เชิญร่วมงานเกษตรแฟร์ ปี 67 ในคอนเซ็ปต์ “นวัตกรรมนนทรี แก้วิถีโลกรวน” ระหว่างวันที่ 2-10 ก.พ. 67 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 พร้อมด้วย ผศ.ดร.นุชนาถ มั่งคั่ง รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน ประธานอนุกรรมการฝ่ายตลาดนัดและสิทธิประโยชน์ รศ.ดร.จีมา ศรลัมพ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืนและสื่อสารองค์กร ผู้แทนประธานอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมนิสิต ร่วมในการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการจัดงานเกษตรแฟร์ในปีนี้ มุ่งเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยออกสู่สังคม เปิดการเรียนรู้ให้กับนิสิต บุคลากร และอาจารย์ โดยใช้งานเกษตรแฟร์ เป็นห้องปฏิบัติการภาคสนามเพื่อถ่ายทอดความรู้ทุกมิติจากห้องเรียน ช่วยเหลือสังคมประชาชน เป็นช่องทางในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กลับไปสู่ชุมชนและสังคม สร้างความสุขให้กับครอบครัว การจัดงานในปีนี้ มุ่งยกระดับงานเกษตรแฟร์สู่สากลเป็นปีที่ 2 โดยได้รับการตอบรับจากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ 15 ประเทศ นำสินค้าพื้นเมือง สินค้าท้องถิ่นมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างคับคั่ง ซึ่งงานเกษตรแฟร์ปี 2567 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมนนทรี แก้วิถีโลกรวน” ระหว่างวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 9 วัน 9 คืน ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
สำหรับพื้นที่การจัดงานในปีนี้เริ่มต้นตั้งแต่บริเวณหอประชุมใหญ่ ประตูพหลโยธิน ไปจนถึงบริเวณประตูวิภาวดีรังสิต แบ่งออกเป็น 14 โซน จำนวน 1,700 ร้านค้า ประกอบด้วยร้านค้านิสิต 286 ร้านค้า ร้านอาหารนิสิต 15 สโมสรนิสิต และ 1 ชมรม นอกจากนี้ ทุกคณะ และสถาบัน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังจัดแสดงผลงานและถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน ในโชน H 2 บริเวณหน้าอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ รวมทั้งด้านบนอาคารจักรพันธ์พ็ญศิริ และบริเวณที่ตั้งคณะที่มีเส้นทางผ่านตลอดการจัดงานเกษตรแฟร์ นับเป็นการพลิกฟื้นบรรยากาศการจัดงานเกษตรแฟร์แบบดั้งเดิมให้ทุกท่านได้มาสัมผัสผลงานนวัตกรรม สอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้จากอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตโดยตรง ประกอบด้วย การจัดแสดผลงานวิจัยนวัตกรรมของ มก. การจัดแสดงนิทรรศการของคณะ สำนัก สถาบัน อาทิ
พันธุ์ข้าวลดโลกร้อนและข้าวโภชนาการสูง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ (11F09) เป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ปรับปรุงล่าสุด ทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ความเป็นพิษของธาตุเหล็ก และอุณหภูมิสูง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ เป็นข้าวสีม่วงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ข้าวหุงสุกมีความนุ่ม และมีกลิ่นหอม นอกจากนี้ ยังมี ข้าวสีเพื่อสุขภาพ สายพันธุ์ใหม่ “KU80 นิลกาฬ” ข้าวเจ้าที่ไม่ไวต่อช่วงแสง มีปริมาณอะมิโลสต่ำ ร้อยละ 15.23 ส่วนพืชผักพันธุ์ใหม่รับภาวะโลกรวน ได้แก่ กล้วยปากช่อง KU 46 เป็นกล้วยน้ำว้าลูกผสมพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และรองเท้านารีอินทนนท์ลูกผสม เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ด้วยวิธีผสมเกสรตั้งแต่ ปี 2555 ไม้ดอกสายพันธุ์ดีของสถานีวิจัยดอยปุย เปิดตัวครั้งแรกในงานเกษตรแฟร์ ปี 2567
การประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม TGDA Awards 2024 นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดให้มีการประกวดพืชและสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ การประกวดไม้ประดับ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดแพะ และ การประกวดกล้วยไม้ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี การประกวดกล้วยไม้ตัดดอก การประกวดผลไม้ และ การประกวดปลากัด ทั้งนี้ ตลอด 9 วัน ของการจัดงานเกษตรแฟร์ จะมีการสาธิต การอบรมให้ความรู้ ให้คำปรึกษาในองค์ความรู้ต่างๆ ของศาสตร์แห่งแผ่นดิน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย กลุ่มร้านค้านิสิต การแสดงศิลปและวัฒนธรรม ดนตรี นาฏศิลป์ และการจำหน่ายสินค้ากลุ่มร้านค้าตลาดนัดสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกร ตลาดน้ำสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ดจากผู้ประกอบการ