คลอด ‘ยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย’ พณ.กางเป้า 5 ปี ขึ้นแท่นฮับอาเซียน เฟสแรกสร้างนักรบท้องถิ่นรับ 4.0

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทยเสร็จแล้ว ถือเป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการฉบับแรกของไทย กรอบแผนงานระยะ 3-5 ปี มีเป้าหมายผลักดันเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจบริการอาเซียน เพิ่มรายได้ของภาคบริการ และส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจบริการระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การสร้างนักรบธุรกิจบริการสู่ภูมิภาค แบ่งเป็นคลัสเตอร์ธุรกิจตามทรัพยากรท้องถิ่นและห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจบริการ มุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ค้าส่งค้าปลีก 2. การต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี มุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (นิว เอส-เคิร์ฟ) การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างมาตรฐานการบริการที่มีความน่าเชื่อถือ 3. การเชื่อมต่อธุรกิจบริการไทยสู่ตลาดโลกโดยมุ่งเน้นธุรกิจบริการผู้สูงอายุ และการส่งเสริมเชื่อมสตาร์ทอัพ กับนิว เอส-เคิร์ฟ เและ 4. การยกเครื่องด้านกฎหมายและข้อมูลธุรกิจบริการ โดยจะทำสำมะโนธุรกิจบริการ ทำการสำรวจการประกอบธุรกิจบริการของประเทศไทยในด้านของจำนวน รายได้ ประเภทธุรกิจ และรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างฐานข้อมูลที่มีคุณภาพสำหรับวิเคราะห์ต่อยอดธุรกิจบริการ

นางอภิรดี กล่าวว่า กำหนดเป้าหมาย 2 ลักษณะ คือ 1. ธุรกิจบริการลำดับแรกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (เฟิร์ส เอส-เคิร์ฟ) เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ โรงพยาบาลและที่พักเพื่อสุขภาพ ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ สนับสนุนการค้า ก่อสร้าง และการศึกษา ส่วน 2. ธุรกิจบริการนิวส์ เอส-เคิร์ฟ ได้แก่ ธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม ด้านดิจิทัล บริการต่อยอดนิว เอส-เคิร์ฟในภาคอุตสาหกรรม เช่น ซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ อากาศยาน ยานยนต์ในน้ำและยานยนต์ไร้คนขับ และการผลิตดิจิทัลคอนเท็นต์ นอกจากนี้ไดแบ่งเป็น 6 กลุ่มธุรกิจบริการตามความเหมาะสมกับทรัพยากรท้องถิ่น ได้แก่ 1. บริการทางการแพทย์และสุขภาพ ในภาคเหนือ และภาคกลาง 2. บริการโรงพยาบาลและที่พักเพื่อสุขภาพ ภาคเหนือ และภาคกลาง 3. บริการด้วยความคิดสร้างสรรค์ ภาคตะวันออกและภาคใต้ 4. บริการสนับสนุนการค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคใต้ 5. ก่อสร้าง ภาคกลางตอนบนและภาคอีสาน และ 6. บริการการศึกษา ภาคใต้

นางอภิรดีกล่าวว่า ธุรกิจบริการมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าปี 2558 จีดีพีไทยมีมูลค่า 13,533,596 ล้านบาท โดยมีจีดีพีภาคบริการสูงสุดคิดเป็น 7,841,743 ล้านบาท หรือ 64% ข้อมูลองค์การการค้าโลก ระบุว่าการส่งออกบริการของไทยปี 2558 อยู่ที่อันดับ 21 ของโลก และเลื่อนขึ้นเป็นอันดับ 11 ปี 2559 โดยมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 1.8% ของการส่งออกบริการโลก รองจากสิงคโปร์ อยู่ลำดับ 6 และสูงกว่ามาเลเซียอยู่ลำดับ 18 ส่วนข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า จำนวนธุรกิจบริการจดทะเบียนมากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. การขายส่ง-ปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 2. การก่อสร้าง 3. กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 4. กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 5. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (นำเที่ยว) 6. การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 8. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 9. ศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ และ 10. กิจการทางการเงินการประกันภัย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2560