มรภ.ภูเก็ตเผยปรับโฉมศูนย์วัฒนธรรม สู่แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา-ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ดร. ราชรถ ปัญญาบุญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เปิดเผยถึงการปรับปรุงศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดภูเก็ต มรภ.ภูเก็ต เป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จังหวัดภูเก็ต ว่า จากการศึกษาค้นคว้าในบริบทที่เกี่ยวข้อง และการทำประชาพิจารณ์ เกิดเป็นแนวคิดจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จังหวัดภูเก็ต ที่เป็นหน่วยงานสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับมหาวิทยาลัย โดยมี 7 ประเด็นสำคัญที่ใช้ในการออกแบบ ได้แก่ 1. เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมภูเก็ต 2. เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูเก็ตโดยละเอียด นำเสนอความหลากหลายของวัฒนธรรมของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยจีน และชาวไทยใหม่ (ชาวเล)
ผอ.สำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า 3. รวบรวมฐานข้อมูลของเครือข่ายวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัดอันดามัน และภาคใต้ 4. เป็นฐานข้อมูลในทุกมิติของ มรภ.ภูเก็ต ทั้งประวัติศาสตร์และผลงานให้บริการวิชาการด้านวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์โดดเด่น 5. เป็นฐานข้อมูลและเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการและงานวิจัยของนักวิชาการท้องถิ่นและภูมิปัญญาอันล้ำค่าของปราชญ์ชาวบ้าน 6.เป็นสถานที่ฝึกอบรมถ่ายทอดและสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมจากผู้เชี่ยวชาญทุกแขนง และ 7.เป็นศูนย์กลางจัดประชุม สัมมนาและจัดแสดงผลงานทางศิลปะและวัฒนธรรมของอันดามัน
“ทั้ง 7 แนวคิดจะถูกหลอมรวมภายใต้กรอบนโยบายที่ทันสมัย ตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งไปที่การยกระดับภูมิปัญญา ศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและภูมิภาค ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นฐานต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาของภูเก็ต-อันดามันสู่นวัตกรรมสร้างสรรค์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงศาสตร์พระราชา นำไปสู่การส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว ยกระดับความเป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นและประเทศ” ผอ.สำนักศิลปะและวัฒนธรรมกล่าว
ด้าน นายศิวพงศ์ ทองเจือ ผู้ช่วย ผอ.สำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวถึงแนวทางการออกแบบอาคารและภูมิสถาปัตยกรรมศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว ว่า หลักการออกแบบจะเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การออกแบบอัตลักษณ์องค์กร การนำภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภูเก็ตมาใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบร่วมสมัย และการปรับปรุงอาคารด้วยวัสดุสมัยใหม่ ทั้งนี้จะมีลักษณะเหมาะสมที่ตอบสนองต่อการใช้งานตามความต้องการของผู้ใช้ในยุคสมัยใหม่ คำนึงถึงกลุ่มผู้ใช้งานที่มีความหลากหลายตามแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากรากฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในเชิงการสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด