กยท. หวั่นปมที่ ส.ป.ก. ทับซ้อนอุทยานฯ สะเทือนสวน 6 ล้านไร่ ฉุดราคาวืดยาง 100 บาท

ยางทุบสถิติ 77 บาทต่อกิโลกรัม ประธาน กยท. หวั่นเหตุปมพื้นที่ ส.ป.ก. ทับซ้อนอุทยานฯ กระทบราคายางพาราร่วงวืด 100 บาทต่อกิโลกรัม เกรงอียูไม่เชื่อมั่น ชาวสวนยาง 6 ล้านไร่ เคว้ง เข้ามาตรการ EUDR ปลายปี 2567

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากได้ลงพื้นที่ประชุมกับหลายฝ่าย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้สถานการณ์ราคายางพาราปรับขึ้นไปถึง 30 บาท จากราคากิโลกรัมละ 49 บาท เป็น 77 บาท ในช่วงเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ช่วงที่ผลผลิตยางออกสู่ตลาดมากที่สุด แต่ก็ทำให้มีผลให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบ มากถึง 30,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการระบบนิเวศยางพารา

และในช่วงปลายปี 2567 จะมีการบังคับใช้มาตรฐาน Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ซึ่งทาง กยท. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบ โดยจะต้องสามารถรายงานถึงที่มาที่ไปของการซื้อยาง 100% ว่าซื้อจากใคร ซึ่งก็เหมือนบล็อกเชน ถ้ารู้ซื้อจากใครก็ง่ายขึ้น

“เกษตรกร 100 ราย มาร้านรับซื้อร้านหนึ่ง ร้านนั้นก็จะมีข้อมูลของคน 100 รายงานว่ามาจากไหน โรงงานจะรู้ว่ามาจากใคร เป็นบล็อกถูกส่งต่อกันไป ซึ่งหากทำข้อมูลการรายงานที่มาที่ไปของการรับซื้อยางสำเร็จนี่คือการทำ EUDR กลายๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าเรามุ่งไปที่ EUDR เลยคนก็จะตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำ เพราะแน่นอนว่าการทำจะมีต้นทุนแน่นอน”

“การที่จะผลักดันต้นทุน 100% ไปให้เอกชนเลย ทำไม่ได้เราต้องขยับราคาขึ้นไปก่อนเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคมขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้ไปถึงจังหวะปิดกรีด ถือว่าราคาไต่ระดับชันมากแล้ว 49 เป็น 76-77 บาท แต่เราต้องทำเพื่อไปรองรับปลายปี ซึ่งจะมีการบังคับใช้ EUDR ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นเราต้องการตัวเลข 3 หลักไปเจรจาการค้าเป็นพื้นฐาน ที่ผมต้องการทำ ผมบอกจะทำเรื่องนี้ ผมจะอยู่ที่นี่ไม่นาน เพราะผมต้องการจะทำเรื่องที่ท้าทาย”

นายเพิก กล่าวว่า ประเด็นที่มีการกล่าวถึงเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. มีพื้นที่ส่วนหนึ่งทับซ้อนกับที่อุทยานฯ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ผมกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการผลักดันราคายางให้กับเกษตรกร

“เป็นการบ่อนทำลายสิ่งที่เรากำลังจะทำ เพราะอะไรรู้ไหม สวนยางที่อยู่ในที่ดินป่าสงวนฯ ส่วนหนึ่ง อยู่ใน ส.ป.ก. ตามตัวเลขเราประมาณ 6 ล้านไร่ ตอนนี้สิ่งที่ EUDR ต้องการคือความน่าเชื่อถือของผลผลิตคุณว่ามาจากไหนไม่บุกรุกป่า แต่วันนี้สิ่งที่คุณชัยวัฒน์เล่นใหญ่กลายเป็นเอกสารที่ดิน ส.ป.ก. 6 ล้านไร่ไม่น่าเชื่อถือ” แล้วเราจะไปต่ออย่างไร อันนี้ทางอ้อมผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราไปพูดเสียหมดการที่เราจะทำราคา นำคนทั้งโลกจะทำอย่างไร”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/economy/news-1509849