กลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ต้นแบบความสำเร็จ ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ ด้วยบัญชี

ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้เกษตรกร โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้าน “การตลาดนำการผลิต”

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมเป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการนำระบบบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อเพิ่มพูนรายได้เกษตรกรในระดับพื้นที่ ให้เกษตรกรได้นำองค์ความรู้ด้านบัญชีมาใช้วางแผนการประกอบอาชีพ วางแผนกิจกรรมทางการเกษตรมีความรู้และเข้าใจในการนำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรได้ รู้รายรับรายจ่าย รู้เวลาที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดกลไกการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาด สร้างเสริมให้เกษตรกรไทยพร้อมก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

กลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา นับเป็นแบบอย่างความสำเร็จในการนำบัญชีต้นทุนอาชีพเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ แปลงใหญ่ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2563 เริ่มต้นจากการประสบปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตร เกษตรกรในพื้นที่ จึงปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอาหารเป็นพืชอื่นๆ ทดแทน และรวมตัวกันปลูกไผ่ตงซึ่งเป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งในพื้นที่ และจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่อำเภอท่าตะเกียบ” จนกระทั่งในปี 2561 ได้เข้าร่วม โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อร่วมกันผลิต ร่วมกันจำหน่าย และนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพการตลาดและการบริหารจัดการ เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิต ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี คุณประสิทธิ์ รูปต่ำ เป็นประธานกลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีสมาชิก จำนวน 60 ราย พื้นที่ปลูก 601 ไร่

ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ฉะเชิงเทรา ร่วมกับครูบัญชีในพื้นที่ ได้เข้าไปสอนแนะการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่เริ่มที่มีการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ ในปี 2561 โดยได้แนะนำการจดบันทึกบัญชีผ่าน Application SmartMe ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรม Smart4M ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรสามารถจัดทำบัญชีรับ-จ่าย ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์ SmartPhone ทำให้เกษตรกรผู้จดบันทึกบัญชี สามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ สมาชิกมีเงินออมและมีกำไรจากการปลูกไผ่ขายได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาการทำงบดุล การจัดหากองทุนสำรอง และการขอสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้แก่กลุ่มอีกด้วย

Advertisement

คุณประสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสามารถปลูกไผ่ตง ไผ่เลี้ยงหวาน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มประมาณปีละ 1 ล้านบาท โดยส่งผลผลิตของสมาชิกออกไปจำหน่ายยังตลาดผักร่วมใจ (GAP) ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี และตลาดต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสระบุรี และห้างสรรพสินค้าแม็คโครสาขาจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครนายก และศูนย์กระจายสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสมุทรสาคร

Advertisement

ทั้งนี้ การปลูกไผ่ในช่วงแรกประสบปัญหาต้นทุนสูงจากการใช้ปุ๋ยเคมี แต่หลังจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ฉะเชิงเทราเข้ามาแนะนำให้จัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพทำให้เห็นต้นทุนในการผลิต รู้รายรับ รู้รายจ่าย รู้กำไร รู้ขาดทุน เมื่อเห็นตัวเลขต้นทุนทางบัญชี สมาชิกก็เริ่มหันมาปรับลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีแล้วหันมาทำปุ๋ยขี้ไก่และปุ๋ยหมักจากปลาใช้เอง ทำให้ลดต้นทุนต่อไร่ ได้ประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อต้นทุนลดลง รายได้ก็เพิ่มขึ้น ทำให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้ในการเลี้ยงครอบครัวและมีความสุขในอาชีพมากขึ้น ปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มมีการจัดทำบัญชีประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใช้ Application SmartMe ในการบันทึกบัญชีจำนวน 20 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งครูบัญชีอาสาได้เข้าไปแนะนำให้สมาชิกหันมาใช้โปรแกรมมากขึ้น สำหรับสมาชิกที่ไม่ดำเนินการเนื่องจากอายุมาก สายตาไม่ดี แต่ทุกคนก็เห็นประโยชน์ในการทำบัญชี สมาชิกผู้สูงอายุบางรายจึงพยายามใช้วิธีจดจำแทน เพื่อหาวิธีปรับลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลง

“การส่งเสริมให้สมาชิกหันมาทำบัญชีต้นทุนอาชีพ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้กลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ ประสบความสำเร็จด้านการลดต้นทุนและการเพิ่มรายได้ให้สมาชิก จึงขอฝากไปยังเกษตรกรทั่วประเทศให้หันมาทำบัญชีในการพัฒนารายได้ ให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ เพราะบัญชีจะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นต้นทุนที่แท้จริงและเห็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เราได้นำมาเป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนการผลิตให้มีความเหมาะสม และนำไปพัฒนาการผลิต แปรรูปและการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” คุณประสิทธิ์ กล่าว