เผยแพร่ |
---|
กรมประมง…ขานรับข้อสั่งการ “ธรรมนัส” รัฐมนตรี ก.เกษตรฯ เร่งพัฒนาสัตว์น้ำพันธุ์ดี ยกกุ้งขาว “ศรีดา 1” เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตกุ้งทะเล หลังทดสอบการเลี้ยงผลน่าพอใจ ทนโรคสูง ผลผลิตดี มีกำไร
จากการที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีข้อสั่งการให้กรมประมงเร่งพัฒนาสายพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ โดยใช้หลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย คือ “เกษตรกรต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี”
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงขานรับข้อสั่งการดังกล่าว โดยได้มีแผนในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ด้วยการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์ดี จำนวน 14 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลานิล (จิตรลดา 3, จิตรลดา 4) ปลานิลแดง (เร้ด 1, เร้ด 2, ปทุมธานี 1) ปลาไน (คอม 1) ปลาตะเพียนขาว (ซิลเวอร์ 1 ซี, ซิลเวอร์ 2 เค, ตะเพียนขาวนีโอเมล) ปลายี่สกเทศ (โรห์ 1) ปลานวลจันทร์เทศ (มา 1) ปลาหมอ (ชุมพร 1) กุ้งก้ามกราม (มาโคร 1) และ กุ้งขาวแวนาไม (สิชล 1)
ซึ่งทั้ง 14 ชนิด ดังกล่าวนี้กรมได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำที่ดูแลสัตว์น้ำแต่ละชนิดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศได้ทำการศึกษาปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ต้านทานโรค ให้ผลผลิตสูง พร้อมที่จะกระจายพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพไปสู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมศึกษาพัฒนาสายพันธุ์กุ้งขาวแวนาไมคุณภาพดี อีก 2 สายพันธุ์ คือ “เพชรดา 1” ซึ่งมีลักษณะเด่นเจริญเติบโตดี และ “ศรีดา 1” มีลักษณะเด่นคือ ทนโรค ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์ อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อเตรียมกระจายพันธุ์ไปสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ โดยปัจจุบันได้มีการศึกษาเพาะเลี้ยงในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ ศูนย์วิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของกรมประมง รวมถึงฟาร์มเลี้ยงของเกษตรกร
ล่าสุด ในส่วนของสายพันธุ์ “ศรีดา 1” ซึ่งมีลักษณะเด่นในการทนโรคตายด่วน (EMS-AHPND) ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์และดำรงรักษาสายพันธุ์ ภายใต้ระบบป้องกันทางชีวภาพ (Biosecurity) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช และนำไปเลี้ยงทดสอบในฟาร์มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผลปรากฏว่า มีความทนทานโรค อัตราการรอดตายสูง และเจริญเติบโตดี อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างกำไรให้เกษตรกรได้อีกด้วย โดยชื่อศรีดา 1 (ศรี+ดา) นั้นมีที่มาจากความหมายของพื้นที่ดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทุนในการวิจัยคือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) ซึ่งมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Agricultural Research Development Agency หรือ ARDA
ด้าน นางสิริวรรณ หนูเซ่ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช กรมประมง เปิดเผยถึงรายละเอียดว่า ทางศูนย์ได้ปรับปรุงพันธุ์กุ้งศรีดา 1 แบบคัดเลือกครอบครัวที่ทนโรค EMS-AHPND โดยค่า LC50 ของการทนโรค EMS-AHPND เท่ากับ 1.47 x 105 เซลล์ต่อมิลลิลิตร กระทั่งสามารถดำรงพันธุ์ถึงรุ่น G8 ขณะนี้กุ้งมีอายุประมาณ 90 วัน ผลิตเป็นพ่อแม่พันธุ์ศรีดา 1 จำนวน 2,000 ตัว
ซึ่งมีแผนกระจายพ่อแม่พันธุ์ให้เกษตรกร 1 ราย ในอำเภอสทิงพระ จังหวัสงขลา จำนวน 500 ตัว ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 พ่อแม่พันธุ์ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้เกษตรกรที่มีความต้องการเพิ่มเติม และบางส่วนทางศูนย์จะนำพ่อแม่พันธุ์มาผสมเองเพื่อผลิตลูกพันธุ์ระยะนอเพลียสสำหรับจำหน่าย และนำนอเพลียสมาอนุบาลในโรงเพาะฟักลูกกุ้งของศูนย์ เพื่อจำหน่ายลูกกุ้งระยะ Post larvae ให้เกษตรกร ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567 ด้วย
นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังได้มีการกระจายลูกพันธุ์กุ้งขาวศรีดา 1 ระยะ Post larvae ไปสู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง “ก่อเขตฟาร์ม” ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผลการทดสอบในฟาร์มเลี้ยงของเกษตรกรที่เป็นระบบน้ำหมุนเวียนทุกบ่อไหลเวียนทั้งระบบ โดยเลี้ยงลูกกุ้ง PL18 จำนวน 700,000 ตัว บ่อเลี้ยงเป็นแบบ PE ทั้งบ่อ พื้นที่ขนาด 4 ไร่ เลี้ยงด้วยความเค็มน้ำ 7-10 ppt จนกุ้งมีอายุการเลี้ยง 90 วัน พบว่ากุ้งศรีดา 1 มีอัตราการรอดตาย 70.57 เปอร์เซ็นต์, น้ำหนักเฉลี่ย 19.23 กรัมต่อตัว หรือ 52 ตัวต่อกิโลกรัม ผลผลิตที่ได้ทั้งหมด 9.5 ตัน, คิดเป็นประสิทธิภาพพันธุ์ 13.57 ตันต่อกุ้ง 1 ล้านตัว
อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน (ADG) เฉลี่ย 0.21 กรัมต่อวัน, FCR เท่ากับ 1.29 โดยเกษตรกรใช้ต้นทุนในการผลิตรวม 925,000 บาท สามารถจำหน่ายทำรายได้ถึง 1,615,000 บาท และมีผลกำไร 690,000 บาท (ไม่มีต้นทุนค่าลูกพันธุ์เนื่องจากเป็นบ่อสาธิต) ซึ่งในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อคุณภาพลูกกุ้งในระดับมาก ถึงมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับลูกกุ้งสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยเลี้ยง เนื่องจากกุ้งศรีดา 1 ที่มีความทนทานโรคสูง อัตราการเจริญเติบโตปกติ ผลผลิตดี มีกำไร
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจาก กุ้งขาวแวนาไม สายพันธุ์ “ศรีดา 1” แล้ว กรมประมงยังมีแนวทางในการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์น้ำอย่างครบวงจร
รวมทั้งพัฒนาด้านการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายคือ “เกษตรกรต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี”