อำนาจเจริญปลูกข่าตะไคร้ ป้อนตลาดเครื่องเทศ-สมุนไพร โกยรายหลักแสนต่อเดือน

ปัจจุบัน ความต้องการใช้พืชสมุนไพรไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งใช้ประกอบอาหาร เป็นวัตถุดิบสำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์บำรุงดูแลสุขภาพ และเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง พืชสมุนไพรกลายเป็นพืชทำเงินที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างดี

บ้านห้วยร่องคำ หมู่ที่ 10 ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นกลุ่มวิสาหกิจ “ต้นแบบการผลิตสมุนไพร” ที่มีศักยภาพในพื้นที่ มีระบบบริหารจัดการแปลงที่ดี มีการวางแผนด้านการผลิตเพื่อเป็นไปตามความต้องการของตลาด รวมถึงการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้จากสมุนไพร

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนบ้านห้วยร่องคำ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2559 โดยมี นางละอองฉัตร คูตะพันธุ์ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจเกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรในพื้นที่ มีสมาชิกเกษตรกรและเครือข่ายรวม 55 ราย พื้นที่ปลูกรวม 105 ไร่ เนื้อที่ปลูกเฉลี่ย 1.9 ไร่ต่อครัวเรือน โดยมีรายได้จากการปลูกสมุนไพรหมุนเวียนอยู่ที่เดือนละ 120,000 บาท คิดเป็นรายได้รวมทั้งปีประมาณ 1,440,000 บาท

ทางกลุ่มมีการปลูกสมุนไพรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) โดยสมุนไพรที่สร้างรายได้ดีให้กับกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ ตะไคร้ สามารถปลูกได้ 2 รอบต่อปี ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 6 เดือนต่อรอบการผลิต ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000-3,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้ 7-10 บาทต่อกิโลกรัม ข่าตาแดง ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 18 เดือนต่อรอบการผลิต

ส่วน ข่า ตลาดรับซื้อไปทำยาและพริกแกง โดยนิยมใช้ข่าแก่ มีผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 7,000-8,000 กิโลกรัมต่อรอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้ 15 บาทต่อกิโลกรัม และ ขมิ้นชัน สามารถปลูกได้ 1 รอบต่อปี ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 11 เดือนต่อรอบการผลิต ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,500-3,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้ 20 บาทต่อกิโลกรัม

Advertisement

ผลผลิตที่ปลูกทางกลุ่มวิสาหกิจได้ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัท นิยมฟู๊ดส์ จำกัด จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งผลผลิตสมุนไพรร้อยละ 80 ส่งจำหน่ายให้กับบริษัท นิยมฟู๊ดส์ จำกัด เพื่อป้อนเข้าโรงงานพริกแกงท่านขุน ผลิตและแปรรูปเป็นพริกแกง อาทิ พริกแกงเผ็ด พริกแกงเขียวหวาน พริกแกงส้ม พริกแกงน้ำยาใต้ พริกแกงไตปลา น้ำพริกเผา ฯลฯ ส่วนผลผลิตที่เหลือ ร้อยละ 20 ส่งขายผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่

Advertisement

ทางกลุ่มวิสาหกิจได้ดำเนินงานตามนโยบายขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ด้วยการจัดการวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมันตะไคร้ไล่ยุง ยาหม่องน้ำตะไคร้หอม น้ำยาล้างจาน และลูกประคบ

หากใครสนใจศึกษาดูงานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนบ้านห้วยร่องคำ หมู่ที่ 10 ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถติดต่อได้ที่ นางละอองฉัตร คูตะพันธุ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โทร. 063-368-9030

…………….

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)