รถเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังครบวงจร ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ลดใช้แรงงาน

มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีปริมาณแป้งสูง (Carbohydrate-rich crops) เป็นวัตถุดิบสำคัญใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมเอทานอล อุตสาหกรรมอาหาร และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตแอลกอฮอล์ กรดมะนาว เครื่องนุ่งห่ม ยา กระดาษ และเคมีภัณฑ์ ฯลฯ ทำให้แนวโน้มความต้องการมันสำปะหลังในตลาดโลกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ขณะที่ประเทศไทยผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 23-24 ล้านตัน เกษตรกรไทยจะเริ่มปลูกมันสำปะหลังตั้งแต่เมษายนเป็นต้นไป และเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลัง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม โดยมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากสุดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปีซึ่งการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในปัจจุบันยังคงใช้แรงงานในการเก็บเกี่ยวเป็นหลัก โดยการตัดส่วนลำต้นออกแล้วขุดด้วยจอบหรือใช้คานงัด หรือใช้ผาลขุดติดท้ายแทรกเตอร์เพื่อช่วยทุ่นแรง หลังจากนั้นก็จะสับหัวมันออกจากเหง้าซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ได้มีการออกแบบเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังแบบถอนเหง้ามันสำปะหลังขึ้นจากพื้นดินแบบต่อพ่วงรถแทรกเตอร์พบว่า ยังมีข้อจำกัดในส่วนของการทำงานและเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังถูกออกแบบติดตั้งบริเวณด้านท้ายของรถแทรกเตอร์ซึ่งมีผลต่อการกลับหัวงานที่ใช้ต้องเวลาค่อนข้างมาก รวมถึงพนักงานขับไม่สามารถควบคุมเครื่องมือและรถแทรกเตอร์ได้ไม่สะดวก

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงมุ่งพัฒนารถเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังต้นแบบที่สามารถเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังได้อย่างครบวงจรและสามารถแก้ไขการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงาน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

ผลจากการทดสอบสมรรถนะการทำงานของรถเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังครบวงจรพบว่า ความเร็วการเคลื่อนที่ในการทำงานเฉลี่ย 1.72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 5.23 ลิตรต่อชั่วโมง ความสามารถการทำงาน 1.17 ไร่ต่อชั่วโมง และความสูญเสียหัวมันสำปะหลังรวมทั้งหมดเฉลี่ย 22.87% โดยแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ การสูญเสียจากการร่วงหล่นบนร่องปลูกเฉลี่ย 14.92% และการสูญเสียจากเหง้ามันสำปะหลังไม่ถูกถอนเฉลี่ย 7.95%

Advertisement

หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณทิตินัย เทียนแย้ม ศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เบอร์โทร. 061-021-8068

Advertisement