เทคนิคปลูก “ดอกแกลดิโอลัส” ไม้ตัดดอกที่ตลาดต้องการ

แกลดิโอลัส หรือ ซ่อนกลิ่นฝรั่ง เป็นไม้ตัดดอกที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่แอฟริกาใต้ ปัจจุบันมีการปลูกในเชิงธุรกิจไม่น้อยกว่า 3,000 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีสีสวยสะดุดตา ตั้งแต่สีขาว เหลือง ชมพู ส้ม แดง ไปจนถึงสีม่วง แกลดิโอลัสเป็นพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน รูปร่างกลมแป้น มีกาบใบห่อหุ้มไว้และมีรากอยู่รอบหัว หน่อใหม่จะแตกออกจากหัวเดิมแล้วเจริญพัฒนาเป็นต้นใหม่ ต้นที่เกิดใหม่ก็จะสร้างหัวใหม่ขึ้นมาทดแทนหัวเก่า ส่วนที่อยู่เหนือดินคือ ใบ และก้านใบ อัดกันแน่น มีลักษณะคล้ายลำต้น ส่วนใบรูปร่างเรียวยาว คล้ายมีดดาบ เส้นใบขนานกันไปตามความยาวของใบ

แกลดิโอลัสออกดอกเป็นช่อยาว ทั้งนี้ แกลดิโอลัสถูกแบ่งออกได้ 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นประเภทอายุเบา จะออกดอกในฤดูหนาว ประเภทที่สอง ออกดอกในฤดูร้อน แกลดิโอลัสต้องการอุณหภูมิต่ำสุด 10-13 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุด 18-25 องศาเซลเซียส ดังนั้น แหล่งปลูกที่ได้ดอกขนาดใหญ่จึงหนีไม่พ้นจังหวัดทางภาคเหนือของไทย ดินปลูกควรเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 5.8-6.5

พันธุ์แกลดิโอลัสที่นิยมปลูกในปัจจุบัน มีหลากสายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์อาร์เธอร์ แรมค์ และ ดร.เพลมิง ให้ดอกสีชมพู พันธุ์โกลด์ล็อค และซัวเมอร์ จอย ให้ดอกสีส้ม แอตโลติก คริมสัน โลว์ ให้ดอกสีแดงและแดงเข้ม พันธุ์เฟอร์โนมันท์ อาโรเทีย ให้ดอกสีฟ้า และพันธุ์ลอร์ดเนลสัน และไรชิงซัน ให้ดอกสีเหลืองอ่อน และพันธุ์ฟลายอิง วิง สโนว์ ปรินเซส ให้ดอกสีขาวบริสุทธิ์

การขยายพันธุ์ ทำได้ 2 วิธี คือการใช้หัวและเมล็ด วิธีเพาะเมล็ดนิยมใช้เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ เท่านั้น หลังตัดดอก ใบที่เหลือเริ่มแห้งเหี่ยวจะเป็นระยะพักตัวของหัวที่ฝังอยู่ใต้ดิน ให้ขุดนำหัวขึ้นมาผึ่ง ใช้เวลา 2-3 เดือน จึงพ้นระยะพักตัว เมื่อนำปลูกลงแปลง จะเริ่มแตกใบและราก จากนั้นอีก 60-140 วัน แกลดิโอลัสจึงแทงช่อให้ดอกและผลิตหัวใหม่ขึ้นแล้วพัฒนาเป็นหัวที่สมบูรณ์ ส่วนหัวเดิมจะแห้งและฝ่อไปในที่สุด อีก 2 เดือน ขุดดินนำหัวใหม่ใช้สำหรับขยายพันธุ์ต่อไป โดยนำมาเก็บในร่ม หรือในโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี

การเตรียมดินปลูก ควรเลือกแหล่งปลูกที่มีดินเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ไถดะตากดินไว้ 10-14 วัน ครบกำหนดเวลาให้ไถแปรอีก 1-2 ครั้ง เก็บวัชพืชออกจากแปลงให้สะอาด ยกแปลงกว้าง 1.0-1.5 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ ดินที่เป็นกรดให้ใส่ปูนขาว อัตรา 300-500 กิโลกรัมต่อไร่ คลุกเคล้าลงดินในแปลง ปรับผิวแปลงให้เรียบ ปลูกแบบ 2 แถวคู่ 2 คู่ หรือ 4 แถว ระยะห่างระหว่างแถวคู่ที่ 1 และคู่ที่ 2 15 เซนติเมตร เท่ากัน

ส่วนระยะห่างของแถวคู่ที่ 1 และคู่ที่ 2 20 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างต้น ใช้ระยะ 15 เซนติเมตร เปิดหลุมลึก 10-12 เซนติเมตร คัดเลือกหัวที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป นำหัวลงปลูก กลบดินให้ทั่ว ตั้งส่วนแหลมของหัวขึ้น คลุมแปลงด้วยฟางข้าวใหม่และสะอาดรดน้ำตาม ต้นอ่อนจะแทงยอดสูงขึ้นเหนือดิน เมื่ออายุ 2 สัปดาห์ มีความสูงประมาณ 25-30 เซนติเมตร ให้ขึงตาข่าย ทำจากเชือกไนลอน ขนาด 20×20 เซนติเมตร เพื่อประคองต้นไว้ไม่ให้ล้ม หมั่นให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ระวังอย่าให้แฉะ โดยเฉพาะระยะแทงช่อดอก อย่าให้ขาดน้ำ เพราะช่อดอกและดอกจะมีขนาดสั้นและเล็กลง การให้ปุ๋ยเคมีแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกใช้ปุ๋ยสูตร 5-10-10 หรือ 15-15-15 สูตรใดสูตรหนึ่ง อัตรา 2 ช้อนชา แบ่งใส่สองครั้ง ครั้งแรกใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก ครั้งที่สอง ใส่ที่โคนต้นหลังปลูกแล้ว 1 เดือน พร้อมกลบโคนและรดน้ำตามทันที การใส่ปุ๋ยช่วงที่สองใส่หลังตัดดอกแล้ว วัตถุประสงค์เพื่อบำรุงหัวพันธุ์ที่เกิดใหม่ด้วยปุ๋ยสูตรและอัตราเดียวกับการให้ปุ๋ยระยะแรก หลังจากตัดดอก และ 2 สัปดาห์ถัดไป จะได้หัวพันธุ์ที่สมบูรณ์

โรคระบาดที่สำคัญคือ โรคหัวเน่า เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง อาการที่พบ ขอบใบเริ่มแห้งและตายก่อนออกดอก โรคชนิดนี้เข้าทำลายที่หัวก่อน ดังนั้น วิธีป้องกันกำจัดที่ดีต้องนำหัวพันธุ์ที่ได้จากแหล่งที่ไม่มีโรคชนิดนี้ระบาดมาก่อน เพื่อความมั่นใจ จึงควรแช่หัวพันธุ์ในไลโซน อัตรา 4 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร เป็นเวลา 4 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย เมื่อพบแสดงอาการเป็นโรคแล้ว ต้องขุดทั้งต้นเผาทำลายทิ้งสถานเดียว

โรคที่พบการระบาดรุนแรงอีกชนิดหนึ่งคือ โรคใบจุด เกิดจากเชื้อราอีกชนิดหนึ่ง การระบาดระยะแรกมักพบมีจุดกลมสีน้ำตาลแดง ขอบแผลมีสีเหลือง ต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้นแล้วร่วงหล่น ผลตามมาจะทำให้ช่อดอกสั้นลง เชื้อโรคชนิดนี้สามารถปนเปื้อนไปกับหัวพันธุ์ ก่อนนำหัวพันธุ์ไปปลูกจึงควรแช่หัวพันธุ์ด้วยสารเคมีที่แนะนำมาแล้วข้างต้น ส่วนการระบาดเมื่อพบระยะแรกให้ฉีดพ่นด้วยไซเนบหรือมาเนบ ตามอัตราแนะนำข้างฉลาก อาการของโรคจะหมดไป

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่พบการระบาดอยู่เสมอเช่นเดียวกัน เพลี้ยไฟเป็นแมลงชนิดปากดูดขนาดเล็กมาก มักเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบเป็นกลุ่ม ทำให้ใบเหี่ยวแห้ง ถ้าเข้าดูดกินที่ดอกจะทำให้ดอกช้ำสีซีดจาง ขายไม่ได้ราคา วิธีป้องกันกำจัดที่ดีจึงควรหมั่นออกตรวจในแปลง ใช้มือจุ่มน้ำและลูบบริเวณใต้ใบ เมื่อพบว่ามีแมลงขนาดเล็กสีน้ำตาลติดมือมาให้ฉีดพ่นด้วยโตกุไธออน ให้ทั่วทั้งช่อดอกและใบ ตามอัตราแนะนำ การระบาดของเพลี้ยไฟจะหมดไปในที่สุด

วิธีตัดดอกแกลดิโอลัส ให้ดอกเมื่อมีอายุ 60-140 วัน หลังปลูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ใช้มีดคมและสะอาดตัดตำแหน่งก้านดอกที่มีใบเหลือไว้อย่างน้อย 4-5 ใบ เพื่อให้สังเคราะห์แสงส่งอาหารไปยังหัว เพราะหากตัดออกทุกใบ จะทำให้หัวใต้ดินมีขนาดเล็ก และไม่สมบูรณ์ นำดอกทั้งช่อแช่ลงในภาชนะใส่น้ำสะอาดทันที รวบรวมปริมาณได้ตามต้องการ ให้มัดรวม มัดละ 10-12 ช่อ เก็บในห้องเย็นและคัดขนาด เตรียมส่งจำหน่ายต่อไป

การเก็บหัวพันธุ์ ระยะเก็บหัวพันธุ์ที่ดีคือ หลังจากตัดดอกแล้ว 30-45 วัน เฉลี่ยขนาดหัวที่ได้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 5 เซนติเมตร ใช้เสียมหรืออุปกรณ์อื่นขุดหัวขึ้นจากดิน หากใบยังเขียวอยู่ยิ่งดี เพราะไม่มีโรคและแมลงศัตรูเข้าอาศัย ตัดใบและรากที่เหลือออก ล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง และแช่ในน้ำยากันเชื้อรา เบนเลทหรือออโธไดโพลาแทนแล้วผึ่งให้แห้ง บรรจุในถุงพลาสติกใส เจาะรูให้อากาศผ่านเข้าออกได้ เก็บในห้องเย็น เตรียมจำหน่ายหรือใช้ปลูกในฤดูต่อไป