หนุ่มใหญ่เมืองเชียงราย ตั้งศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียง พัฒนาคนและจิตใจ ได้รับการฟื้นฟูจากธรรมชาติ

ผืนแผ่นดินขึ้นชื่อว่าเป็นทรัพย์หล่อเลี้ยงชีวิต เพราะไม่เพียงแต่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่ถูกสรรค์สร้างมาอย่างสวยงาม แต่ยังก่อเกิดผลผลิตพรรณไม้นานาพันธุ์ ช่วยหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบกลมๆ นี้ได้อย่างสมดุล ซึ่งสังคมเกษตรกรรมที่อยู่ในประเทศไทยถือว่ามีความสำคัญ ไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศเท่านั้น ในภาคครัวเรือนเองก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของสังคมเกษตรนี้เช่นกัน จึงทำให้ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ประจักษ์ชัดแล้วว่าการมีอาหารหรือการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ไว้ในครัวเรือน ส่งผลให้แม้ไม่ต้องออกไปนอกบ้าน ก็ยังสามารถมีอาหารที่ช่วยดำรงชีวิตอยู่ได้ ผืนแผ่นดินจึงเป็นสิ่งที่ควรหวงแหน และรักษาให้เป็นมรดกส่งต่อไปถึงรุ่นสู่รุ่น

ดร.ตฤณธวัช ธุระวร หรือ ดร.ชิ

ดร.ตฤณธวัช ธุระวร หรือ ดร.ชิ ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียง 7 กระบุงโมเดล ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 บ้านห้วยขม ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของแผ่นดินที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ มาสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ไม่เพียงแต่ศึกษาศาสตร์ของพระราชาเท่านั้น ผู้สนใจยังสามารถเข้ามาพักค้างแรมเพื่อเรียนรู้วิธีการทำเกษตร และศึกษาวิถีความเป็นอยู่ของชนชีวิตชนเผ่าได้อย่างลงตัว

พื้นที่ห้องพัก 

สืบสาน คำสั่งเสียคุณพ่อ รักษาผืนดินให้มีชีวิต

ดร.ชิ เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกก่อนที่จะมาอยู่บ้านเกิดเหมือนเช่นทุกวันนี้ ได้ทำงานเป็นพนักงานเอกชนเต็มเวลาอยู่ในเมืองใหญ่ ต่อมาเริ่มรู้สึกว่าการใช้ชีวิตเช่นนั้นมีวิธีการเดิมๆ และต้องใช้พละกำลังเป็นอย่างมากในการทำงาน จึงได้เกิดความคิดที่อยากจะกลับมาอยู่บ้านเกิด และสานฝันตามที่คุณพ่อสั่งเสียไว้ เพื่อให้กลับมาพัฒนาผืนแผ่นดินที่มอบให้เป็นมรดกนี้ ซึ่ง ดร.ชิ เองในช่วงนั้นไม่ได้อยากจะกลับมาทำงานทางการเกษตรมากนัก แต่เมื่อตกปากรับคำคุณพ่อไว้แล้วจึงได้กลับมาพัฒนาที่ดินให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

วิวจากระเบียงที่พัก

“หลังจากที่ผมเต็มอิ่มกับชีวิตทำงานก็ได้กลับมาอยู่บ้าน และทำตามความฝันของคุณพ่อให้สำเร็จ ซึ่งที่มาอยู่ใหม่ๆ เป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดใหม่ๆ พื้นที่ของผมก็มามองว่าจะทำพื้นที่อย่างไรให้มีชีวิต เนื่องจากพื้นที่เป็นวิวเขาที่สวยงาม ผมจึงได้กลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า ตัวผมเองต้องการใช้ชีวิตแบบไหน ผมก็เลยกลับมาวางแผนในเรื่องของความรู้ และจัดให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เชิงท่องเที่ยว ผมจึงได้ไปเรียนรู้การทำเศรษฐกิจพอเพียง และนำความรู้ที่ได้เหล่านี้ มาปรับเปลี่ยนให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตรไปพร้อมๆ กัน” ดร.ชิ บอก

ผู้เข้าพักชาวต่างชาติ

โดยผู้ที่จะเข้ามาศึกษาหรือท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งนี้ สิ่งที่อยากให้ได้รับกลับไปมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ 1. อยากให้ผู้ที่เข้ามาชมพื้นที่แห่งนี้ได้รับความสวยงามจากธรรมชาติกลับไป พร้อมทั้งได้เข้ามาสัมผัสอากาศที่ดี อาหารดี สิ่งแวดล้อมดี เพื่อให้ได้แต่สิ่งดีๆ 2. การได้เรียนรู้ในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะได้ฝึกฝนในเรื่องของกสิกรรมธรรมชาติให้กับผู้ที่สนใจ และ 3. การได้เรียนรู้ภูมิปัญญาวิถีชนเผ่าปกากะญอ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้อยู่รอดอย่างไรในการอยู่ป่า ตั้งแต่ในเรื่องของการใช้ดินใช้น้ำ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นหัวใจสำคัญในศูนย์เรียนรู้นี้ทั้งหมด

คณะผู้เข้าอบรมแบบเป็นกลุ่ม 

ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ตลอดปี และได้รับการฟื้นฟูกลับไป

สำหรับการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรมนี้เอง จึงทำให้ตลอดทั้งปีมีผู้สนใจเข้ามาพักแรมและเรียนรู้วิถีเกษตรพอเพียงอย่างต่อเนื่อง มีตั้งแต่คนไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติ ติดต่อเข้ามาพักกันแบบชนิดที่ว่าต้องโทร.จองข้ามเดือนกันเลยทีเดียว โดยผู้ที่จะเข้ามาในศูนย์แห่งนี้ จะเน้นเฉพาะผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องของการทำเกษตรจริงๆ เพื่อจะได้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอด หรือจัดการชีวิตให้อยู่รอดอย่างไรในสังคมเกษตรกรเช่นนี้

อาหารรับรองผู้เข้าพัก

นอกจากการเรียนรู้ในเรื่องของวิถีเกษตรแล้ว ดร.ชิ บอกว่า ผู้เข้ามารับฝึกอบรมยังได้เรียนรู้และได้ชิมอาหารของชนเผ่า เป็นอาหารพื้นบ้านที่เป็นวิถีชุมชนจริงๆ ดังนั้น การต้อนรับจะเน้นแบบส่วนตัว รับครั้งละจำนวนไม่มาก ระยะเวลาที่เหมาะสมอยู่ที่ 1-2 คืน เป็นอย่างต่ำ

กิจกรรมทำอาหารจากไม้ไผ่

“เป้าหมายของผมในศูนย์เรียนรู้นี้ อยากจะให้ทุกคนได้รับความรู้ทางเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด การเข้ามาสมัครหรือพักค้างแรม ผมจะกำหนดอยู่ที่ 2-5 คนเท่านั้น เพื่อให้การต้อนรับและการฝึกสอนของผมเข้าถึงผู้สนใจได้ทุกคนแบบส่วนตัว ดังนั้น การสื่อสารหรือการทำให้เขาได้สัมผัสจริงๆ จึงค่อนข้างที่จะสำคัญ หรือถ้าผู้สนใจอยากจะเรียนรู้เรื่องไหนเพิ่มเติม ก็สามารถกำหนดเรื่องเข้ามาให้ผมได้ ถ้าทางศูนย์เรียนรู้ของผมสามารถปรับได้ ก็จะลงมือทำไปพร้อมๆ กับความต้องการของผู้สนใจ แต่หลักๆ แล้วผู้ที่เข้ามาที่นี่ก็จะยึดกับสิ่งที่ผมมีอยู่มากกว่า” ดร.ชิ บอก

เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์แห่งนี้ ดร.ชิ ยังเน้นย้ำไปด้วยว่า การทำเกษตรโดยเฉพาะยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ช่วยในเรื่องของการดำรงชีพได้อย่างแท้จริง เกษตรกรจึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว และต้องศึกษาให้เข้าใจให้อยู่กับชีวิตประจำวันให้ได้ และนอกจากเรียนรู้วิถีเกษตรกรรมแล้ว ผู้ที่เข้ามาที่นี่ยังได้รับการบำบัดจากธรรมชาติที่ช่วยให้ใจสดชื่นจากการได้ชมภูเขาต้นไม้ ที่เรียกได้ว่ามีพลังชีวิตกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน

กิจกรรมทำอาหารทานเอง 

ราคาที่พักและอบรม ไม่ได้เน้นผลกำไร

เนื่องจากต้องการให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีชีวิต และต้องการตอบรับเจตจำนงของคุณพ่อ ดร.ชิ บอกว่า ในเรื่องของราคาเข้ามาฝึกอบรมหรือค่าที่พักค้างแรมไม่ได้เน้นสร้างผลกำไรมากนัก แต่จะให้สามารถดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ได้ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น เป็นการตอบแทนสังคมและอยากสร้างความสุขให้กับผู้เข้ามาพักผ่อนหรือฝึกอบรม ได้รับการฟื้นฟูทั้งทางด้านจิตใจและกำลังกายที่ดีกลับไป

การทอผ้าของชาวบ้าน

ราคาสำหรับห้องพักที่กำหนดไว้อยู่ที่ คนละ 300 บาทต่อคืน ซึ่งราคานี้มีอาหารเช้าบริการ 1 มื้อ ส่วนค่ากิจกรรมอื่นๆ ที่ผู้เข้าพักสนใจกิจกรรมด้านไหน จะคิดอยู่ที่กิจกรรมละ 300 บาทต่อคน และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำอาหารแบบวิถีชนเผ่าสำหรับผู้ที่สนใจอยากทำอาหารทานเอง โดยกิจกรรมนี้ทาง ดร.ชิ จะเตรียมวัตถุดิบต่างๆ ไว้ให้ และผู้เข้ามาพักสามารถดำเนินการทำอาหารทานเองได้ตามอัธยาศัย ราคาอยู่ที่คนละ 200 บาท

กิจกรรมเรียนรู้ต่างๆ

“เรียกได้ว่ามาที่นี่ นอกจากเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว พื้นที่ของผมมีกิจกรรมไว้รองรับหลากหลาย นอกเหนือจากกิจกรรมในศูนย์เรียนรู้ เราก็มีกิจกรรมเดินป่าไว้ให้ผู้สนใจท่านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกอย่างที่ผมทำนี่ก็อยากจะฝากถึงคนที่สนใจอยากเข้ามาเรียนรู้ว่า สิ่งเหล่านี้ผมตั้งใจทำจริงๆ ผมทำด้วยใจศรัทธาจริง เพราะผมอยากให้จิตวิญญาณของผมระเบิดจากข้างใน เพื่อให้การขับเคลื่อนในสิ่งที่ทำอยู่นั้น สามารถสร้างความสุขและทางรอดทางอาหารให้กับคนอื่นๆ ต่อไปครับ” ดร.ชิ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจหรืออยากเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติ และอยากเข้าถึงแก่นเกษตรอย่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเข้าไปฝึกอบรมกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียง 7 กระบุงโมเดล ช่องทางการติดต่อ ดร.ตฤณธวัช ธุระวร หรือ ดร.ชิ หรือ อีเมล : dr.trintawat@gmail.com, เพจ FB Page : Mon Hug Karen Farm Stay, ไอดีไลน์ : khonphookao และหมายเลขโทรศัพท์ 095-675-4458