ผู้เขียน | การุณย์ มะโนใจ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันนี้ขออนุญาตเล่าประวัติส่วนตัวกันนิดหนึ่ง ผู้เขียนเกิดและโตที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลำไยใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในการเรียนระดับปริญญาตรี ก็เรียนพืชศาสตร์ สาขาไม้ผล สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ หรือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปัจจุบัน หนึ่งในเพื่อนที่เรียนสาขานี้คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย กูรูหรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องไม้ผล โดยเฉพาะลำไย อาจารย์เกิดที่จังหวัดลำพูนซึ่งก็เป็นแหล่งปลูกลำไยแหล่งใหญ่ของไทยอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนั้น ยังจบสาขาพืชสวน ในระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์สอนที่สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร และเป็นผู้บริหารในตำแหน่งรองอธิการบดี ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในเรื่องลำไย อาจารย์เป็นทั้งผู้สอน เป็นนักปฏิบัติ และนักวิจัย
ในฐานะที่คลุกคลีในวงการลำไยทั้งในและต่างประเทศ อาจารย์พาวินได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลำไยว่า ประเทศที่มีการผลิตลำไยมากที่สุดในโลกคือจีน มีพื้นที่ปลูกประมาณ 2.7 ล้านไร่ พันธุ์หลักๆ ที่ปลูกเป็นการค้าคือ พันธุ์ชู่เหลียงและสื่อเจี๋ย
ส่วนพันธุ์ลำไยของไทยนั้นจีนนำไปปลูกทดสอบนานมาแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะอากาศของจีนหนาวกว่าไทย พันธุ์ลำไยของไทยจะมีปัญหาทั้งการออกดอกและติดผลจึงไม่สามารถปลูกเป็นการค้าได้ อาจารย์เคยมีโอกาสได้ไปสำรวจพื้นที่ปลูกลำไยในประเทศจีนก็ยังไม่เห็นมีการปลูกพันธุ์ของไทย แต่ประเทศที่นำกิ่งพันธุ์ลำไยจากประเทศไทยไปปลูกเป็นจำนวนมากและน่ากลัวคือกัมพูชา
สำหรับประเทศที่ปลูกลำไยเป็นอันดับสองคือไทย มีพื้นที่การผลิตประมาณ 1 ล้านไร่ ส่วนเวียดนามปลูกเป็นอันดับสาม ประมาณ 7 แสนไร่ ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ส่งออกผลผลิตลำไยมากที่สุด ส่วนจีนและเวียดนามบริโภคในประเทศ 80-90% ปัญหาที่สำคัญคือผลผลิตลำไยในฤดูของเราจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งตรงกับฤดูการผลิตของจีนและเวียดนาม (เขาออกช้ากว่าเราประมาณ 20-30 วัน) ดังนั้น หากปีใดสภาพอากาศเอื้ออำนวยคือมีอากาศหนาวเย็น ลำไยก็จะออกดอกมาก ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาตกต่ำแน่นอน ยิ่งถ้าจีนและเวียดนามออกดอกติดผลดีเหมือนไทยเราก็ยิ่งราคาถูก
ในด้านคุณภาพนั้นพันธุ์ลำไยของไทยเป็นที่ยอมรับว่ามีคุณภาพดี แต่การผลิตของเกษตรไทยโดยรวมถือว่ามีคุณภาพต่ำ คือมีเกรด AA ไม่ถึง 30% เป็นแบบนี้เกือบทุกปี บางปีมีไม่ถึง 20% สาเหตุสำคัญคือเกษตรกรลำไยในเขตภาคเหนือ เป็นเกษตรกรรายย่อยยังขาดการจัดการสวนที่ดี ขาดความเป็นมืออาชีพถ้าเทียบกับจันทบุรีมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 2,400 กิโลกรัม สมุทรสาครผลผลิตเฉลี่ย 2,100 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนเชียงใหม่ ลำพูน ค่าเฉลี่ยผลผลิต 600-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ที่จันทบุรีและสมุทรสาคร ส่วนใหญ่มีคุณภาพผลผลิตดี
อาจารย์พาวิน วิเคราะห์สิ่งที่แตกต่างระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกลำไยแถบจันทบุรีกับภาคเหนือคือ ทางจันทบุรีมีการตัดแต่งออกเยอะมาก และที่สำคัญถ้าลำไยติดผลดกต้องตัดแต่งช่อผลออก ส่วนทางเหนือเกษตรกรจะเกิดความเสียดายและตัดแต่งช่อผลน้อยมาก ปีนี้ลำไยติดผลดก อาจารย์ได้เคยพยากรณ์ไว้ว่าผลผลิตโดยรวมจะด้อยคุณภาพก็เป็นไปตามการคาดการณ์ ดังนั้น อาจารย์ได้นำเสนอทางเลือกทางรอดในการผลิตลำไยในภาคเหนือไว้ดังนี้
สรุปปัญหาหลักๆ ของลำไยในภาคเหนือ
ผลผลิตลำไยในฤดูล้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่มีอากาศหนาวเย็นมากและยาวนาน ถ้าเกิน 4 แสนตันขึ้นไป จะพบว่าปีนั้นราคาก็จะตกต่ำ ยิ่งถ้าผลผลิตของจีนและเวียดนามดีเช่นของไทยเราก็ยิ่งทำให้ราคาถูก
ผลผลิตด้อยคุณภาพ มีเกรด AA ไม่เกิน 30% สาเหตุขาดการจัดการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ลำไยติดผลดกเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผลลำไยมีขนาดเล็ก เปลือกบาง ผลแตก ทำให้มีช่องทางจำหน่ายเพียงช่องทางเดียวคือรูดร่วง เพราะช่องทางอื่นต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพ
ขาดแคลนแรงงานในการจัดการสวนและเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้แก่ แรงงานตัดแต่งกิ่ง แรงงานตัดช่อผล ที่จันทบุรีจ้างแรงงานจากกัมพูชาตัดแต่งช่อผล ที่สำคัญคือแรงงานบรรจุตะกร้า ซึ่งต้องมีความชำนาญปัจจุบันต้องแย่งแรงงานทำให้เกษตรกรหลายสวนทนรอไม่ไหวก็ต้องรูดร่วงเพื่อจำหน่ายเป็นลำไยอบแห้ง รูปแบบการจำหน่ายลำไยหลักๆ มี 3 ช่องทางคือ
หนึ่ง ขายสดส่งออกบรรจุตะกร้าจะได้ราคาสูงสุด แต่มีเงื่อนไขคือผลผลิตลำไยต้องมีคุณภาพลูกโต ผิวสวย ต้องมีแรงงานคัดเกรดและบรรจุตะกร้า
สอง มัดเป็นพวง (มัดปุก) ราคารองลงมา แต่เงื่อนไขเหมือนข้อ 1 รูปแบบนี้มีทั้งส่งออกและจำหน่ายในประเทศ
สาม รูดร่วง เพื่อทำลำไยอบแห้งทั้งผลและอบเนื้อสีทอง แบบนี้ใช้แรงงานน้อยลง ได้ปริมาณมาก แต่ข้อเสียคือราคาถูกสุด ถ้าผลผลิตด้อยคุณภาพเสี่ยงต่อการขาดทุนสูงมาก
พันธุ์ลำไยหลักที่ส่งออกมีเพียงพันธุ์เดียวคืออีดอ ทั้งๆ ที่เรามีพันธุ์ดีๆ เช่น เบี้ยวเขียว สีชมพู พวงทอง และบ้านโฮ่ง 60 คุณภาพดีกว่าอีดอ ถ้าปลูกพันธุ์ดังกล่าวจะกระจายช่วงเวลาเก็บเกี่ยวได้ด้วย เพราะพันธุ์เหล่านี้ค่อนข้างจะเป็นพันธุ์หนัก คือออกช้ากว่าพันธุ์อีดอ
กลไกการตลาด ในช่วงที่ผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดมากๆ อาจเสี่ยงต่อการถูกกดราคาสูงมาก แต่ถ้าปีใดผลผลิตมีน้อยเกษตรกรก็พอมีอำนาจต่อรองได้
