สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจัดเสวนา “อนาคตสุกรไทยในโลก4.0”

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านการนำเข้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐอเมริกา เพื่อรักษาอาชีพเกษตรกร และปกป้องสุขภาพคนไทย

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและเครือข่ายเกษตรกรไทย  จัดเสวนาระดมความคิดเห็นเรื่อง “ อนาคตสุกรไทยในโลก 4.0 ”  แบ่งการเสวนาเป็น 2 หัวข้อคือ การแข่งขันของหมูไทยในตลาดโลก และผลกระทบของไทยถ้านำเข้าหมูจากอเมริกา  ปรากฏว่า มีตัวแทนเกษตรกร ภาครัฐและเอกชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นจำนวนมากจนเต็มห้องประชุมแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี  เพื่อแสดงพลังคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูจากสหรัฐอเมริกา ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ในกลุ่มแรคโตพามีน (Ractopamine) ซึ่งขัดแย้งกับ กฎหมายของประเทศไทยที่ห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มหมู

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า การเลี้ยงสุกรในสหรัฐอเมริกา มีต้นทุนผลิตถูกกว่าไทย เพราะได้เปรียบในเรื่องต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มแรคโตพามีน (Ractopamine) ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายของไทย  ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา  สหรัฐอเมริกาได้ใช้ความพยายามที่จะขยายตลาดการค้าโดยส่งเนื้อหมูและเครื่องในหมูเข้าไปขายในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย

ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้คัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐมาตลอด  เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูไทยรวมทั้งภาคธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของภาคปศุสัตว์   ทางสมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมู จากสหรัฐไปยังกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ไม่มีความคืบหน้าในการพิจารณา  อ้างว่า อยู่ระหว่างการศึกษา และโยนเรื่องไปมาระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ

ล่าสุด  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  จะเข้าพบ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 2 ต.ค. 2560  ซึ่งประเด็นสำคัญ ที่รัฐบาลสหรัฐฯจะหยิบยกขึ้นมาเจรจาในครั้งนี้คือ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิด ตลาดนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในให้กับสหรัฐอเมริกา  ทางสมาคมฯ จึงจัดประชุมเสวนาในครั้งนี้ขึ้นมาเพื่อสรุปปัญหาความเดือนร้อนของเกษตรกรและข้อเสนอแนะต่างๆจากกลุ่มผู้เลี้ยงหมูและอาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทำเป็นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาข้อดีข้อเสียก่อนเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด กล่าวว่า หากรัฐบาลเปิดให้มีการนำเข้าเนื้อหมู และเครื่องในหมูจากสหรัฐอเมริกาจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูในหลายมิติ ตั้งแต่ตัวเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู  ผู้ประกอบการค้าหมู  ที่มีมูลค่าการค้ากว่าปีละ 200,000 ล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายจากอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจพืชไร่ ธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ ธุรกิจโรงสีข้าวฯลฯ

“    ทุกวันนี้คนไทยบริโภคส่วนเนื้อหมูเฉลี่ย  14 กก.ต่อคนต่อปี  ส่วนขาหมูและเครื่องใน บริโภคเฉลี่ย 7.4 กก.ต่อคนต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยผลิตหมูเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ   โดยทั่วไป หมู 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 100 กก. กินอาหาร 330 กก. ซึ่งอาหารสัตว์ 70% ทำมาจากปลายข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดรวมกัน ส่วนที่เหลืออีก 25% จากถั่วเหลือง  หากจะมีการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูและวงจรต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท  ” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ทางสมาคมฯเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขออำนาจคุ้มครองการไปเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกา  หากรัฐบาลยินยอมให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา ขอให้ถือเป็นโมฆะ เพราะขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลไทยมีหน้าที่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  หากรัฐบาลไทยยินยอมให้มีการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยจะส่งผลกระทบทำให้ อุตสากรรมการเลี้ยงหมูของไทยล่มสลายได้ เพราะเกษตรกรไทยสู้ไม่ได้แน่ๆ เพราะต้นทุนการผลิตหมูของสหรัฐอเมริกาถูกกว่าไทย  นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ผู้ผลิตอาหารสัตว์  เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ หลายหมื่นหลายแสนครอบครัว รวมทั้งภาคการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้กับฟาร์มเลี้ยงหมู เกษตรกร ก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

น.สพ.ชัย วัชรงค์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แนค โคห์แลน จำกัด กล่าวว่า มีผลวิจัยยืนยันว่า  การใช้สารเร่งเนื้อแดงส่งผลให้มีสารตกค้าง ที่สร้างผลกระทบด้านสุขภาพแก่ผู้บริโภคที่มีปัญหาโรคหัวใจ หลอดเลือดในสมองตีบ หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และความดัน ซึ่งคนไทยจำนวนมากถึง 2.3 ล้านคน ที่มีปัญหาสุขภาพ ในกลุ่มนี้  จึงเห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ควรเอาชีวิตของคนไทยไปเสี่ยง กับการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

นายสมบัติ ธีระตระกูลชัย ประธานคณะกรรมการธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูปสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าฯ ไม่เห็นด้วยกับการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกาเพราะจะทำให้เกษตรกรไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน เพราะสหรัฐ มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย และ ใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มหมู  ปัจจุบันสหรัฐมีราคาขายเนื้อหมูหน้าโรงงานอยู่ที่ 28 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ไทยมีราคาขายส่งหน้าโรงงานอยู่ที่ 74 บาท/กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไทยจำเป็นต้องอนุญาตให้มีการนำเนื้อหมูและเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ ควรเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 40% และห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มหมู ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข และประกาศกระทรวงเกษตรฯ  หากไม่สามารถปฎิบัติได้ตามข้อกำหนด  ก็ห้ามนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เข้าประเทศไทยอย่างเด็ดขาด