เฮมพ์ พืชทำเงินชาวไทยภูเขา ปลูกได้ถูกต้องตามกฎหมาย

“เฮมพ์” (Hemp) แท้จริงแล้วคือ “ต้นกัญชง” ที่ใช้เส้นใยมาทอเป็นผืนผ้า เรียกว่า ผ้าทอใยกัญชง แต่ต้นกัญชงถูกจัดให้เป็นพืชเสพติดประเภทเดียวกับกัญชา แต่ความจริงแล้วต้นกัญชงมีสารเสพติดที่ต่ำกว่ากัญชามาก และเป็นพืชที่ปลูกตามวิถีชีวิตของชาวไทยภูเขา มูลนิธิโครงการหลวง ได้รับการสนับสนุนศึกษาวิจัย จนได้สายพันธุ์ที่ปลูกได้ในพื้นที่สูง และเริ่มที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของชื่อพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง จึงได้เปลี่ยนการเรียกชื่อ ต้นกัญชง มาใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า เฮมพ์ (Hemp)

วิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งในอดีต มีการปลูกเฮมพ์กันทุกครัวเรือน เพื่อนำมาใช้ถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม ทำเป็นเชือกมัดสิ่งของ กระสอบป่านบรรจุสิ่งของ สายคันธนูหรือหน้าไม้ ใช้เป็นยารักษาโรค ฯลฯ ในต่างประเทศใช้เฮมพ์ทำเป็นวัตถุดิบของการทำเบาะรถยนต์ เครื่องสำอาง ใช้ทำเสื้อเกราะป้องกันกระสุน และอื่นๆ อีกมากมาย

การปลูกเฮมพ์ในประเทศไทยเริ่มลดลง หลังภาครัฐกำหนดให้กัญชงหรือเฮมพ์ เป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชา จัดอยู่ในกลุ่มพืชเสพติดชนิดหนึ่ง ขณะที่ตลาดมีความต้องการหัตถกรรมผ้าทอจากเฮมพ์จำนวนมาก ผู้ประกอบการจึงสั่งนำเข้าเส้นใยกัญชงจากประเทศลาวแถบด่านบ้านฮวก อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบปัญหาและเห็นความสำคัญของการปลูกและความสวยงามหัตถกรรมผ้าทอจากต้นเฮมพ์ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวไทยภูเขา พระองค์จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมแก่เกษตรกร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้จัดสรรงบประมาณแก่มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กองกำลังพัฒนาที่ 3 และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ ทำการศึกษาวิจัย รวบรวมและคัดเลือกสายพันธุ์เฮมพ์ที่มีสารเสพติดต่ำ วิธีการปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เฮมพ์สามารถปลูกได้และเป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรบนพื้นที่สูงอีกพืชหนึ่ง

มูลนิธิโครงการหลวง ได้แต่งตั้งคณะทำงาน ศึกษาวิจัยรวบรวมสายพันธุ์เฮมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลการศึกษาพบว่า เฮมพ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศบนที่สูงของเมืองไทยได้ ดังนั้น เฮมพ์สายพันธุ์ไทยที่ปลูกและมีคุณภาพเหมาะสมคือ พันธุ์ปางอุ๋ง พันธุ์แม่สาใหม่ พันธุ์ห้วยหอย และพันธุ์วี 50 โดยทั้ง 4 สายพันธุ์ เกษตรกรเป็นผู้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเอง

การปลูกเฮมพ์ให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพที่ดีภายใต้การควบคุม ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมคือเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝนตามปกติ เฮมพ์เป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง สภาพดินต้องมีการระบายน้ำได้ดี เป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย เตรียมพื้นที่ด้วยการถางหญ้าพรวนดิน วิธีการปลูกคล้ายกับการปลูกข้าวโพดหรือพืชไร่ทั่วไป

การปลูกเฮมพ์ของเกษตรกรมักขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ระยะปลูกไม่แน่นอน บางครั้งจะใช้วิธีหว่านเมล็ด โดยปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 15 เซนติเมตร ระหว่างแถว 20 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 5 เมล็ด ถอนหรือแยกให้เหลือ 3 ต้นต่อหลุม จะได้ประมาณ 90 ต้นต่อตารางเมตร หรือใช้วิธีหว่าน จะใช้เมล็ดพันธุ์ ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อไร่

การเก็บเกี่ยวเฮมพ์จะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 75-90 วัน ความสูงประมาณ 2 เมตร หรือก่อนออกดอกเพศผู้ เพราะระยะนี้เส้นใยจะมีความเหนียว เบา และเป็นสีขาว เหมาะสำหรับทำเป็นเส้นใยทอผ้า การเก็บเกี่ยวต้องตัดโคนต้นชิดดิน ลิดใบออกให้หมดเหลือแต่ลำต้น จากนั้นนำไปตากแดด ประมาณ 4-5 วัน แล้วนำมาลอกเป็นเส้นใยจนเป็นเส้นขนาดเล็กที่สามารถนำไปถักทอเป็นผืนผ้า ทุกขั้นตอนการแปรรูปเป็นหัตถกรรมจากเฮมพ์นี้ เป็นกระบวนการที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งสิ้น

ดอกกัญชง

หากใครสนใจการปลูกเฮมพ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 053-328-496-9

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Facebook : ดาวม่าง เสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้าชนเผ่า ผ้าใยกัญชง หากท่านใดสนใจผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง สามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ผ่าน Line : 081-162-1722