มกอช. มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรไทย มุ่งมั่น ส่งเสริม ความยั่งยืน เพื่อเกษตรไทย สู่มาตรฐานสากล

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นอีกหน่วยงานสำคัญที่ช่วยกำหนดในเรื่องของมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้การตรวจสอบมาตรฐานในด้านต่างๆ มีความสอดคล้องกับสากล เป็นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้มาตรฐานมากขึ้น พร้อมทั้งยังมีการทำความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำหนด เครื่องหมาย Q ที่เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่ผ่านการตรวจสอบรับรองความมีมาตรฐานและความปลอดภัย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า มกอช. ถือเป็นหน่วยงานที่ดูแลและดำเนินงานในเรื่องของมาตรฐานสินค้าเกษตร ทำภายพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งครอบคลุมภารกิจหมดทุกด้านที่เกี่ยวกับกระบวนมาตรฐาน พร้อมทั้งมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อส่งเสริมและดูแลให้นำมาตรฐานไปใช้ มีระบบการตรวจสอบมาตรฐานให้เกิดการยอมรับมีความน่าเชื่อถือ และควบคุมกำกับดูแลในเรื่องของการนำเอาเครื่องหมายมาตรฐานหรือใบรับรองมาตรฐานไปใช้ ในเรื่องของการทำตลาดและการสื่อสารให้ถูกต้องต่อผู้บริโภค 

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

ปี 2567 มกอช. ครบรอบปีที่ 21 ซึ่งในปีนี้หน่วยงานมีนโยบายขับเคลื่อน คือ มาตรฐานสินค้าเกษตรไทยเพื่อความปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้สโลแกนที่ว่า “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เป็นแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เเพิ่ม 3 เท่า ภายใน 4 ปี ของรัฐบาลปัจจุบัน  

“เกษตรกรทั้งหมดในประเทศไทยมีประมาณ 30 ล้านคน การที่จะทำให้มีรายได้เพิ่ม 3 เท่า กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำแผนที่กำหนดการดำเนินงาน หนึ่งในนั้นก็คือ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยการจัดทำเป็นตำบลต้นแบบภายใน 4 ปี โดยมีตำบลต้นแบบประมาณ 500 ตำบล ซึ่งทาง มกอช. ก็จะนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและมาตรฐาน องค์ความรู้ต่างๆ เข้าไปสู่ตำบลต้นแบบเหล่านี้ เพื่อให้เป้าหมายภายใน 4 ปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 3 เท่า” 

การคัดเลือกจะเป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่ได้มาจากเกษตรแปลงใหญ่  ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 9,000 กลุ่ม จึงทำการเลือกกลุ่มที่มีความพร้อม เข้ามาเป็นตำบลต้นแบบในการพัฒนา และมีหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามารวมพลังดำเนินการ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมการข้าว ซึ่ง มกอช. จะเป็นหน่วยงานที่เข้าไปสนับสนุนในเรื่องของมาตรฐานให้กับ 500 ตำบลต้นแบบเหล่านี้ 

E – learning เครื่องมือสำคัญ เพื่อเรียนรู้

เข้าสู่กระบวนการมาตรฐานความปลอดภัย 

ในเรื่องของการเรียนรู้เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่มีความปลอดภัยนั้น  นายพิศาล ยังกล่าวอีกว่า การนำระบบ E – learning เข้ามาใช้ถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2566 มีผู้สนใจที่ผ่านการอบรมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย ทำให้มีความรวดเร็วกว่าการสอนด้วยบุคลากรที่เป็นตัวบุคคล จึงทำให้นโยบายนี้ค่อนข้างที่จะตอบโจทย์ 

ระบบ E – learning

“หลักสูตรการอบรม E – learning เราได้พัฒนาแพลตฟอร์มมาตั้งแต่ต้นปี 2566 เรามีหลักสูตรที่จัดทำเสร็จแล้ว พร้อมให้กับเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง สามารถนำเอาไปใช้ในการเรียนด้วยตัวเองได้เลยในระบบออนไลน์ หลักสูตรที่เสร็จแล้วมีอยู่ด้วยกัน 3 หลักสูตร หลักสูตรมาตรฐาน GAP พืชอาหาร เป็นหลักสูตรที่มีเกษตรกรนำเอาไปใช้มากที่สุด รองลงมาคือหลักสูตรเกษตรอินทรีย์ และหลักสูตรที่ 3 หลักสูตรการควบคุมภายในของกลุ่ม เพื่อให้เกษตรกรที่รวมกลุ่มมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น และกำลังมีการพัฒนาหลักสูตรอื่นๆ ต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 10 หลักสูตร” 

โคเนื้อ อีกหนึ่งโมเดลสำคัญ 

เพื่อสร้างรายได้เกษตรกรผู้เลี้ยงโครายย่อย 

การเลี้ยงโคเนื้อให้ได้มาตรฐานและเกษตรกรเกิดรายได้นั้น นายพิศาล เผยว่า มีโครงการต้นแบบอยู่ที่จังหวัดชัยนาท เป็นโปรแกรมที่เรียกว่า “ชัยนาทโมเดล” ซึ่ง มกอช. ได้จัดทำโครงการเพื่อยกระดับฟาร์มโคเนื้อเข้าสู่มาตรฐาน GAP ฟาร์มโคเนื้อ โดยจังหวัดชัยนาทมีเกษตรกรที่ปลูกข้าวจำนวนมาก จึงได้มีการทดลองให้เกษตรกรได้แบ่งพื้นที่จากทำนา มาแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ จะช่วยให้เกษตรกรมีหญ้าเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี 

