ทส. ปลื้ม พบเสือโครงใหม่! ตัวเต็มวัยนับ 10 ป่าแม่วงก์

‘บิ๊กเต่า’ ปลื้มเสือเพิ่มจำนวนหากินในอุทยานฯ คาด อีเอชไอเอ เขื่อนแม่วงก์ผ่านยาก ยันรัฐบาลไม่ใช้มาตรา 44 นักวิจัยชี้พื้นที่ห้วยขาแข้ง-คลองลาน เหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัย ย้ำไทยเป็นความหวังอาเซียน เพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งเข้าเป้า

เมื่อวันที่ 5 กันยายน โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการป่าไม้ ประจำปี 2560 “รวมพลังรักษ์ป่า ด้วยศาสตร์พระราชา” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านสัตว์ป่าและป่าไม้ จากนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในหลายประเด็น

นายกิตติพัฒนธ์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร และ จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจประชากรเสือโคร่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พบเสือโคร่งใหม่ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว กระจายกันอยู่ทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่จะก่อสร้างเป็นหัวเขื่อนแม่วงก์ พบถึง 2 ตัว ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกประเทศไทย (WWF) โดย น.ส.รุ้งนภา พูลจำปา นักวิจัยของกองทุนสัตว์ป่าโลก ได้เข้าไปสำรวจศึกษาจำนวนของประชากรและพฤติกรรมเสือโคร่งเกือบทั้งหมดได้ขยายพื้นที่หากินมาจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ที่อยู่ในกลุ่มป่าตะวันตกเหมือนกัน

น.ส.รุ้งนภากล่าวว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร และ จ.ตาก เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด เสือจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ชุกชุมที่สุดในประเทศไทย สามารถขยายอาณาเขตการหากินและอยู่อาศัยเข้ามาได้ โดยช่วงประมาณ 6 ปี มีเสือโคร่งตัวเต็มวัยได้ขยายพื้นที่ออกไปยังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ 2 ตัว และสามารถขยายพันธุ์เพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 8 ตัว ในจำนวนนี้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ที่ติดเอาไว้ทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ สามารถบันทึกภาพเสือตัวเต็มวัยเอาไว้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว โดยแต่ละตัวถือว่ามีพื้นที่หากินประจำอยู่ที่นี่

น.ส.รุ้งนภากล่าวว่า มีเรื่องน่าดีใจคือ พบว่าเสือไม่ต่ำกว่ทา 2 ตัว ที่มีลูกอ่อน โดยแต่ละตัวมีลูกอีก 3 ตัว แต่ในหลักการของการวิจัยยังไม่อยากนับลูกอ่อนเหล่านี้ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าแม่เสือจะสามารถเลี้ยงลูกได้รอดหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ชัดเจน ซึ่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก ได้ทำรายงานส่งไปยังสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเรื่องเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

“ถือว่าเวลานี้ประเทศไทยมีความหวังสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่สามารถเพิ่มจำนวนเสือโคร่งในป่าให้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้คือ ร้อยละ 50 ของจำนวนที่มีอยู่ภายในปี 2565 โดยขณะนี้ ประเทศไทยมีจำนวน 250-300 ตัว” น.ส.รุ้งนภากล่าว

ด้าน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ ทส. กล่าวว่า การที่ประชากรเสือโคร่งในป่าตะวันตกเพิ่มขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายของ 13 ชาติ ที่มีเสือโคร่งในโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีปฏิญญาร่วมกันในการเพิ่มจำนวนเสือโคร่งให้ได้ร้อยละ 50 ดังนั้น ประเทศไทยต้องเพิ่มอีกประมาณ 100 กว่าตัว ซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทยทำได้อย่างแน่นอน

“หากเป็นไปตามนี้ ผมคิดว่ารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของเขื่อนแม่วงก์คงจะผ่านลำบาก ส่วนที่มีการพูดกันว่า มีความพยายามในการผลักดันให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 เพื่อสร้างเขื่อนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงไม่ยอม เพราะนายกเป็นนักอนุรักษ์ หลังจากนี้ ทส.โดยกรมอุทยานฯ ต้องทำทุกวิถีทางให้พื้นที่ป่าตะวันตกมีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ห้วยขาแข้ง” พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2560