ยก 4,000 โครงการพระราชดำริ แม่แบบ “เอสเอ็มอี” ยั่งยืนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โลกทุกวันนี้ที่บริบทหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดของภาคธุรกิจต่างๆ ตลอดจนธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งแนวทางหนึ่งของการปรับตัวของภาคธุรกิจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เสมอ ไม่ว่าจะยุคสมัยใด คือ “แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ให้กับปวงชนชาวไทยและชาวโลก

ดังที่ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเผชิญกับความท้าทายในอนาคตของธุรกิจ SMEs ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในงานสัมมนา “ธุรกิจยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตอน ธุรกิจยั่งยืน ยุค 4.0” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

โดย ดร.ประสาร ได้ชี้ให้เห็นถึงบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิมที่อาจจะเข้ามามีผลต่อการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีที่พัฒนาไปในอัตราเร่ง, โครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก

ดร.ประสาร ยังกล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ พร้อมแนะให้ปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

“ผมคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจก้าวข้ามความท้าทาย เพื่อให้อยู่รอดในช่วงเวลาที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของเราเดินได้ไม่เต็มที่ และบริบทโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนสามารถที่จะอุ้มตัวเองได้ และพัฒนาธุรกิจให้มีความก้าวหน้าและมีความยั่งยืน” ดร.ประสารกล่าว

ธุรกิจเอสเอ็มอีกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพคล่อง สายป่านอาจไม่ยาวพอที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวรับบริบทโลกใหม่

Advertisement

แต่ในจุดอ่อนย่อมมีจุดแข็ง อย่างหยินหยาง ในขาวมีดำ ในดำมีขาว และที่ไม่สามารถมองข้ามคือ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว การปรับตัวให้เท่าทันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการอยู่รอด ซึ่งเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีความคล่องตัวสูง ยืดหยุ่น และไม่มีระบบ

องค์กรที่เทอะทะมาตีกรอบกระบวนการทำงานและความคิดในการแก้ปัญหา น่าจะสามารถปรับตัวได้เร็ว อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็อาจจะช่วย ถ้าปรับตัวและใช้ให้เป็นก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายโอกาสทางธุรกิจ ตัวอย่างเช่น การโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย และการเชื่อมต่อการค้าและการธุรกิจผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เอสเอ้มอีแจ้งเกิดได้ง่ายกว่าในอดีต

Advertisement

การประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่หลายเรื่องก็ยากเกินกว่าจะคาดดาได้ว่าจะมีทิศทางไปทางใด ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงเป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมต่อบริบทโลกเช่นนี้

ผมคิดว่าคนไทยโชคดีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ให้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เป็นหลักที่สามารถจะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และพัฒนาตัวเองให้เท่าทันโลกอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งผมคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทโลกเช่นนี้ ที่สำคัญ หลักการนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับบุคคล บริษัทธุรกิจ สังคม และประเทศ อย่างไรก็ดี อาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของภาคเกษตร และห่างไกลจากภาคธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไร

แต่ความจริงแล้วหลักการนี้ไม่ได้ขัดกับการแสวงหากำไร หากแต่เน้นให้คิดถึงความยั่งยืน หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือกำไรในระยะยาว มากกว่าแค่ผลประโยชน์ในระยะสั้น เน้นการทำกำไรที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพลวัตของเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง ด้วยการดำเนิธุรกิจที่เป็นไปอย่างรอบคอบ และมีการประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ดำเนินโครงการมากที่สุดท่านหนึ่งของประเทศ จากโครงการพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งทุกโครงการเป็นโครงการระดับกลางและเล็ก และท่านทรงใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบริหารงานจนสำเร็จ จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ

ผมจึงเชื่อว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นกรอบที่ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหาร พัฒนา และขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืนได้

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ขอยกตัวอย่างการทรงงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ประกอบด้วย ความมีเหตุผล ความพอประมาณ การสร้างภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไขการทำงานด้วยความรู้และคุณธรรม ดังนี้

