ถั่วลิสง “เกษตรศาสตร์ สวก.1” พืชน้ำน้อย โตเร็ว สู้ภัยแล้ง ผลผลิตสูง ฟันกำไรหลักหมื่น

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) แห่งสหประชาชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2567 ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน ส่งผลให้อุณหภูมิโลกปรับตัวสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้ทั่วโลกเกิดภาวะโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าปริมาณฝนลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2568

ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ว่า ครึ่งปีแรก 2567 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนน้อยจากอิทธิพลเอลนีโญ และมีแนวโน้มว่าช่วงฤดูแล้งจะยาวนานจนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เพื่อให้รับมือเอลนีโญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูก “ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก. 1” ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชน้ำน้อย ที่ได้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อยกระดับอาชีพภาคการเกษตรของเกษตรกร ให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำแปลงสาธิตขยายผลการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก.1 เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแลรักษา การให้ปุ๋ยตามความต้องการ การให้ธาตุอาหารเสริมที่จำเป็นต่อความสมบูรณ์ของเมล็ด การสาธิตการใช้เครื่องจักรกลในการปลูก การเก็บเกี่ยว ลดการใช้แรงงานเกษตรซึ่งหายากขึ้นและส่วนใหญ่เป็นแรงงานสูงวัย เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการผลิตถั่วลิสงในเชิงธุรกิจ หากปลูกถั่วลิสงพันธุ์ดังกล่าวในฤดูฝนจะมีปริมาณผลผลิตที่ได้ 300 กิโลกรัมต่อไร่ ในฤดูแล้งจะมีปริมาณผลผลิตที่ได้ 350 กิโลกรัมต่อไร่

จุดเด่นของถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1

ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก.1 มีลักษณะประจำพันธุ์ที่ดี คือ ทรงต้นแบบพุ่มตั้ง ไม่ยืดเลื้อย เปลือกฝักมีลาย เมล็ดใหญ่ เก็บเกี่ยวง่าย ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคยอดไหม้ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมจากผลงานวิจัยสู่พื้นที่ของเกษตรกร เพื่อเป็นต้นแบบให้เกิดการเรียนรู้ การยอมรับเทคโนโลยี และขยายผลในวงกว้าง สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 9,000 บาทต่อฤดูกาลผลิต ในพื้นที่เหมาะสม สามารถส่งเสริมการปลูกทดแทนการทำนาปรัง หรือในช่วงฤดูแล้งเขตนาน้ำฝนที่มีสภาพดินร่วนหรือร่วนปนทราย ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตและการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

สำหรับสถานการณ์การผลิตถั่วลิสงที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณผลผลิต ประมาณ 25,000 ตัน มีความต้องการใช้ จำนวน 113,500 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศปริมาณสูงถึง 89,400 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2564) ถั่วลิสงจึงเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่มีอนาคตทางการตลาดสดใส เนื่องจากตลาดภายในประเทศมีความต้องการบริโภคถั่วลิสงเพิ่มขึ้นในยุคสังคมผู้สูงอายุ และจำนวนผู้รักสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มการบริโภคโปรตีนจากพืช รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันต่ำ

อนึ่ง ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1 เป็นผลงานวิจัยของ อาจารย์เจตษฎา อุตรพันธ์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยถั่วลิสงสายพันธุ์นี้ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จากแม่พันธุ์ขอนแก่น 5 และพ่อพันธุ์ IC 10 ได้พันธุ์ที่ช่วยเพื่อเพิ่มผลผลิต และต้านทานต่อโรคยอดไหม้ กว่าพันธุ์เดิมที่เกษตรกรใช้ปลูกอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคุณภาพเมล็ดเป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตจากถั่วลิสง และสามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ให้ผลผลิตต่อไร่ราวๆ 300-500 กิโลกรัมต่อไร่

เคล็ดลับปลูกถั่วให้เมล็ดโต ผลผลิตสูง

อาจารย์เจตษฎา อุตรพันธ์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1 ควรปลูกในสภาพดินทราย ดินร่วนปนทราย ให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ควรใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่รองพื้น ก่อนปลูกในสภาพดินร่วนปนทราย อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ยสูตรเท่าเดิมเป็นรอบที่ 2 ในช่วงที่ถั่วลิสงติดดอกพร้อมออกฝัก หลังนั้น 2 สัปดาห์ค่อยใส่ธาตุอาหารรอง คือ ยิปซัม เพื่อบำรุงเมล็ดถั่วให้สมบูรณ์ ด้านการดูแลกำจัดวัชพืช เกษตรกรสามารถดายหญ้าหรือใช้รถไถกลบวัชพืชในแปลงปลูกได้

สำหรับถั่วพันธุ์นี้ หากปลูกช่วงฤดูแล้งหลังการทำนา มีอายุการเก็บเกี่ยว 120 วัน จากการทดสอบพันธุ์ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 200-500 กิโลกรัมต่อไร่ ปริมาณผลผลิตมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม กรณีเจอภาวะภัยแล้งไม่สามารถให้น้ำในแปลงปลูกได้ ผลผลิตก็จะต่ำ คือ 200 กิโลกรัมต่อไร่ หากปลูกในสภาพดินดี น้ำดี มีการจัดการวัชพืชและให้ธาตุอาหารอย่างถูกต้อง สามารถเก็บเกี่ยวถั่วลิสงฝักแห้ง ความชื้นไม่เกิน 9% อยู่ที่  500 กิโลกรัมต่อไร่เลยทีเดียว หากขายผลผลิตในราคาตลาดทั่วไป คือ  30 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยมีต้นทุนแรงงานคนอยู่ที่ 5,000 บาท หากใช้เครื่องจักร ต้นทุนผลิตจะลดลงเหลือแค่ 3,000 บาท การปลูกถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1 เกษตรกรมีโอกาสทำกำไรได้สูงถึงหลักหมื่นบาทเลยทีเดียว

หากใครต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์เจตษฎา อุตรพันธ์ ได้ทาง e-mail: [email protected] หรือทางเบอร์โทรศัพท์ 086-397-6704 และ 02-579-3130 ในวันและเวลาราชการ

แหล่งที่มาของข้อมูล

https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=70114

https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=68564