อาหารเสริมไก่ไข่จากธรรมชาติ สูตรลดต้นทุน ไข่ดก ฟองใหญ่ ทำง่าย

อาหารเสริมไก่ไข่จากธรรมชาติ สูตรลดต้นทุน ไข่ดก ฟองใหญ่ ทำง่าย

ในยุคปัจจุบันการประหยัดต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตร เป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรหลายคนให้ความสำคัญ ในส่วนของการเลี้ยงปศุสัตว์ก็เช่นกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงมีความใส่ใจในเรื่องของการเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุน โดยยึดการใช้อาหารที่หาได้ง่ายๆ ไม่ใช้ต้นทุนมากเป็นผลผลิตทางการเกษตรในสวนของตนเองมาใช้เลี้ยงแทน

ช่วงนี้ตลาดไข่ไก่อารมณ์ดีเป็นที่สนใจมากของผู้บริโภค เพราะจากปัญหาสุขภาพต่างๆ ทำให้คนเริ่มสนใจในเรื่องการดูแลตัวเองมากขึ้น จึงทำให้อาหารสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนมองหา ยิ่งไข่เป็นวัตถุดิบที่กินได้ทุกวัน วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านมีสูตรอาหารเสริมไก่ไข่จากวัตถุดิบธรรมชาติมาฝาก ช่วยให้แม่ไก่ออกไข่ดก ไข่ฟองใหญ่ แล้วสามารถนำไปทำตามกันง่ายๆ จะมีอะไรกันบ้างไปดูกันเลย

ตำลึง
ตำลึง

1. สูตรอาหารเสริมด้วยตำลึงซึ่งจะช่วยให้ไข่ฟองใหญ่

ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำให้ไก่ไข่ออกไข่ฟองโต การเลี้ยงไก่ไข่แบบอินทรีย์ซึ่งมีเทคนิคง่ายๆ โดยใช้พืชผักสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างตำลึงเป็นผักสวนครัวริมรั้วกินได้ที่มักปลูกทั่วไปตามครัวเรือนต่างๆ นอกจากคนกินได้แล้ว ยังสามารถนำมาเป็นอาหารเสริมเลี้ยงไก่ไข่ได้อีกด้วย

วิธีการทำอาหารด้วยตำลึง

ให้นำเถาผักตำลึงสดๆ มาแขวนหรือวางไว้ในโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อให้ไก่ได้จิกกินผักตำลึงเป็นอาหารเสริม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ผักตำลึงจะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างไข่ไก่ เป็นอาหารเสริมอย่างดี ไข่ไก่มีขนาดฟองใหญ่กว่าไก่ไข่ที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยผักตำลึง

ข้อควรระวัง : เกษตรกรสามารถนำไปใช้เลี้ยงไก่พื้นเมืองได้เช่นกัน เพราะผักตำลึงยังช่วยไม่ให้ไก่ที่เลี้ยงรวมกันจิกกันเอง ช่วยให้ไก่ไม่เครียด ซึ่งมีข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการนำไปใช้กับไก่พันธุ์ไข่คือ อย่าให้กินผักตำลึงทุกวัน เพราะจะทำให้ไข่ไก่มีขนาดฟองโตมาก ส่งผลให้ไก่ไข่ออกไข่ไม่ได้นั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นควรให้สัปดาห์ละ 1 ครั้งก็เพียงพอแล้ว

หญ้าสด
หญ้าสด

2. สูตรอาหารเสริมด้วยหญ้าสดจะช่วยให้แม่ไก่ออกไข่สมบูรณ์ ไข่ดก

หญ้าสดเป็นอาหารเสริมไก่ไข่ตามธรรมชาติที่ประกอบด้วยโปรตีน วิตามินเอ แคลเซียม และกากใยอาหารธรรมชาติ ที่ช่วยในระบบขับถ่ายของไก่ ช่วยให้ไก่โตไว แข็งแรง และยังช่วยให้แม่ไก่ไข่สมบูรณ์ มีไข่ดก ไข่ไก่ที่มีคุณภาพดี

วิธีการทำอาหารด้วยหญ้าสด

กระบวนการเลี้ยงไก่ไข่แบบชีวภาพภายในฟาร์มจะใช้น้ำหมักชีวภาพ (น้ำเอนไซม์) ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ โดยเลี้ยงแบบปล่อยอิสระไม่กักขังกรง เพื่อให้แม่ไก่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ปลอดโรค และหนึ่งในกระบวนการให้อาหารจะนำหญ้าสดมาล้างน้ำให้สะอาด สับให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปใส่ในรางให้แม่ไก่กินตอนเย็นประมาณ 16.00-17.00 น. เป็นอาหารเสริมทุกวัน 

Advertisement
หยวกกล้วย
หยวกกล้วย

3. สูตรอาหารเสริมด้วยหยวกกล้วยทำให้ไข่แดงสด

การนำหยวกกล้วยมาเลี้ยงไก่ไข่ จะทำให้ไก่ไข่ที่เลี้ยงออกไข่ได้ง่ายขึ้น และไข่ไก่ที่ได้มีสีแดงสดน่ากิน ที่สำคัญผู้เลี้ยงสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ได้เป็นอย่างดี

วิธีการทำอาหารด้วยหยวกกล้วย

นำหยวกกล้วยมาหั่นเป็นแว่นให้ไก่ไข่จิกกินในช่วงเช้า ซึ่งหยวกกล้วยที่นำมาให้ไก่นั้นควรที่จะลอกเปลือกชั้นนอกที่หุ้มออกประมาณ 2 ชั้นก่อนและให้ควบคู่กับอาหารไก่ไข่ตามปกติ จะทำให้ไก่ไข่ที่เลี้ยงออกไข่ได้ง่ายขึ้น และไข่ไก่ที่ได้มีสีแดงสดน่ากิน ผู้บริโภคก็ชอบ ที่สำคัญเกษตรกรผู้เลี้ยงก็สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

Advertisement

ข้อแนะนำ : กรณีที่เลี้ยงไก่ไข่ไม่มาก หรือปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติก็สามารถใช้วิธีการตัดเป็นแว่นๆ แล้วโยนให้ไก่จิกกินในช่วงเช้า แต่ถ้าเลี้ยงแบบเชิงพาณิชย์เป็นโรงเรือนให้ใช้วิธีการสับให้ละเอียดหรือบดผสมกับอาหารไก่ไข่ (อัตราส่วน หยวกกล้วยสับ 0.5 ส่วน : อาหารไข่ไก่ 1 ส่วน) ใส่ในรางอาหารให้ไก่ไข่กินในช่วงเช้า และควรทำครั้งต่อครั้ง ไม่ควรทำเก็บไว้

อาหารเสริมไก่ไข่จากธรรมชาติ สูตรลดต้นทุน ไข่ดก ฟองใหญ่ ทำง่าย
อาหารเสริมไก่ไข่จากธรรมชาติ สูตรลดต้นทุน ไข่ดก ฟองใหญ่ ทำง่าย

การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี

สายพันธุ์ไก่ไข่ที่นิยมเลี้ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ ไก่โรดไทย (Rhode Thai) ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ (DLD Layer Hen) และไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร ปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจเลี้ยงในพื้นที่บ้านของตัวเองมากขึ้น โดยผู้ที่เริ่มเลี้ยงระยะแรกไม่ได้มองว่าจะต้องจำหน่ายไข่จนเกิดรายได้ เพียงแต่เลี้ยงไก่จำนวนที่น้อยอยู่ที่ 5-10 ตัวเท่านั้น

เพื่อให้มีไข่ไว้บริโภคภายในครัวเรือน แต่เมื่อผลผลิตเริ่มมีมากขึ้นจึงทำให้การจำหน่ายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรายได้ ส่งผลให้จากเดิมที่เลี้ยงไก่ไข่แค่พอไว้บริโภค กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เป็นเกษตรกรเต็มตัว และต่อยอดการทำเกษตรให้ครบวงจรมากขึ้นตามไปด้วย

การเลือกไก่ไข่เข้ามาเลี้ยงภายในฟาร์ม ควรเลือกลูกไก่ไข่ที่มีอายุ 3-5 วัน มาทำการอนุบาลโดยกกในสุ่มที่มีผ้าปิดมิดชิดเพื่อให้ลูกไก่ไข่ได้รับความอบอุ่น ในระยะนี้ให้ลูกไก่กินอาหารสำเร็จรูปเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นปล่อยมาเลี้ยงในโรงเรือนที่มีขนาดยาว 12 เมตร และความกว้าง 4 เมตร พร้อมกับรอบๆ โรงเรือนมีพื้นที่เดินเล่นให้กับไก่ไข่ เลี้ยงต่อไปอีก 3-4 เดือนไก่ไข่ก็จะเริ่มโตจนสามารถออกไข่ได้

อาหารไก่ควรให้อาหารวันละ 2 รอบ เช้า-เย็น เช้า 08.00-08.30 น. เย็น 16.30 น. ไก่ไข่จำเป็นต้องให้เป็นเวลาเพื่อให้ออกไข่สม่ำเสมอ ส่วนการประหยัดต้นทุนอาหาร เกษตรกรบางท่านก็จะนำพืชผักสวนครัวที่ปลูก หรือวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นมาให้ไก่กิน รวมไปถึงของที่เหลือจากครัวเรือนอย่างเศษอาหาร ก็สามารถนำมาให้ไก่กินได้ด้วยเช่นกัน 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ศูนย์เรียนรู้ ตำบลดงมหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย / รักบ้านเกิด