การเลี้ยงโคเนื้อให้ได้มาตรฐาน
การเลี้ยงโคเนื้อให้ได้มาตรฐาน

โดยหญ้าอาหารสัตว์ที่ปลูกจะต้องมีความสัมพันธ์กับจำนวนโคเนื้อที่เลี้ยง อย่างเช่น เกษตรกรมีการเลี้ยงโคประมาณ 3-4 ตัว อาจจะปลูกหญ้าอาหารสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนในเรื่องของอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี 

“การเลี้ยงโคถ้าต้นทุนลดลง และมีการจัดการที่ดี ก็จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สุดท้ายนอกจากเกษตรกรทำนาแล้ว ก็ยังมีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งทาง มกอช. ก็จะเอามาตรฐาน GAP ฟาร์มโคเนื้อเข้าไปเสริม เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีคุณภาพ มีมาตรฐานมากขึ้น เมื่อพัฒนาเป็นโมเดลที่ชัดเจน ก็จะมีการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบตรงนี้มากขึ้น” 

การผลิตให้ได้ safety คือความปลอดภัย  

ขั้นพื้นฐานของการผลิตที่ดีทางการเกษตร 

นายพิศาล ยังกล่าวต่ออีกว่า มกอช. มีภารกิจเป็นหน่วยงานกลางด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ทำหน้าที่กำหนด ส่งเสริม ควบคุม และดูแลระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค ทั้งในและนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคประชาชน โดยยึดหลัก 3 S

Safety ความปลอดภัยทางอาหาร โดยผ่านกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน safety ตั้งแต่ระดับฟาร์ม มีตั้งแต่มาตรฐาน GAP มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมีความต่อเนื่องไปยังกระบวนการแปรรูป คัดบรรจุ เช่น มาตรฐาน GMP และสืบเนื่องไปถึงผู้บริโภค  

Security ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และคุณค่าทางโภชนาการ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง 

Sustainability เป็นระบบการทำการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ทั้งระบบการผลิต การแปรรูป การจัดจำหน่ายผลผลิต ที่คำนึงและรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมมาตรฐานการผลิตอย่างยั่งยืนตลอดจนการพัฒนางานด้านการมาตรฐาน ตามหลัก BCG Model  

ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ มกอช. จึงได้ออกมาตรฐานมาให้ตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืน  ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การทำเกษตรมีความมั่นคง โดยหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 สินค้า คือ ปาล์มน้ำมันยั่งยืน ฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลยั่งยืน และข้าวยั่งยืน

มาตรฐานข้าวยั่งยืน อีกมาตรการสำคัญ 

ช่วยให้ข้าวไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล 

มกอช. ได้จัดทำมาตรฐานข้าวสินค้าเกษตร เรื่อง ข้าวยั่งยืน (มกษ. 4408-2565) ซึ่งมีสาระสำคัญสอดคล้องกับมาตรฐานการปลูกข้าวที่ยั่งยืนของหน่วยงานเวทีข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform; SRP) และได้ประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 และมีแผนการดำเนินงานพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน ในช่วงปีงบประมาณ 2566-2568 

มาตรฐานข้าวยั่งยืน
มาตรฐานข้าวยั่งยืน

นายพิศาล บอกว่า ในปี 2567 ถือเป็นช่วงเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมที่ปรึกษา ผู้ตรวจประเมิน โดยภาครัฐอย่างกรมการข้าว และหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาคเอกชน สามารถเข้ามาสู่โปรแกรมการตรวจรับรองนี้ โดย มกอช. มีการตั้งเป้าไว้ว่าแผนงานทั้งหมดจะสำเร็จตามเป้าหมายในปี 2567 ทั้งหมด และปี 2568 หน่วยตรวจรับรองจะมีความพร้อมในการตรวจประเมินตามคำขอ  เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองได้รับใบรับรองข้าวยั่งยืนของไทย 

“ถ้ามาตรฐานการตรวจประเมินของไทย มีเป้าหมายหรือเทียบเคียงกับสากล จะทำให้ข้าวที่ผลิตในประเทศไทยได้มาตรฐานที่เทียบเท่ากับระบบสากลอยู่ในประเทศไทยบ้าง สุดท้ายเกษตรกรที่ได้มาตรฐานข้าวยั่งยืนของไทย ก็จะสามารถติดมาตรฐาน SRP สากลในการทำการค้าได้อีกหนึ่งช่องทาง เพราะมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ห้างร้าน หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตรู้จักอย่างดี ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นอย่างยุโรป หรืออเมริกา” 

เพราะฉะนั้นในเรื่องของมาตรฐานข้าวยั่งยืน นายพิศาล ทิ้งท้ายว่า หากเกษตรกรได้มาตรฐานเหล่านี้ติดอยู่บนสินค้า ก็จะช่วยให้สินค้าของเกษตรกรเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคภายในประเทศมากขึ้น และสามารถทำทิศทางตลาดในประเทศได้อย่างดี และถ้าหากมีมาตรฐานที่เท่าเที่ยมกับมาตรฐานสากล ก็จะยิ่งทำให้สินค้าข้าวยั่งยืนที่มีมาตรฐาน SRP เท่าเทียมกับสากล สามารถทำตลาดเป็นสินค้ามูลค่าสูงในระดับต่างประเทศได้