“สวนทุเรียน-มังคุดใต้” ยืนต้นตาย ร้อนแล้งลากยาว 4 เดือน

สวนผลไม้พัทลุง-ตรัง เผชิญวิกฤตร้อน-แล้งจัด ลากยาวติดต่อกัน 4 เดือน กระทบ “ทุเรียน-มังคุด-ยาง-กล้วย” ยืนต้นตาย ชาวสวนรายเล็ก รายกลาง ไม่มีเงินลงทุนขุดสระทำระบบน้ำ จี้หน่วยงานในจังหวัดเร่งช่วยเหลือด่วนก่อนลามเสียหายทั้งจังหวัด

orchard

นายอุดมพร กาญจน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางจังหวัดตรังได้ลงพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูสวนทุเรียนซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ตายยกสวน เพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ เช่น พื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง จากสภาวะฝนแล้งที่ต่อเนื่องมานานหลายเดือน

ประกอบกับอากาศที่ร้อนจัด ได้ส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรหลายแห่งของจังหวัดตรัง รวมทั้งสวนทุเรียน พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งกำลังประสบปัญหาแห้งตายเพราะขาดน้ำ

“เช่น สวนทุเรียนของ นางปณิตา กระแสร์สาร อายุ 59 ปี ที่ได้ปลูกทุเรียนลงไปในพื้นที่ข้างบ้าน 7 ไร่ จำนวน 193 ต้น ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์หมอนทอง และมีสายพันธุ์มูซังคิง ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เม็ดเงินลงทุนไปแล้วหลายแสนบาท”

นายอุดมพร กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรให้ความสนใจหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้นทุกปี โดยล่าสุดในปี 2567 จังหวัดตรังมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 6,744 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 3,729 ไร่ รวมจำนวน 2,416 ตัน อย่างไรก็ตาม จากภาวะฝนที่แล้งต่อเนื่องของปีนี้ เริ่มทำให้มีสวนทุเรียนได้รับผลกระทบบ้างแล้ว

โดยเฉพาะแปลงที่ไม่มีระบบน้ำเพียงพอ หรือพื้นที่ไม่มีฝนตกเลย เช่น อำเภอห้วยยอด อำเภอรัษฎา รวมทั้งอำเภอปะเหลียน โดยเจ้าหน้าที่กำลังเร่งสำรวจและหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

ด้าน นายสุภัทธ คงด้วง เกษตรอำเภอปะเหลียน จังหวัตรัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนเองพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอําเภอปะเหลียน ลงพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เพื่อติดตามแปลงทุเรียนที่ประสบปัญหาจากฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง

โดยแปลงดังกล่าว นางปณิตา กระแสร์สาร 143/2 หมู่ที่ 3 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และมูซังคิง อายุ 6 ปี จำนวน 193 ต้น ซึ่งภายในแปลงมีการขุดสระ ประมาณ 2 งาน ลึก 10 เมตร

แต่ปีนี้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้งมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 น้ำในสระแห้ง ทำให้ต้นทุเรียนขาดน้ำและยืนต้นตายทั้งแปลง สำหรับพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล จากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่พบว่า แปลงอื่นๆ ยังไม่ได้รับผลกระทบ

“ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอปะเหลียน ได้มีการดำเนินการเตรียมรับมือภัยแล้งมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 โดยการแจ้งขอรับบริการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านทางสำนักงานเกษตรจังหวัด มีผลการปฏิบัติการฝนหลวงของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดสงขลา มีฝนตกในพื้นที่อำเภอปะเหลียน จำนวน 5 ครั้ง

และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ประสานไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัด ในการขอรับบริการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงอีกครั้งเนื่องจากมีรายงานความต้องการฝนหลวง ในพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งของเกษตรกร เป็นเนื้อที่ทั้งหมด 4,442 ไร่ เป็นทุเรียน 753 ไร่ โดยแผนปฏิบัติการฝนหลวงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” นายสุภัทธ กล่าว

นายกฤษฎา ลำปัง ประธานกลุ่มมังคุดแปลงใหญ่ตำบลแม่ขรี และเจ้าของสวนผสมผสาน หมู่ที่ 3 บ้านด้านโลด ตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เกิดภาวะแล้ง และร้อนจัดเป็นเวลาเกือบ 4 เดือน ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2567 จนถึงขณะนี้ฝนทิ้งช่วง ได้ส่งผลกระทบต่อสวนผลไม้ สวนยาง ต้นกล้วยเกิดยอดหัก และมีการยืนต้นตาย ทั้งสวนขนาดเล็กและสวนขนาดกลางต่างได้รับความเสียหายยืนต้นตาย

สวนผลไม้

นายกฤษฎา กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรบางรายคาดไม่ถึงว่าจะเกิดภาวะแล้งและร้อนจัดเป็นระยะเวลานาน แม้จะได้มีการเตรียมสระรองรับไว้ก็ตาม แต่เกษตรกรบางรายมีการสำรองน้ำสร้างระบบป้องกันความเสี่ยงได้ดี แต่บางรายเนื่องจากต้นทุนต่ำไม่มีเงินลงทุนในการสร้างระบบน้ำ ขณะที่หลายสวนอยู่ห่างระบบประปา

“นอกจากสวนผลไม้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง กลุ่มเลี้ยงสัตว์ เช่น โคพื้นบ้าน แพะ ประสบกับปัญหาเรื่องหญ้า ใบไม้ ซึ่งเป็นอาหารหลักของสัตว์หายาก เนื่องจากหญ้าและใบไม้ในพื้นที่เกิดการเหี่ยวแห้ง หญ้าเฉาตาย”

นายกฤษฎา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการทำฝนเทียม เพื่อลดความเสียหายต่อผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ

ทางด้านเจ้าของสวนทุเรียนหมู่ที่ 3 บ้านด่านโลด จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ บางพื้นที่เกิดฝนทิ้งช่วงและเกิดภาวะร้อนจัดลากยาว จนส่งผลให้ทุเรียนไม่ออกดอก ส่วนบางพื้นที่มีฝนตกลงมามาก ส่งผลให้ดอกทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มีปริมาณดอกมาก เช่น อำเภอบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน อำเภอกงหรา เป็นต้น

“ต้องรอฝนตกลงมาประมาณเดือนพฤษภาคม จึงจะเห็นผล ทุเรียนจะพึ่งพาน้ำรดเฉพาะโคนต้น มิเช่นนั้นจะไม่ออกผลผลิตเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีน้ำมารดช่วยอย่างเร่งด่วน”

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