‘บ้านยวน’ โคราช เอกลักษณ์แห่งชาวนครจันทึก

นครราชสีมา…เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของตนเอง ทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี และมี “ภาษาโคราช” เป็นของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากชาวภาคอีสานทั่วไป ขณะเดียวกันแต่ละอำเภอก็จะมีวัฒนธรรมประเพณีที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากชาวบ้านมีเชื้อสายต่างกันมาแต่โบราณ โดยเฉพาะที่ ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว ที่นี่จะมีวัฒนธรรมประเพณีคล้ายกับชาวภาคเหนือ สังเกตได้จากถาวรวัตถุภายในวัดใหญ่สีคิ้ว ซึ่งจะมีปรางค์เจดีย์ทรงคล้ายประเทศพม่า รวมทั้งพระประธานภายในวัดก็คล้ายศิลปะพม่า และที่สำคัญมีการสร้างบ้านทรงโบราณอนุรักษ์ไว้ภายในวัดด้วย 1 หลัง ซึ่งโดดเด่นสวยงามจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของ อำเภอสีคิ้วไปแล้ว

“สุธัญญา สิทธิกูลเกียรติ” ครูโรงเรียนสีคิ้วสวัสดิ์ผดุงวิทยา วัย 56 ปี เปิดเผยว่า บ้านทรงโบราณนี้เรียกว่า “บ้านยวน” ซึ่งชาวชุมชนไท-ยวนได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ วัดใหญ่สีคิ้ว เทศบาลเมืองสีคิ้ว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และโรงเรียนสีคิ้วสวัสดิ์ผดุงวิทยา จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2558 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไท-ยวน นครจันทึก ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปกว่า 200 ปีที่แล้ว ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณอำเภอสีคิ้วแห่งนี้มีชื่อว่า “นครจันทึก” มีชาวยวนฝ่ายกองเสบียงอพยพมาตั้งถิ่นอาศัยอยู่กันจำนวนมาก สังเกตได้จากรูปภาพเก่าๆ รุ่นปู่ย่าตายายจะมีการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีลวดลายผ้าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากการนำฝ้ายมาทอมือเป็นเสื้อผ้าสวมใส่เอง และศิลปวัฒนธรรมการทำบุญ การใช้ชีวิต การปลูกบ้านเรือน ก็แตกต่างจากที่อื่นๆ

สุธัญญา ระบุว่า เป็นหนึ่งในทายาทชาวไท-ยวน รุ่นที่ 4 จึงเป็นแกนนำลูกหลานชาวไท-ยวน สร้างบ้านยวนหลังนี้ขึ้นมา โดยบ้านยวนหลังนี้จะมีลักษณะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น มีบันไดขึ้นทางเดียว ด้านหน้าจะเป็นระเบียง ด้านในจะมีห้องโถงรับแขก มีห้องพระ และห้องนอน มีการรวบรวมภาพถ่ายเก่าๆ มาติดผนังไว้ให้เห็นถึงการใช้ชีวิตของชาวไท-ยวนในอดีต อีกทั้งยังมีการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จากคนเก่าแก่อายุตั้งแต่ 70-90 ปีมาใส่ตู้ไว้ด้วยเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ส่วนด้านล่างจะมีแคร่ไม้สำหรับทอผ้าและเตียงนั่งสำหรับต้อนรับแขก มีการจัดทำป้ายอธิบายเรื่องราวต่างๆ ของชาวไท-ยวนไว้ให้ได้ศึกษาอย่างละเอียด ด้านข้างจะมีระหัดน้ำแบบโบราณ อันเป็นภูมิปัญญาชาวยวน ซึ่งปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ อำเภอสีคิ้ว

“ปัจจุบันนี้ใน อำเภอสีคิ้ว มีคนที่มีเชื้อสายไท-ยวนอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ครัวเรือน ซึ่งถือว่าเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมที่สืบกันมาตั้งแต่สมัยนครจันทึก โดยมีสิ่งที่ภาคภูมิใจมากคือวัฒนธรรมการทอผ้าสวมใส่เอง ซึ่งผ้าของชาวไท-ยวนนี้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะชาวไท-ยวนดั้งเดิมนิยมปลูกฝ้าย ดังนั้น จึงนำผลผลิตฝ้ายมาทอเป็นผ้าสวมใส่ในครอบครัว ต่างจากผ้าทอมือที่อื่นที่เป็นผ้าไหม อีกทั้งลวดลายต่างๆ ก็มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย”

ด้าน ดร. ธีรพงศ์ คณาศักดิ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เสริมว่า เนื่องจากวัฒนธรรมไท-ยวน ชาวนครจันทึกนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจ และยังคงกลิ่นอายของความเป็นชาวท้องถิ่นดั้งเดิมอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การสร้างบ้านยวนหลังนี้ขึ้นมาอนุรักษ์ไว้ จึงเหมาะแก่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี และเพื่อที่จะต่อยอดให้ชาวชุมชนไท-ยวนได้รับประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ ทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาจึงพยายามผลักดัน เพื่อส่งเสริมให้ผ้าทอมือของชาวไท-ยวน อำเภอสีคิ้ว ได้รับการยกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่บ่งชี้ถึงลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้ ซึ่งจะช่วยให้ชาวชุมชนไท-ยวนได้นำผ้าทอมือที่เย็บทำเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย อาทิ เสื้อยวน กางเกง ผ้าถุง กระเป๋า ผ้าขาวม้า และผ้าสไบเฉียงมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว สร้างรายได้เสริมให้กับชาวชุมชนในอนาคตต่อไป

สำหรับบ้านยวนนี้ ตั้งอยู่ภายในวัดใหญ่สีคิ้ว หมู่ที่ 4 ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไท-ยวน นครจันทึก โดยทุกเย็นวันพฤหัสบดีจะมีการตั้งตลาดไท-ยวนที่บริเวณลานด้านข้างบ้านยวน เพื่อให้ชาวชุมชนได้นำสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้านมาค้าขายให้กับนักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อกลับไปบ้านเป็นที่ระลึกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