ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
---|---|
เผยแพร่ |
สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดนครพนม (สกร.จังหวัดนครพนม) มีหน้าที่จัดส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 โดยมีการบริหารและการจัดการศึกษาแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้ผู้เรียนรับโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ตลอดจนพัฒนาผู้เรียนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้สถานศึกษาในสังกัด มุ่งบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครพนม ในฐานะ “เมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจสู่อาเซียนและจีนตอนใต้ตะวันออก” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพทางการท่องเที่ยวและบริการเพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ส่งเสริมการท่องเที่ยว ประเพณี ศาสนาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และการท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถีสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ New Normal และ BCG Tourism
สกร.อำเภอนาหว้า
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอนาหว้า (สกร.อำเภอนาหว้า) เป็นสถานศึกษาในสังกัด สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดนครพนม ได้มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษา รวมทั้งการศึกษาตามอัธยาศัย ให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และ สกร.จังหวัดนครพนม โดยยึดชุมชนเป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน และใช้ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตำบล (ศสกร.ตำบล) เป็นสื่อศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนรู้ทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้เรียนและผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
ขณะเดียวกัน สกร.อำเภอนาหว้า ได้ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างแหล่งเรียนรู้ ให้กับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ให้มีอาชีพ มีงานทำอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ สร้างแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีความหลากหลายตามบริบทของคนในชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจ
เปิดแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพปริศนาอำเภอนาหว้า
ปัจจุบัน สกร.อำเภอนาหว้า ได้ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน ด้วยการบูรณาการ ทั้ง 6 กิจกรรม ได้แก่ การจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
ซึ่งแหล่งเรียนรู้ชุมชน หมู่บ้านตาล ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวของจังหวัดนครพนมที่ได้รับการกล่าวขานเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพปริศนาสุดแปลกของอำเภอนาหว้า สร้างรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปีกว่า 100 ล้านบาท ทำให้มีผู้สนใจทั้งคนไทยและต่างชาติสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงานไม่ขาดสาย
หลังว่างเว้นจากการทำนา ทำไร่ ชาวบ้านในหมู่บ้านตาลจะหันมาทำอาชีพแปลกเสริม รายได้คือ การทำตุ๊กแกตากแห้ง ปลิงตากแห้ง และไส้เดือนตากแห้ง จุดเริ่มต้นของอาชีพแปลกเกิดตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน เริ่มจากมีคนริเริ่มทำอาชีพเพียงไม่กี่คน เมื่อชาวบ้านเห็นว่าอาชีพนี้สร้างรายได้ดี จึงขยายฝึกเป็นอาชีพเสริมในครัวเรือน
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านจะจับปลิงทำปลิงตากแห้ง ฤดูหนาว ทำไส้เดือนตากแห้ง โดยรับซื้อไส้เดือนสดนำมาแปรรูป โดยไส้เดือนสดทุก 100 กิโลกรัม หลังตากแห้งจะเหลือน้ำหนักแค่ 8-9 กิโลกรัมเท่านั้น จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 500 บาท
พอถึงช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นฤดูการทำตุ๊กแกตากแห้ง ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันในหมู่บ้านออกไปล่าตุ๊กแกตามหมู่บ้านใกล้เคียง หรือไปรับซื้อตุ๊กแกสดกับเครือข่ายทั่วประเทศ ในราคาตัวละ 30-60 บาท ชาวอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม กว่า 30 ครัวเรือน จะนำตุ๊กแกสดนำมาแปรรูปเป็น “ตุ๊กแกอบแห้ง” โดยมีโรงงานรับซื้อตุ๊กแกอบแห้งในหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 ตำบลนาหว้า รวบรวมผลผลิตส่งไปขายต่างประเทศ
ขั้นตอนการแปรรูปตุ๊กแกอบแห้ง เริ่มจากการชำแหละเอาเครื่องในออก อวัยวะต้องอยู่ครบทุกส่วน ทั้งหัว ขา ลำตัว และหาง จากนั้นนำตุ๊กแกมาขึงใส่ไม้แบบตามขนาด ส่วนใหญ่มีขนาดตัวละ 12-15 เซนติเมตร และใช้เหล็กหนีบขึงให้หนังตุ๊กแกตึง ขึงขาทั้ง 4 ข้างกางออก รวมถึงมัดหางใส่ไม้เป็นก้านยาว ก่อนที่จะนำไปรมควันเตาอบถ่านนาน 12-24 ชั่วโมง เพื่อให้หนังแห้งไม่ให้เกิดปัญหาเน่าเสียเวลาแพ็กส่งไปขาย
ขั้นตอนต่อมา นำตุ๊กแกมาขัดผิวให้สวยงาม ก่อนจับมัดเป็นคู่ตามขนาดแล้วบรรจุใส่กล่องน้ำหนักกล่องละ 25 กิโลกรัมส่งขายต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฯลฯ สร้างรายได้ส่งออกได้หลายสิบล้านบาทต่อปี ผู้ซื้อส่วนใหญ่เชื่อว่าการบริโภคตุ๊กแกเป็นยาสมุนไพรชูกำลัง
นอกจากนี้ นิยมนำตุ๊กแกมาเป็นส่วนผสมในตำรับยาจีนแผนโบราณ ช่วยบำรุงไต บำรุงปอด รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รักษาโรคเบาหวาน แก้หอบหืด รักษาโรคผิวหนัง ป้องกันมะเร็ง ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ มียอดสั่งซื้อตุ๊กแกตากแห้งจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า ปีละ 100 ตัน
อาชีพทำตุ๊กแกตากแห้ง ดำเนินงานในลักษณะอุตสาหกรรมคร้วเรือน จ้างญาติพี่น้องและคนในชุมชนเข้ามาทำหน้าที่แปรรูปตุ๊กแกตัวละ 7-10 บาท ขายตุู๊กแกอบแห้งเฉลี่ย 50-60 บาทตามขนาด หลังหักต้นทุนแล้ว สร้างผลกำไร 3-4 เท่าตัว แต่ละครอบครัวจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000-20,000 บาททีเดียว
ขอบคุณข้อมูลจากเฟฃบุ๊ก : สกร.อำเภอนาหว้า จ.นครพนม