การปรับเปลี่ยนของเกษตรกรในภาคเหนือยังเป็นไปได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่ได้เห็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายภาครัฐ นักวิชาการ และผู้ประกอบการ ถ้ามีการวางแผนและสร้างความร่วมมือกัน อาจารย์พาวินบอกว่าจะทำให้การขับเคลื่อนเร็วขึ้น
อาจารย์เสนอแนวคิดในประเด็นทางเลือกทางรอดในการผลิตลำไยภาคเหนือของไทยไว้ดังนี้
การกระจายฤดูการผลิตให้กว้างขึ้น โดยเกษตรกรแบ่งพื้นที่ผลิตลำไยหลายรุ่นต่อปีเพื่อลดความเสี่ยงทั้งเรื่องสภาพอากาศและการตลาด จันทบุรี สมุทรสาครผลิตนอกฤดู 100% ภาคเหนือทั้งหมดผลิตนอกฤดูไม่ถึง 20% สำหรับเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดู ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีพร้อมที่จะให้คำแนะนำ
ผลิตให้ได้คุณภาพ โดยเพิ่มเกรดผลจาก AA 30% ไปเป็นมากกว่า 50% โดยใช้ภูมิปัญญาของเกษตรกรร่วมกับองค์ความรู้จากงานวิจัยที่มีอยู่สามารถทำได้ เพียงแต่เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการผลิตลำไยใหม่
ต้องออกแบบสวนและจัดการสวนให้ง่ายต่อการจัดการ เช่น การลดความสูงของทรงพุ่มลง การปลูกลำไยระยะชิดซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ทั้งปริมาณและผลผลิต ระบบดังกล่าวจะง่ายต่อการจัดการทั้งการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิต ต้นทุนการผลิตก็ลดลงด้วย
ปลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพดี เช่น เบี้ยวเขียว สีชมพู พวงทอง เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถกระจายฤดูการผลิตเพราะเก็บหลังพันธุ์อีดอ และบางพันธุ์ผลิตได้ดีในช่วงอากาศหนาวก็ติดผลได้ดี แต่อีดอติดผลน้อยถ้าดอกบานในช่วงอากาศหนาวเย็น
ใช้ตลาดนำการผลิต ในปัจจุบันมีผู้ส่งออกเริ่มร่วมวางแผนกับเกษตรกรว่าต้องการผลผลิตในช่วงไหนและมีการประกันราคาขั้นต่ำ ถ้าราคาตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดสูงขึ้นก็เพิ่มให้อีกครึ่งหนึ่งของส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นลำไยที่มีคุณภาพเท่านั้น ตอนนี้ก็มีการซื้อขายลำไยที่ออกดอกที่จะเก็บก่อนตรุษจีน ราคากิโลกรัมละ 30 บาท ถ้าเป็นแบบนี้เกษตรกรอยู่ได้ นอกจากนี้ ได้ส่วนของวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ก็มีอาจารย์จากคณะวิศวกรรมการเกษตร คือ รศ.จักรพงษ์ พิมพ์พิมล ก็มีองค์ความรู้ในเรื่องการรมกำมะถันในลำไยสดเพื่อให้ผิวสวยและรักษาความสดของผลให้อยู่ได้นานขึ้น เป็นต้น
การทำตลาดออนไลน์ ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ไปรษณีย์สั่งลำไยจากสหกรณ์การเกษตรที่ดำเนินการถึง 1 ล้านกิโลกรัม ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ช่องทางนี้จะขยายตลาดได้มากขึ้น เช่น ทำอย่างไรจะรักษาคุณภาพลำไยให้ถึงมือผู้บริโภคมีความสดมากที่สุด ทำอย่างไรค่าขนส่งจะถูกลง เกษตรกรหลายรายส่งลำไยผ่านบริษัทรับส่งสินค้าเอกชนและไปรษณีย์ แต่ค่าขนส่งบางครั้งแพงกว่าราคาลำไยเสียอีก
การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ลำไย เช่น ผลิตภัณฑ์ลองกานอยด์ น้ำสกัดลำไยเข้มข้นเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์อื่น แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ประกอบการอยู่ได้ เกษตรกรอยู่ได้ ผู้บริโภคได้รับสิ่งดีๆ มีความพอใจในสินค้า
บทบาทของภาครัฐ ปรับเปลี่ยนกระบวนการส่งเสริมให้ สร้างความร่วมมือในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Publice Private Partnership : PPP) เป็นการสร้างสมดุลระหว่างโอกาสทางการตลาดและการแสวงหากำไร วางแผนการตลาด การเพิ่มช่องทางการตลาดหรือการลดเงื่อนไขของคู่ค้าให้ทันต่อเหตุการณ์ การวางแผนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การบูรณาการกับผู้เกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทาน
เกษตรกรคงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ต้องผลิตให้ได้ปริมาณและมีคุณภาพ ปลอดภัย และผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด ต้องมีการบริหารความเสี่ยงผลิตเป็นรุ่น ถึงจะอยู่รอด ที่ผ่านมาผลิตออกมาขายได้อยู่แล้วแต่มักจะขาดทุน
เกษตรกรต้องผสมผสานองค์ความรู้จากงานวิจัยร่วมกับภูมิปัญญามากขึ้นโดยไม่หลงเชื่อตามคำโฆษณาที่มุ่งหวังแต่จะขายผลิตภัณฑ์ของตนเองโดยไม่คำนึงถึงเกษตรกร ที่สำคัญเกษตรกรต้องเป็นนักทดลองด้วย อย่าเชื่อแม้กระทั่งอาจารย์ ควรทดสอบทดลองแล้วค่อยขยายผล ภาครัฐควรติดตามสถานการณ์การผลิตของคู่แข่ง นำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนการผลิต และการตลาดพัฒนาฐานข้อมูลให้ครอบคลุมตลอดโซ่อุปทาน และเข้าถึงง่าย แม่นยำ ใช้ประโยชน์ได้
เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มอย่างจริงจัง ที่ผ่านมายังไม่ค่อยเข้มเเข็ง หาตัวอย่างที่ดีแทบไม่ได้เลย ต่างจากกลุ่มสมุทรสาครรวมตัวได้ดีมาก ขายลำไยพันธุ์พวงทองไม่เคยต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท
จะต้องสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านลำไยหลายระดับ ทั้งนักวิชาการ นักเทคนิคที่จะช่วยสนับสนุนระบบการผลิตลำไย เช่น ทีมตัดแต่งกิ่ง ทีมตัดช่อผล ทีมบรรจุตะกร้า และอื่นๆ ยกระดับการผลิตจากการทำลำไยแบบดั้งเดิมเป็นสมาร์ทฟาร์มขนาดเล็ก หรือการผลิตลำไยแปลงใหญ่ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือ ภาครัฐต้องรีบเจรจาขอโควต้าจากอินโดนีเซียก่อนที่ผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดก่อนเดือนมิถุนายนยิ่งดี และควรแยกออกจากโควต้าผลไม้รวม (ข้อเสนอจาก ท่านไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมส่งออกผลไม้ไทย) ปีนี้อินโดนีเซียออกโควต้านำเข้าล่าช้าจึงทำให้การระบายลำไยได้น้อยลง ปัจจุบันเราส่งออกลำไยสดไปอินโดนีเซียถึง 80% จีน 15% ฮ่องกงและอื่นๆ อีก 5%
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสอบถาม ผศ.พาวิน มะโนชัย ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. (081) 951-5907 ยินดีให้ข้อมูล