ธนาคารน้ำใต้ดิน แก้มลิงที่มองไม่เห็น แก้ภัยแล้ง ต้นทุนบ่อละ 4-5 พันบาท

ผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี พื้นที่การเกษตรจำนวนมากเสี่ยงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตร เกษตรกรจึงควรสร้างแหล่งน้ำในไร่นาเพื่อให้มีแหล่งน้ำพอเพียงสำหรับดูแลรักษาพื้นที่เพาะปลูกพืชตลอดทั้งปี ลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ลุงทองปาน เผ่าโสภา

ลุงทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้านหนองกุลา ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ริเริ่มแนวคิดการทำธนาคารน้ำใต้ดิน สำหรับใช้เพาะปลูกพืชในฤดูแล้งตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อนจนกลายเป็นต้นแบบให้ภาครัฐ นำแนวคิดดังกล่าวไปขยายผลเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งทั่วประเทศ

แก้มลิงที่มองไม่เห็น

ลุงทองปานเล่าถึงที่มาของแนวคิดการสร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” หรือเรียกว่า “แก้มลิงที่มองไม่เห็น” ว่า ตนเองได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากข้อมูลข่าวสารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้วิธีการสังเกตบ่อบาดาลที่ขุดเจาะไว้ในช่วงฤดูแล้งพบว่า เมื่อสูบน้ำไปได้ระยะหนึ่งน้ำก็จะแห้ง ไม่สามารถสูบได้อีก และช่วงฤดูฝนน้ำที่ท่วมขังบริเวณบ่อ จะแห้งเร็วกว่าบริเวณอื่นๆ

ซึ่งจากการสังเกตดังกล่าวจึงได้ทดลองขุดบ่อเพิ่มอีกหนึ่งบ่อเพื่อเติมน้ำลงใต้ดิน พบว่า สามารถเติมน้ำในบ่อได้จำนวนมากโดยไม่เต็ม และในขณะที่ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังบริเวณบ่อ น้ำจะไหลลงไปใต้ดินได้เร็วขึ้นทำให้พืชที่เพาะปลูกในบริเวณดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดินของลุงทองปาน ทำได้ง่ายและใช้เงินทุนไม่มาก โดยหาจุดที่มีน้ำท่วมขัง ทำการขุดบ่อให้ได้ขนาดที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ระดับน้ำที่ท่วมขัง สภาพชั้นดิน และชั้นหิน ขุดบ่อให้ลึกประมาณ 1-3 เมตร ให้ทะลุชั้นดินเหนียว จากนั้นให้ใส่ท่อพีวีซี ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ไว้ตรงกลางบ่อให้พ้นจากพื้นดินเพื่อเป็นท่อระบายอากาศ นำเศษวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ในชุมชนใส่ลงไปในบ่อ เช่น กรวด หิน ขวดน้ำ ยางรถยนต์ เป็นต้น

โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างแหล่งน้ำใต้ดินประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อบ่อ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 2 บ่อ สำหรับใช้ในฟาร์มบนเนื้อที่ปลูก 16.75 ไร่ ทำการผลิตแบบอินทรีย์ แบ่งตามสัดส่วนเป็นข้าวพันธุ์หอมปทุมและพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ 4 ไร่ ไม้ผล 5 ไร่ พืชผัก/สมุนไพร 6 ไร่ ไม้สัก 0.5 ไร่ และสระน้ำเพื่อการเกษตร 1.25 ไร่ สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน หากเกษตรกรท่านใดสนใจแนวคิดดังกล่าว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ลุงทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก โทร. 086-206-3680