“ปลาพลวงชมพู” ราชาปลาแห่งแม่น้ำสายบุรี สร้างอาชีพใน 3 จว.ชายแดนใต้

ปลาพลวงชมพู หรือปลากือเลาะห์ อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน เป็นปลาน้ำจืดประจำท้องถิ่นจังหวัดยะลาและนราธิวาส พบเห็นในลำคลองธรรมชาติ ที่น้ำค่อนข้างเย็นไหลผ่าน มีปริมาณออกซิเจนสูง เช่น น้ำตก หรือบริเวณต้นแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำตาปี ไปจนถึงมาเลเซีย

ปลาพลวงชมพู เป็นปลาสวยงามที่ความโดดเด่นเรื่องสีเกล็ดเป็นสีชมพู บริเวณครีบหลังและครีบหางเป็นสีแดง ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส โดยเฉพาะแม่น้ำปัตตานี และป่าฮาลา-บาลา ปลาพลวงชมพูได้รับการประกาศให้เป็นปลาประจำจังหวัดยะลาตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2558 นอกจากนี้ จังหวัดยะลาได้ยื่นขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ปลาพลวงชมพู (กือเลาะห์) ต้นน้ำป่าฮาลาบาลา”

พื้นที่ที่พบปลาพลวงชมพูในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ปลาพลวงชมพู

“พลวงชมพู” อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเวียน และปลาพลวงหิน จุดเด่นของปลาพลวงชมพูคือ มีเกล็ดปลาสีชมพู ครีบหลังและครีบหางสีแดง เป็นปลาพลวงชนิดเดียวที่สามารถกินได้ทั้งเกล็ด เวลาเคี้ยวเกล็ดปลามีรสสัมผัสเหมือนเคี้ยวกระดูกอ่อนไก่ บางคนนำเกล็ดปลาพลวงชมพูมาทอดเป็นข้าวเกรียบก็ได้รสชาติอร่อยไปอีกแบบ แถมดีต่อสุขภาพเพราะเกล็ดปลาชนิดนี้มีสารคอลลาเจนสูง เนื้อปลามีลักษณะนุ่มขาวเหมือนสำลี รสชาติหวาน อร่อย ไม่มีกลิ่นคาว ใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งแกง ต้ม นึ่งซีอิ๋ว และทอด

เนื่องจากปลาพลวงชมพูวางไข่น้อย อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา กรมประมงจึงได้ศึกษาวิจัยปลาชนิดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และได้ดำเนินการศึกษาวิจัยปลาพลวงชมพูมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ ทางกรมประมงผลักดันปลาชนิดนี้ เป็นปลาเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาต่อไป

ปลาพลวงชมพู

การขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูโดยวิธีการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นช่วยให้แม่ปลาตกไข่ พร้อมกับทำให้ลูกปลาที่ได้มีขนาดสม่ำเสมอกว่าลูกปลาที่ได้จากการผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ และได้ลูกปลารุ่นเดียวกันจำนวนมาก ทำให้ง่ายต่อการนำไปอนุบาลและเพาะเลี้ยงเชิงการค้า ภายใต้นโยบาย 3 เหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

อุปสรรคในการเลี้ยงปลาพลวงชมพูส่วนใหญ่คือ เปอร์เซ็นต์การรอด เนื่องจากปลาชนิดนี้มีปริมาณไข่ปลาน้อยกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆ 500-1,000 ตัว และพ่อ-แม่พันธุ์มีจำนวนจำกัด ส่วนใหญ่ทางกรมประมงจะรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ นำมาขุนเพื่อให้พ่อ-แม่พันธุ์สมบูรณ์เพศแข็งแรงพร้อมผสมพันธุ์

ปลาพลวงชมพู

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงปลาพลวงชมพูประสบความสำเร็จ นอกจากดูแลเอาใจใส่ในเรื่องอาหาร ความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์แล้ว ขั้นตอนการเลี้ยงก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน ต้องเลี้ยงด้วยระบบน้ำไหล หรือมีน้ำหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากปลาดังกล่าวจะมีพฤติกรรมชอบอยู่ตามต้นน้ำ ชอบน้ำไหล และเป็นปลาที่ต้องการออกซิเจนตั้งแต่ 5-8 ppm

กรมประมงเข้าไปแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงปลาพลวงชมพูแบบธรรมชาติโดยนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปล่อยให้ไหลผ่านระบายออกไป โดยปล่อยลูกปลา 1-5 ตัวต่อตารางเมตร และให้อาหารปลาทั่วไป เช่น อาหารปลาดุก เฉลี่ยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ให้ครั้งละ 2-3% ของน้ำหนักตัว ทำเช่นนี้จนสามารถจับขายได้ ขั้นตอนการเลี้ยงปลาพลวงชมพูนั้นไม่ซับซ้อนมากนัก ปัจจัยหลักสำคัญมีแค่เรื่องเดียวคือ ต้องใช้ระบบน้ำหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เพื่อควบคุมปริมาณออกซิเจนไม่สูงหรือต่ำกว่าที่กำหนด มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตปลาได้

บ่อดินสำหรับเลี้ยงปลาที่เลียนแบบธรรมชาติให้มีระบบน้ำไหล

ปลาพลวงชมพูให้ผลตอบแทนสูง มีอัตราแลกเนื้ออยู่ที่ 2-3 : 1 หากเลี้ยงให้ได้ขนาด 2.3 กิโลกรัม ใช้อาหารไม่เกิน 7 กิโลกรัม มีต้นทุนค่าอาหารแค่ตัวละ 210-250 บาท สามารถขายได้สูง 3,000-3,500 บาทต่อกิโลกรัม หากส่งออกไปขายที่ประเทศมาเลเซียตกกิโลกรัมละ 7,000 บาท ส่วนการส่งออกไปขายที่ประเทศไต้หวันได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาท กล่าวได้ว่า ปลาพลวงชมพูมีราคาแพงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าในอนาคตปลาพลวงชมพูจะเป็นปลาเกรดพรีเมียมอีกชนิดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศได้อย่างแน่นอน