รวม 10 ไอเดีย ค้างไม้เลื้อย เลือกให้เหมาะกับผักที่ปลูก

ค้างไม้เลื้อย เป็นไอเดียในการปลูกผักจำพวกไม้เลื้อย ไม่ว่าจะเป็น แตง บวบ มะระ มะเขือเทศ ถั่วพู ถั่วฝักยาว จำเป็นต้องมีค้างเพราะเป็นเสาหลักสำหรับให้ไม้เลื้อยหรือไม้เถายึดเกาะ เพื่อให้ลำต้นไม้เหล่านั้นได้เกาะเลื้อยเติบโตขึ้นมา จะนิยมใช้กับการปลูกพืชสวนครัว
ใครที่กำลังมีแพลนแต่ไม่รู้จะเลือกใช้แบบไหนให้เหมาะกับผักที่ปลูก นอกจากจะใช้ปลูกผักแล้ว ยังทำให้ได้สวนสวยๆ ประดับตกแต่งบ้านอีกด้วย แถมยังมีผักไว้รับประทานเอง ปลอดภัยแน่นอน วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านรวม 10 ไอเดีย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับตกแต่งสวนหลังบ้าน

ค้างไม้เลื้อย เลือกให้เหมาะกับผักที่จะปลูก

ค้าง คือ เสาหลักสำหรับให้ไม้เลื้อยหรือไม้เถายึดเกาะ นิยมใช้ในการปลูกผักสวนครัว ซึ่งนอกจากจะใช้ปลูกผักแล้ว ค้างไม้เลื้อยยังนับว่าเป็นของตกแต่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศดีๆ ให้กับสวนอีกอย่างหนึ่งด้วย อุปกรณ์ในการทำ “ค้างไม้เลื้อย” มีนิดเดียวเท่านั้น สิ่งต้องใช้มีเพียงแค่ ไม้ขนาดยาว เช่น ไม้ไผ่ เชือก เมล็ดพันธุ์ ซึ่งเราสามารถใช้เมล็ดอะไรก็ได้ที่เป็นพืชไม้เลื้อย ไม่ว่าจะเป็นผักหรือดอกไม้
วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะพาไปดูว่าค้างไม้เลื้อย มีรูปแบบต่างๆ มากมาย ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ใช้ ลักษณะของพื้นที่ ลักษณะของพันธุ์พืช และจุดประสงค์ในการใช้งาน ถ้าเลือกให้เหมาะสมกับผักที่ปลูก ก็จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีและเก็บเกี่ยวง่ายอีกด้วย

ค้างแบบเสารั้ว

ทำได้ง่าย ต้นทุนไม่สูง ประหยัดพื้นที่ สามารถปรับใช้ใกล้แนวกำแพงบ้านหรือผนังได้ ให้ผลผลิตดี ค้างชนิดนี้จึงเหมาะกับพืชล้มลุก พืชอายุสั้น เถาเล็ก น้ำหนักเบา เช่น ดอกขจร อัญชัน เป็นต้น

ค้างแบบกระโจม

นิยมใช้กับพืชล้มลุกหรือพืชที่อายุสั้น เช่น แตงกวา แตงร้าน หรือใช้กับพืชที่กินใบ กินยอด เช่น ผักปลัง ตำลึง เป็นต้น ค้างแบบนี้คล้ายกับแบบเสารั้ว แต่มีการเพิ่มเสาทั้งสองข้างช่วยให้โครงค้างมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น จัดการเรื่องการตัดแต่งและเก็บผลผลิตจะทำได้ดีในช่วงแรกๆ แต่พอนานไปจะทำได้ยาก

ค้างตัว A

Advertisement

นิยมใช้กับพืชล้มลุกหรือพืชอายุสั้น เช่น แตงกวา แตงร้าน เนื่องจากการจัดการเรื่องการตัดแต่งและเก็บผลผลิตจะทำได้ดีในช่วงแรกๆ แต่พอนานไปจะทำได้ยาก ค้างแบบนี้สามารถนำมาปรับใช้เป็นค้างที่ปลูกเพื่อความสวยงาม ทำได้ง่าย ลงทุนน้อย ใช้พื้นที่ได้ถึงสองข้าง

