กรมประมง กำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ รอบปีประมง 2567-2568 ระหว่างวันที่ 1-29 ก.พ. 2567

กรมประมงแจ้งประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของเรือประมง ที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป ที่มีความประสงค์จะทำการประมงพาณิชย์ ในรอบปีการประมง 2567-2568 มายื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 1-29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ กรมประมง หรือที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่มีอาณาเขตติดทะเล ทั้งนี้ ขึ้นรอบปีการประมงใหม่ เริ่มวันที่ 1 เมษายน 2567 หากเรือประมงลำใดออกไปทำประมงโดยที่ไม่มีใบอนุญาตจะไม่สามารถออกทำการประมงได้

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเรือประมงพาณิชย์ที่อยู่ในระบบใบอนุญาตทำการประมงพณิชย์ จำนวน 9,310 ลำ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีผลผลิตที่ได้จากการทำประมงพาณิชย์มากกว่า 1 ล้านตัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 40,000 ล้านบาท ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืนด้วยการกำกับ ควบคุม และดูแลการทำประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (ค่า MSY) ตามข้อกำหนดในมาตรา 19 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งในการออกไปทำการประมงอย่างถูกกฎหมาย เรือประมงจะต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่ออกโดยกรมประมง สามารถทำการประมงได้ตามปีการประมง (โดยใบอนุญาตฯ มีอายุปีการประมง 2 ปี) และขณะนี้ใบอนุญาตทำการประมงเดิมจะหมดอายุลงในวันที่ 31 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ได้กำชับให้กรมประมงเร่งดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพให้แก่พี่น้องชาวประมง

ดังนั้น กรมประมงจึงออกประกาศ เรื่อง กำหนดห้วงเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2567-2568 ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 10 มกราคม 2567 แจ้งให้ผู้ที่ประสงค์จะทำการประมงพาณิชย์ ในปีการประมงใหม่ มายื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ได้ที่ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ กรมประมง หรือที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่มีอาณาเขตติดทะเล ในระหว่างวันที่ 1-29 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับชนิดเครื่องมือทำการประมง ขนาดเรือ (ตันกรอส) และจำนวน/ขนาดของเครื่องมือทำการประมงที่สามารถขอรับใบอนุญาตใช้ทำการประมงพาณิชย์ได้มี ดังนี้

1. อวนลากคู่ เรือทุกขนาด อวนลากคู่ ความยาวคร่าวล่าง ไม่เกิน 100 เมตร
2. อวนลากแผ่นตะเฆ่ เรือทุกขนาด ความยาวคร่าวล่าง ไม่เกิน 60 เมตร
3. อวนลากคานถ่าง เรือทุกขนาด จำนวนอวน ไม่เกิน 8 ปาก
4. อวนล้อมจับ เรือทุกขนาด ความยาวคร่าวบน ไม่เกิน 2,500 เมตร
5. อวนล้อมจับปลากะตัก เรือทุกขนาด ความยาวคร่าวบน ไม่เกิน 1,000 เมตร
6. อวนครอบปลากะตัก เรือทุกขนาด ความยาวคร่าวล่างทั้ง 4 ด้านรวมกันไม่เกิน 200 เมตร
7. อวนช้อน/ยกปลากะตัก เรือทุกขนาด ความยาวคร่าวบนทั้ง 4 ด้านรวมกันไม่เกิน 120 เมตร
8. เรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) เรือทุกขนาด 1 หน่วย/1 ลำ
9. อวนครอบหมึก เรือทุกขนาด ความยาวคร่าวล่างทั้ง 4 ด้าน รวมกันไม่เกิน 150 เมตร
10. อวนช้อนปลาจะละเม็ด เรือทุกขนาด คร่าวรอบปากอวนทุกด้านรวมกันไม่เกิน 500 เมตร
11. อวนติดตา เรือตั้งแต่ 10-29.99 ตันกรอส ความยาวเชือกคร่าวบนรวมกันไม่เกิน 15,000 เมตร
เรือตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ความยาวเชือกคร่าวบนรวมกันไม่เกิน 28,000 เมตร
12. อวนรุนเคย เรือทุกขนาด ความยาวคร่าวล่าง ไม่เกิน 60 เมตร
13. คราดหอยลาย เรือทุกขนาด 1 หน่วย/1 ลำ
14. คราดหอยแครง เรือทุกขนาด 1 หน่วย/1 ลำ
15. คราดหอยอื่น เรือทุกขนาด 1 หน่วย/1 ลำ
16. ลอบปลา เรือตั้งแต่ 10-29.99 ตันกรอส ไม่เกิน 200 ลูก
เรือตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ไม่เกิน 300 ลูก
17. ลอบปู เรือตั้งแต่ 10-29.99 ตันกรอส ไม่เกิน 3,500 ลูก
เรือตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ไม่เกิน 4,500 ลูก
18. ลอบหมึก เรือตั้งแต่ 10-29.99 ตันกรอส ไม่เกิน 320 ลูก
เรือตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ไม่เกิน 400 ลูก
19. ลอบหมึกสาย เรือตั้งแต่ 10-24.99 ตันกรอส ไม่เกิน 20,000 ลูก
เรือตั้งแต่ 25 ตันกรอสขึ้นไป ไม่เกิน 27,500 ลูก
20. เบ็ดราว เรือทุกขนาด ไม่เกิน 50 สาย
21. แผงยกปูจักจั่น เรือทุกขนาด ไม่เกิน 500 สาย
22. เบ็ดมือ เรือทุกขนาด 1 หน่วย/1 ลำ
23. เครื่องมืออื่น

