รองนายกฯ “วิษณุ” ย้ำชัด ฐานการปฏิรูปประเทศไทยต้องใช้การวิจัยเข้าช่วย

ปัจจุบันประเทศไทยขาดกลไกที่จะนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักในมิติต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงขาดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เท่าทันกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีการทบทวนบทเรียนของการพัฒนา และสร้างองค์ความรู้เพื่อปฏิรูปประเทศให้เดินหน้าและหลุดพ้นจากกับดักดังกล่าวที่กำลังประสบอยู่อย่างจริงจัง

ในเวทีมหกรรมวิชาการเพื่อการปฏิรูป ที่จัดโดยคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง (อบป.) ภายใต้คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ  (ปยป.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ “การปฏิรูปเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่าการปฏิรูปประเทศต้องยึดหลั 3 P คือ  1.Purpose 2.Process 3.Participation  โดย 1.Purpose คือ การตั้งวัตถุประสงค์งให้ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนทำไม เปลี่ยนเพื่อเดินไปสู่เส้นทางอะไร 2.Process การปฏิรูปต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน และ 3.Participation หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม กฎหมาย ไม่มีทางสำเร็จถ้าขาดการรับรู้ความเข้าใจ ความร่วมมือ และการยอมรับ เพราะการปฏิรูปทุกชนิดคือการสวนทางความเคยชิน การปฏิรูปจึงต้องสร้างความรับรู้ความเข้าใจทั้ง 3 ฝ่ายนี้ให้ได้

ทั้งนี้การปฏิรูปมีอุปสรรคมาก สิ่งที่ต้องพยายามทำให้ได้คือทัศนคติของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะยินยอมพร้อมใจ ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปลี่ยน โดยแท้ที่จริงแล้วในสมัย ร.5 ท่านส่งตรัสถึงการปฏิรูปประเทศโดยเลือกใช้คำว่า “Government Reform” ที่ไม่ใช่หมายถึงการปฏิรูปรัฐบาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่หมายถึงการปฏิรูปกฎระเบียบและการบริหารราชการ  ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้ต้องไปสู่จุดนั้นให้ได้ เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนส่วนอื่นๆทั้งหมด และ “เวทีวันนี้คือส่วนหนึ่งในขั้นตอนของการปฏิรูปที่เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมนั่น หรือ Participation นั่นเอง การปฏิรูปไม่ได้เกิดจากความฝัน แต่ต้องมีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุน ส่วนนี้คือส่วนที่เป็น Process ต้องมีการวิจัย สร้างนวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา หรือการค้นพบอะไรบางอย่าง การวิจัยจะทำให้ค้นพบวิธีการที่ดีและเหมาะสมเพื่อให้การปฏิรูปบบรรลุผลตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้”  โดยใน

วันที่ 12  กันยายนที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะตามรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ซึ่งมีวาระในการทำงาน 5 ปี  ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า กรอบเวลาของการปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะจะต้องส่งแผนงานให้รัฐบาล เพื่อเห็นชอบเบื้องต้น จากนั้นหากต้องการจะแก้ไขกฎหมายปฏิรูป ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม อบป. จะมีการประชุมกันอีกครั้ง ในวันที่ 30 กันยายนนี้