Advertisement

ค้างเพิงหมาแหงน

นิยมใช้ปลูกไม้ที่เก็บผล เช่น บวบ ฟักเขียว มะระ เป็นต้น มีความแข็งแรงรับน้ำหนักได้พอสมควร สามารถปรับเปลี่ยนองศาของแผงค้างได้ จุดเด่นของค้างรูปแบบนี้ คือช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวก

สร้างแปลงผักมินิมอล วัสดุเหลือใช้เศษไม้เก่า จากปลูกผักกินเอง สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในชุมชน

ค้างตัว T

นิยมใช้กับพืชที่มีขนาดใหญ่ พืชอายุยืน เช่น องุ่นผลสด สะดวกในการเก็บผลผลิต สามารถจัดการดูแลตัดแต่งกิ่งได้ง่าย ตัดแต่งโคนต้นด้านล่างให้โล่งเพื่อความสะดวกในการทำงาน เหมาะสำหรับพื้นที่เชิงเขา

ค้างถั่ว

โครงสร้างมีความแข็งแรงสูง ลักษณะเส้นที่มีทั้งแนวนอนและแนวตั้งเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืชจำพวกถั่ว เช่น ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ถั่วแขก อีกทั้งสามารถใช้เป็นค้างสำหรับไม้ประดับได้ดีอีกด้วย

ค้างสี่เหลี่ยม

เก็บผลผลิตง่าย และสามารถปฏิบัติการจัดการต่างๆ ได้สะดวกสบาย ตัวค้างมีความสมดุล ไม่ล้มง่าย ค้างชนิดนี้ใช้กับพืชได้เกือบทุกชนิด

ค้างตารางหมากฮอส

มีความแข็งแรง ทนทาน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวก เหมาะกับพืชมีเถาขนาดใหญ่ ซึ่งโดยมากแล้วกิ่งก้านจะยาวพันกันไปมาสานกันจนกลายเป็นหลังคาทึบ ทำให้การตัดแต่งกิ่งทำได้ค่อนข้างลำบาก ควรมีการตัดแต่งกิ่งที่ไม่มีผล หรือกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออก เพื่อให้แสงแดดส่องถึงข้างใต้ทรงพุ่ม

ค้างตัว H

สามารถใช้ได้นาน เนื่องจากนิยมใช้วัสดุ-อุปกรณ์ที่ทนทาน มักพบในแปลงปลูกที่มีการลงทุนสูง การจัดการที่ดี ค้างชนิดนี้มีความคงทน เก็บผลผลิตได้มาก และเก็บผลผลิตได้นาน

ค้างแบบซุ้ม

ให้ร่มเงา ประหยัดพื้นที่ ส่วนการเก็บผลผลิตก็สามารถทำได้ง่าย แต่การจัดการตัดแต่งกิ่งค่อนข้างยากหากตัวซุ้มมีความสูงมาก

การเลือกใช้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกและขนาดของพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งาน สิ่งสำคัญของการทำค้างที่ดี ต้องมีลักษณะที่แข็งแรง ทน ให้เหมาะกับพืชที่ปลูก ใครๆ ก็สามารถทำตามได้ง่าย ต้นทุนไม่สูง แถมยังประหยัดพื้นที่ แต่ต้องคอยหมั่นตัดแต่งอยู่เสมอ

ข้อดีของการทำค้างปลูกผัก

ช่วยให้แสงแดดและอากาศถ่ายเทได้สะดวก สามารถระบายน้ำได้ง่าย สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ แต่ก็ควรหมั่นดูแลรดน้ำ ผักไม้เลื้อยมีความต้องการน้ำมากเนื่องจากเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่ชื้น ควรให้ปุ๋ย ตัดแต่ง เพื่อให้ผักเจริญเติบโตได้ผลผลิตที่ดี

ขอบคุณข้อมูลจาก : บ้านและสวน
.