โดยผู้มาขอรับใบอนุญาตจะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ ได้แก่
(1) แสดงบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ (ที่ยังไม่หมดอายุ)
(2) หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการประมง ซึ่งออกให้ไม่เกิน 3 เดือน (กรณีที่เป็นนิติบุคคล)
(3) หนังสือมอบอำนาจ พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ และแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีที่มีการมอบอำนาจ)
(4) หนังสือยินยอมให้ใช้เรือประมง (กรณีที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมหรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่ขอรับใบอนุญาต)
(5) ภาพถ่ายหรือภาพถ่ายดิจิทัลของเรือประมง โดยถ่ายไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 3 รูป ดังนี้
(5.1) ภาพอัตลักษณ์เรือที่เห็นชัดเจน จำนวน 1 รูป
(5.2) ภาพหัวเรือที่เห็นชื่อเรือ ทะเบียนเรือ (กรณีที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์อยู่เดิมจะต้องมีเครื่องหมายประจำเรือปรากฏอยู่ในภาพถ่ายด้วย) จำนวน 1 รูป
(5.3) ภาพถ่ายเรือเต็มลำด้านซ้ายหรือขวา จำนวน 1 รูป
(6) หลักฐานและเอกสารอื่นที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการยื่นคำขอ

ซึ่งเจ้าหน้าที่ในแต่ละอำเภอจะได้ตรวจความถูกต้องของคำขอและเอกสารให้เรียบร้อย พร้อมบันทึกข้อมูลลงในระบบ e-license ให้เสร็จสิ้นก่อนปิดรับคำขอ ซึ่งเมื่อกรมประมงพิจารณาเสร็จสิ้นจะส่งผลการพิจารณาให้ประมงอำเภอท้องที่เพื่อแจ้งผลให้ผู้ที่ขออนุญาตทราบก่อนถึงปีการประมงใหม่ เพื่อที่เรือประมงพาณิชย์จะได้สามารถออกทำการประมงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง

อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า หากผู้ใดออกไปทำประมงทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและทะเลฝั่งอันดามัน โดยไม่มีใบอนุญาตทำการประมง จะมีบทกำหนดโทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ทั้งทางอาญาและมาตรการทางการปกครอง ดังนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ที่ใช้เรือประมง ที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป และประสงค์จะทำประมงพาณิชย์ มาดำเนินการตามขั้นตอนและวันเวลาตามที่ทางราชการได้แจ้งไปและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อีกทั้ง การขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในปีนี้ กรมประมงได้เปิดโอกาสให้ชาวประมงที่เรือประมงซึ่งมีใบอนุญาตทำการประมง แต่เรือประมงเกิดความชำรุด ทรุดโทรม หรือเรือจม อับปาง สามารถนำเรือประมงลำอื่นมาขอรับใบอนุญาตแทนได้

รวมทั้ง ผู้ที่เคยมีลักษณะต้องห้ามในการได้รับอนุญาต หากสิ้นสุดลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดแล้วก็สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้ หรือผู้ที่ประสงค์จะเปลี่ยนพื้นที่ทำการประมง หรือเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงข้ามกลุ่มสัตว์น้ำก็สามารถยื่นคำขอได้ ซึ่งหากไม่กระทบกับปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่จะอนุญาตให้ทำการประมงได้ตามที่คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติเห็นชอบ กรมประมงก็จะอนุญาตให้ทำการประมงตามที่ประกาศได้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพทำการประมงตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ กรมประมงได้เปิดคลินิกประสานงานการขอรับอนุญาตทำการประมง เพื่อให้พี่น้องชาวประมงสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยสามารถสแกน QR-Code เข้าร่วมกลุ่มไลน์ได้ หรือ ติดต่อสอบถามเพิ่มได้ที่ กลุ่มทะเบียนและอนุญาตทำการประมง กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทร. 02-561-2341, 082-649-7981, 064-695-3360 สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอที่มีอาณาเขตติดทะเล