“ปากช่อง KU 46” กล้วยน้ำว้าลูกผสมพันธุ์ใหม่ เนื้อแน่นฟู หวานติดเปรี้ยว

กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 เป็นหนึ่งในนวัตกรรมพันธุ์พืชคุณภาพดีเพื่อการค้าที่ได้รับความนิยมตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เกิดจากวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์กล้วยลูกผสมของสถานีวิจัยปากช่อง หน่วยงานในสังกัดคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในปีนี้ สถานีวิจัยปากช่อง เตรียมเปิดตัวกล้วยน้ำว้าลูกผสมพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย เรียกว่า “ปากช่อง KU 46” ในงานเกษตรแฟร์ 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ 2567 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

นวัตกรรมกล้วยปากช่อง KU 46 เป็นผลงานของ นางกัลยาณี สุวิทวัส นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถานีวิจัยปากช่อง ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร (โทร. 089-844-6293) ผศ.ดร.ราตรี บุญเรืองรอด สังกัด ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน และ ผศ.ดร.น้องนุช ศิริวงศ์ สังกัด ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร

อาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส นักวิจัยชำนาญการพิเศษ สถานีวิจัยปากช่อง

กล้วยปากช่อง KU 46 มีจำนวนชุดโครโมโซม 4 ชุด เป็นเตตระพลอยด์ ABBB ตรวจวิเคราะห์ชุดโครโมโซมด้วยเทคนิคโฟลไซโตมิทรีเกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ผสมตามธรรมชาติ ระหว่าง กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 (ต้นแม่) กับกล้วยเล็บช้างกุด (ต้นพ่อ) โดยใช้วิธีวิเคราะห์ DNA ค้นหาพ่อพันธุ์ด้วยวิธีวิเคราะห์ข้อมูลสนิปส์ (SNPs)

ลักษณะประจำพันธุ์

กล้วยปากช่อง KU 46 มีลักษณะทรงต้นสูงประมาณ 3-4 เมตร รอบวงลำต้น 80-100 เซนติเมตร ผลผลิตปานกลาง น้ำหนักเครือประมาณ 20-30 กิโลกรัม จำนวนหวี 8-10 หวี ลักษณะผลสั้น ค่อนข้างกลม ขนาดผลใหญ่สม่ำเสมอ จุกผลสั้น ก้านผลยาว ผิวผลสีเขียว เปลือกหนาปานกลาง

กล้วยปากช่อง KU 46 มีลักษณะทรงผลอ้วนกลมน่ารับประทาน

ผลดิบเนื้อผลสีขาวและอมส้มเล็กน้อย ผลสุกเนื้อสีเหลืองอมส้ม เนื้อแน่นเหนียวนุ่ม มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย หากผลสุกงอม จะมีรสหวานมาก (ประมาณ 30% Brix) ลักษณะการเรียงตัวของผลในหวีเป็นระเบียบเหมาะกับการขนส่งบรรจุกล่อง ใช้ในการแปรรูปได้หลายอย่างคล้ายกล้วยน้ำว้าทั่วไป

มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

กล้วยปากช่อง KU 46 มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยพบว่า มีแป้งต้านทานการย่อยผลดิบ 35.34% ต่ำกว่ากล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 แต่มีสารประกอบฟันอลิกในผลดิบ (3.20 mgGAE/g.) และผลสุก (11.33 mgGAE/g.) สูงกว่ากล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 (ผลดิบ 1.71 Nex mgGAE/g., ผลสุก 0.88 mgGAE/g.) เป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกัน กล้วยชนิดนี้ มีสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี ในผลสุก ในขณะที่กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ตรวจไม่พบคุณสมบัติดังกล่าว ดังนั้น กล้วยปากช่อง KU 46 จึงตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ที่ต้องการบริโภคกล้วยผลสดเพื่อสุขภาพ

กล้วยปากช่อง KU 46 มีสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี

กล้วยปากช่อง KU 46 เหมาะสำหรับบริโภคผลสด เนื่องจากมีลักษณะทรงผลอ้วนกลมน่ารับประทาน เป็นไปตามความต้องการข้อผู้บริโภคกล้วยผลสด และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถแปรรูปได้เหมือนกล้วยน้ำว้าทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี กล้วยกวน กล้วยฉาบ กล้วยทอด (กล้วยแขก) กล้วยปิ้ง

ส่วนดอกหรือหัวปลีของกล้วยพันธุ์นี้ ไม่มีรสฝาด สามารถนำมาใช้ทำอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น รับประทานเป็นผักสด คู่กับน้ำพริก ผัดไทย ขนมจีน นำดอกไปแกงเลียง แกงข่าไก่ ยำหัวปลี ลาบหัวปลี ทอดมันหัวปลี ส่วนใบตองสามารถใช้ห่อของได้ และลำต้นสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ ทำเชือกกล้วย ทำกระดาษ ทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น

ปลูกเป็นไม้ผลคู่ครัวเรือน

สถานีวิจัยปากช่อง ชักชวนคนไทยปลูก กล้วยปากช่อง KU 46 เป็นไม้ผลคู่ครัวเรือน เพื่อเป็นเสบียงคู่ครัวและเป็นอีกหนึ่งผลไม้ทางเลือกของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคกล้วยผลสด เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นทั้งอาหารและยาในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ กล้วยปากช่อง KU 46 ยังสามารถเพิ่มมูลค่าการผลิตกล้วยในทางการค้าให้กับเกษตรกรได้อย่างดีในอนาคต