ประกาศแล้ว!!! กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ มุ่งปลูกจิตสำนึกการใช้น้ำ/สทนช. ยันไม่กระทบกลุ่มใช้น้ำขนาดเล็กและเกษตรกร

หลังจาก ครม. ไฟเขียวกฎกระทรวงเก็บค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และ 3 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว สทนช. เผยประชาชนและเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในประเภทที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ แต่จะใชเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำปลูกจิตสำนึกให้รู้คุณค่าน้ำและการใช้น้ำอย่างประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีได้ เห็นชอบกฎกระทรวงภายใต้ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จำนวน 5 ฉบับได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย กฎกระทรวงที่เสนอโดย สทนช. 3 ฉบับ คือ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. 2567 กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สอง และใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. 2567 และกฎกระทรวงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ การเรียกเก็บ ลดหย่อน และยกเว้นค่าใช้น้ำ สำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. 2567

ส่วนอีก 2 ฉบับเสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานและไม่ใช่น้ำบาดาล พ.ศ. 2567 และกฎกระทรวงการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. 2567

สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว ได้กำหนดลักษณะการใช้น้ำไว้ 3 ประเภท คือ การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การใช้น้ำประเภทที่สอง เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลัง งานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และ การใช้น้ำประเภทที่สาม เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ซึ่งเป็นการใช้น้ำของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ แต่ผู้ใช้น้ำจะต้องให้ข้อมูลแก่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจะได้รวบรวมจัดส่งให้ สทนช. นำไปวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในภาพรวม เพื่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำด้านอุปทานให้สอดคล้องกับอุปสงค์ต่อไป

ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกพืชต่างๆ หรือแม้กระทั่งการทำนาปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากกฎกระทรวงดังกล่าว ยกเว้นการใช้น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ยังคงต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล และบางกิจการที่ใช้น้ำบาดาลอาจต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาก็มีการชำระค่าใช้น้ำบาดาลอยู่แล้ว

ส่วนการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม จะต้องยืนคำขอรับใบอนุญาตพร้อม “แผนบริหารจัดการน้ำ” ต่ออธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณีว่าทรัพยากรน้ำที่ใช้นั้น หน่วยงานไหนรับผิดชอบในทุกๆ 5 ปี การยกเว้นค่าใช้น้ำในบางกิจการเช่นกัน เช่น การผลิตน้ำเพื่อให้บริการด้านอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนของหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เฉพาะกรณีที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อชั่วโมง การผลิตน้ำดื่มสำหรับบริโภคในโรงเรียน การใช้น้ำในโรงพยาบาล เป็นต้น ดังนั้น ประปาหมู่บ้านที่ให้บริการประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดหรือประปาภูเขาที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่สูง ที่ผลิตน้ำประปาให้บริการโดยไม่ได้แสวงหากำไร ก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าใช้น้ำ

สำหรับอัตราค่าใช้น้ำในเขตชลประทาน เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน ซึ่งกำหนดค่าชลประทานในอัตรา 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานและไม่ใช่น้ำบาดาลหมายว่าด้วยการชลประทาน พ.ศ. 2567 ซึ่งกำหนดไว้ในอัตรา 0.373 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร เนื่องจากเป็นการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่อาจไม่มีต้นทุนค่าก่อสร้าง ทำให้สามารถจัดหาน้ำได้ในราคาที่ถูกกว่า ส่วนค่าใช้น้ำบาดาล ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล

“กฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูก ภายใต้ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและกลไกในการบริหารจัดการน้ำ สร้างจิตสำนึกให้ผู้ใช้น้ำรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ การใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคิดวางแผนการใช้น้ำอย่างครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อความมั่นคงในการใช้น้ำอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในที่สุด