การเลี้ยงโคมีปริมาณของเสียจำนวนมาก เช่น มูลสัตว์ น้ำเสีย ซาก และขยะอื่นๆ โดยโคน้ำหนักตัว 500 กิโลกรัม มีปริมาณของเสียจากสิ่งขับถ่ายต่อตัวถึง 30-50 กิโลกรัมต่อวัน จึงแนะนำให้เกษตรกรจัดการของเสียในฟาร์มโคให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพหมุนเวียน นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบฟาร์มสีเขียว (Green Farming) ลดการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี เพื่อพัฒนาไปสู่ระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ (Zero Waste Agriculture) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน

ด้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงพัฒนานวัตกรรม “การผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน” ให้แก่เทศบาลตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ได้ใช้ต้นแบบนวัตกรรมดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชน/ครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางด้านพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้มในครัวเรือน และการใช้ประโยชน์จากกากตะกอนที่เหลือจากการหมัก รวมทั้งจะได้นำไปพิจารณาต่อยอดการใช้ประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป

นำมูลกระบือเทลงไปในถัง ให้เกิดกระบวนการหมักและผลิตแก๊ส

สำหรับนวัตกรรมการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน ประกอบด้วยตัวถังหมักสำหรับเติมมูลวัว มูลกระบือ ซึ่งภายในถังหมักจะมีใบกวนผสมมูลสัตว์อยู่ด้านในเพื่อให้มูลสัตว์ภายในถังหมักเกิดการผสมได้ดีและก่อให้เกิดแก๊ส โดยตัวแกนหมุนใบผสมนี้ทางทีมวิจัยได้นำแผงโซลาร์เซลล์มาช่วยเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าไฟของชุมชนด้วย

ทั้งนี้ แก๊สชีวภาพที่ได้จากถังหมักจะผ่านตัวกรองชีวภาพ โดยมีผงเหล็กออกไซด์เป็นตัวดูดซับแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ “แก๊สไข่เน่า” ทำให้แก๊สที่ผลิตไปให้ชุมชนใช้งานไม่มีกลิ่นเหม็นหลงเหลืออยู่ ก่อนเข้าถุงเก็บแก๊สที่มีการต่อท่อไปยังเตาในครัวเพื่อใช้ในการประกอบอาหารทดแทนแก๊สหุงต้ม

ใช้แก๊สชีวภาพจากมูลกระบือในการทำอาหาร

เมื่อชุมชนต้องการใช้งานก็มีวิธีง่ายๆ เพียงแค่นำมูลวัวหรือมูลกระบือเทลงไปในถังหมักแล้วรอประมาณ 1 คืน เพื่อให้เกิดกระบวนการหมักและผลิตแก๊ส เช้าวันถัดมาก็จะสามารถเปิดถุงแก๊สเพื่อให้แก๊สไหลไปกับท่อที่ฝังอยู่ใต้ดินเข้าไปในเตาไฟที่ครัวและใช้งานได้ทันทีเหมือนแก๊สหุงต้มทั่วไป ส่วนกากตะกอนที่ได้จากระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์จากถังหมักก็สามารถถ่ายออกจากถังหมักแล้วนำไปเป็นปุ๋ยรดน้ำต้นไม้ หรือนำไปทำให้แห้งก่อนจะอัดเป็นถ่านอัดแท่งได้

ด้าน นางรุจิกาญจน์ พลตรีนิษฐากุล หรือ ป้าถนอม อายุ 50 ปี ชาวบ้านในชุมชนเทศบาลตำบลบ้านผือ กล่าวว่า ปกติเลี้ยงกระบือ 9 ตัวทำให้ในแต่ละวันมีมูลมากแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ บางครั้งก็นำไปทิ้ง นำไปกองรวมกันไว้ หรือนำไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้บ้าง เมื่อมีเครื่องต้นแบบกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือนเข้ามา ได้ลองใช้งานมาประมาณ 7 เดือน พบว่าใช้งานง่าย ทำกับข้าว นึ่งข้าวได้สบาย โดยมูลกระบือ 1 ถัง ใช้ทำกับข้าวได้ถึง 3 มื้อ ในบ้านอยู่กัน 2 คน ปกติซื้อแก๊สถัง LPG ที่ใช้หุงต้มทั่วไป 1 ถัง ถังละ 473 บาท ใช้ได้ 2 เดือน ตอนนี้ประหยัดไป 3 ถัง คิดเป็นเงินกว่า 1,000 บาท รู้สึกดีใจมากที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำนวัตกรรมนี้เข้ามาให้ได้ใช้แบบนี้