เผยแพร่ |
---|
ปัจจุบันในไทยมีเพียง 3 จังหวัดที่สามารถปลูกแมคคาเดเมียได้ มีเชียงใหม่ เชียงราย และเลย ซึ่งเกษตรกรมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแมคคาเดเมีย โดยผลแมคคาเดเมียจะถูกกะเทาะเปลือกออกแล้วนำส่วนที่เป็นเนื้อภายในไปขาย ทำให้มีเปลือกแมคคาเดเมียเหลือทิ้งจำนวนมาก
ตลาดแมคคาเดเมียเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มผู้รักสุขภาพ ปัจจุบัน แมคคาเดเมียกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหมที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทุกวันนี้เกษตรกรไทยเริ่มหันมาสนใจปลูกแมคคาเดเมียกันอย่างกว้างขวางทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย มัธยัสถ์ถาวร ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต เปิดเผยว่า กะลาแมคคาเดเมียเป็นเศษเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปแมคคาเดเมีย ซึ่งมีศักยภาพที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ ซึ่งถ่านจากเปลือกแมคคาเดเมียมีความหนาแน่นรวมของถ่านน้อย มีรูพรุนสูง สามารถนำมาทำเป็นถ่านกัมมันต์ได้
จึงได้พัฒนาทดสอบกระบวนการและสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตแท่งเชื้อเพลิง และนำเศษวัสดุเหลือทิ้งดังกล่าวมาผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพและอัดแท่งให้เป็นแท่งเชื้อเพลิง โดยผ่านกระบวนการ Torrefaction ซึ่งเป็นกระบวนการปรับปรุงคุณภาพของชีวมวลในด้านของคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีแบบวิธีความร้อน-เคมี (thermo-chemical conversion)
ถ่านแมคคาเดเมียสามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งดูดกลิ่น ดูดสารพิษ เร่งให้ข้าวหรืออาหารสุกเร็วขึ้น ต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาบน้ำและบำรุงผิว เป็นสบู่ได้อีกด้วย
การผลิตของถ่านแมคคาเดเมีย ทำได้โดยนำเปลือกถั่วแมคคาเดเมียที่เหลือทิ้งในกระบวนการผลิตมาเผาด้วยกรรมวิธีที่เฉพาะ ก็จะได้ถ่านแมคคาเดเมียซึ่งเป็นขยะเหลือทิ้งที่มีประโยชน์ โดยผ่านกระบวนการ Torrefaction ถือได้ว่าเป็นกระบวนการไพโรไรซิสอย่างอ่อน มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดความชื้นและสารอินทรีย์ที่ระเหยได้ออกจากชีวมวล ซึ่งตัวแปรที่สำคัญอีกหนึ่งตัวแปร คืออัตราการให้ความร้อนของกระบวนการ Torrefaction จำเป็นต้องมีการให้ความร้อนอย่างช้าๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแข็งมากที่สุด
เปลือกกะลาแมคคาเดเมียมีเนื้อกะลาที่แข็งมาก และมีไขมันของแมคคาเดเมียอยู่ในเปลือกกะลา จึงทำให้ถ่านแมคคาเดเมียไฟแรง ติดทนนานกว่า 2 ชั่วโมง ไร้ควัน ใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารได้ ปิ้งย่างได้ดี เพราะให้ความร้อนสูง มีขี้เถ้าน้อย ไม่แตกสะเก็ดไฟระหว่างเผาไหม้ และไม่มีก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพระเหยออกมา หรืออาจนำไปวางไว้ใต้ต้นไม้ช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดินได้
อีกทั้งยังพัฒนาเครื่องมาเพื่อให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน แล้วมาใช้เครื่องเราได้ ภายใต้การสนับสนุนของ วช. หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย มัธยัสถ์ถาวร ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต