ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคเนื้อโคขุน ถือเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ ในอนาคตการเลี้ยงโคเนื้อจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโต เพราะตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อให้กับเกษตรกรไทย เพื่อเป็นทางเลือกในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจากสถิติการเลี้ยงโคเนื้อในประเทศล่าสุด มีทั้งสิ้น 1.4 ล้านครัวเรือน
การยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ จึงได้จัดการเสวนาสร้างความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการเลี้ยงโค จัดขึ้น ณ ห้องประชุม อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน เสวนาในหัวข้อเรื่อง “เลี้ยงโค แก้หนี้ แก้จน ยกระดับคุณภาพชีวิต เกษตรกรไทย”
ล่าสุดในการประชุม ครม. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หรือ กทบ. ได้ทำการส่งเรื่องเข้าไปในที่ประชุม ให้มีการพิจารณาโครงการ “โคแสนล้าน” เพื่อให้โครงการนี้มีการประชาสัมพันธ์ได้อย่างทั่วถึง จึงได้จัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ขึ้น
นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า 20 ปี กับการผลักดันโครงการ “โคล้านตัว” เกิดจากการวางแนวทาง และมุมมองของการที่ได้เติบโตมาในพื้นที่ต่างจังหวัดจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการเลี้ยงโคเนื้อ ส่งผลให้โครงการนี้มีแนวคิดที่อยากจะทำความเข้าใจ โดยอยากให้สังคมเมืองเข้าใจในเรื่องของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคให้มากขึ้น ซึ่งการเลี้ยงโคเนื้อสามารถเลี้ยงได้ทุกครอบครัว หรือถ้าหากมีพื้นที่จำกัดอาจจะไม่เหมาะสมกับบางครอบครัว จะทำการคัดเลือกออกมาให้ได้ประมาณ 1 ล้านครอบครัว เมื่อเลี้ยงได้ครบกำหนด 4-5 ปี จะสามารถสร้างรายได้อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท
โดยกำลังซื้อ 1 ครอบครัวมีประมาณ 3 คน ถ้าสามารถเลี้ยงโคเนื้อได้ 1 ล้านครอบครัว ก็สามารถทำให้เกิดกำลังซื้อได้ถึง 3 ล้านคน ในทางเศรษฐศาสตร์สมมติมีการเลี้ยงโคเนื้ออยู่ที่ 1 ล้านครัวเรือน เป็นเวลาประมาณ 4 ปี GDP จะเพิ่มขึ้นในปีที่ 4 นำเงินไปใช้ได้ประมาณ 1.4 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งในประเทศไทยมีกองทุนหมู่บ้านที่มีสมาชิกอยู่ประมาณ 10 ล้านครอบครัว ก็จะสามารถทำให้ GDP สามารถเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างมาก
“จากการศึกษาและอบรมในเรื่องของงานปศุสัตว์ ต่อไปจะมีปศุสัตว์อาสาเพื่อเป็นลูกมือปศุสัตว์ เพื่อให้ช่วยตรวจสอบในเรื่องของการผสมพันธุ์ เพื่อที่สัตวบาลอาสาเหล่านี้จะสามารถช่วยปศุสัตว์อำเภอ ในแต่ละพื้นที่ที่มีจำนวนน้อย เพราะฉะนั้นในอนาคต การดำเนินการในเรื่องนี้ จะทำความร่วมมือกันต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
สาเหตุที่ต้องให้กองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) เป็นผู้เข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องนี้ เพราะกองทุนหมู่บ้านมีกำลังคนแต่ละครัวเรือน จึงทำให้โครงการนี้จะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนหมู่บ้านในหลายพื้นที่ เพราะแหล่งเงินทุนต่างๆ ที่กองทุนหมู่บ้านมี จะสามารถปล่อยเงินกู้ให้กับประชาชนในพื้นที่สร้างรายได้ต่อไปได้ และที่สำคัญ โครงการนี้เป็นโครงการที่ปลอดภัย
โดยเมื่อเริ่มแรกเดิมทีนั้น โครงการ “โคล้านตัว” กองทุนหมู่บ้านให้มีการกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท สำหรับการซื้อโคเนื้อมาเลี้ยง เมื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านมาช่วยในเรื่องนี้ก็จะช่วยให้การสร้างรายได้จากการทำปศุสัตว์เป็นไปได้อย่างดี พร้อมทั้งนำฟางที่ได้จากการทำนามาเป็นอาหารสัตว์ก็จะช่วยให้ลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรได้อย่างมาก
“สำหรับโคพื้นเมืองที่เลี้ยงทั่วไป สามารถยกระดับในเรื่องของการเลี้ยงได้ โดยทำการนำมาผสมพันธุ์กับสายพันธุ์ที่ดีขึ้น จากนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องทำการบันทึกประวัติอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้สายพันธุ์โคเนื้อที่มี สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงทำให้สายพันธุ์มีการรับรองและสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเมื่อสายพันธุ์โคมีระดับเลือดที่สูงขึ้น ก็จะช่วยให้ใบรับรองสายพันธุ์ แม้เป็นกระดาษแผ่นเดียว แต่ก็สามารถต่อยอดการเลี้ยงโคเนื้อไปในอนาคตได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า อนาคตในเรื่องของการสร้างมาตรฐานให้กับการทำปศุสัตว์นั้น จะต้องทำให้ครบวงจรมากขึ้น โดยทุกคนสามารถมีรายได้จากการเลี้ยงโคเนื้อที่จำหน่ายได้ราคา เลี้ยงได้คุณภาพ มีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อให้การเลี้ยงโคเนื้อเกิดประโยชน์สูงสุด