ประการแรก ความมีเหตุผล ทรงมองโลกตามความเป็นจริง จากความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “…ความปรารถนานั้นจักสำเร็จลงได้ จักต้องมีวิธีที่จะดำเนินให้ไปถึง…” หนึ่งในวิธีที่พระองค์ทรงแนะนำคือ มองโลกในแง่ดี และจะให้ดียิ่งขึ้นควรมองโลกจากความเป็นจริง จะดำเนินการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ตัวอย่างที่พระองค์ทรงแนะนำวิธีมองโลกจากความเป็นจริง ความตอนหนึ่งว่า “…ทำโครงการอะไรก็จะต้องนึกถึงขนาดที่เหมาะสม จะต้องทำด้วยความรอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป คือบางคนอาจจะเห็นว่ามีโอกาสที่ทำโครงการอย่างโน้นอย่างนี้ และไม่ได้นึกถึงว่าปัจจัยต่างๆ ไม่ครบ

ปัจจัยหนึ่งคือขนาดของโรงงานและเครื่องจักรที่จะสามารถปฏิบัติได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือวัตถุดิบ ยิ่งถ้าวัตถุดิบที่ต้องใช้ในโรงงานนั้น เป็นวัตถุดิบที่จะต้องนำมาจากระยะไกลหรือนำเข้าก็จะยิ่งยาก เพราะราคายิ่งแพง ความจริงวัตถุดิบนั้นมีบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงานก็ขายยากเหลือเกิน เพราะว่ามีมาก จึงทำให้ราคาตก นี่ก็เป็นบทเรียนที่ต้องมี…”

ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงสนับสนุนการลงทุนที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิต และใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนานวัตกรรม ไม่ว่าในด้านการเกษตรหรือธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์

ครั้งหนึ่ง ทรงเล่าถึงโรงงานแช่แข็งผลผลิตของชาวไร่ จ.ลำพูน ที่เสด็จฯไปทรงเยี่ยมว่า “…เขาบ่นว่าข้าวโพดที่เขาใช้สำหรับแช่แข็งคุณภาพไม่ค่อยดี ก็เลยซื้อในราคาแพงไม่ได้ เขาบอกว่านี่น่าจะส่งเสริมการเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดให้ได้ข้าวโพดที่มีคุณภาพดี โรงงานก็จะเจริญ…”

ประการที่สอง ความพอเพียง การทำงานโครงการพระราชดำริ พระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ ด้วยการพัฒนาต้นแบบให้มั่นใจก่อนที่จะขยายผลให้ใหญ่ขึ้น สิ่งที่ทรงทำนั้นในภาษาธุรกิจจะเรียกว่า Proof of Concept สืบก่อนว่าสิ่งที่คิดนั้นสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

ตัวอย่างโครงการส่วนพระองค์ โรงนมจิตรดาผลิตนมอัดเม็ด พระองค์ทรงทดลองทดสอบจนมั่นใจจึงจะขยายกำลังการผลิต จนทุกวันนี้สินค้าได้รับความนิยมสูงในกลุ่มคนจีน ขายดีจนเป็นสินค้าขาดตลาด และต้องจำกัดปริมาณการซื้อ

ในการทรงงาน พระองค์จะทรงมองปัญหาภาพรวมก่อนเสมอ ในการแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ ตามพระราชดำรัสที่ว่า “..แบบแมโครนี้เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันก็เห็นด้วย อย่างบ้านคนอยู่ เราบอกบ้านนี้มันผุตรงนั้น ผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะไปซ่อม เราตกลงรื้อบ้านนี้หมดเลย แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ วิธีทำต้องค่อยๆ ทำ จะไปเปิดหมดไม่ได้…”

นั่นเพราะการแก้ปัญหามีความก้าวหน้า พระองค์จึงทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “เรามาไกลแล้วนะ แบ่งๆ ให้ชาวบ้านบ้าง และการจะให้ชาวบ้านทำต่อได้ วัสดุที่ใช้ต้องหาได้ในท้องถิ่นและมีราคาถูก” ตัวอย่างเช่น ทรงดำริเรื่องฝาย และทรงให้แนวทางว่า ให้พิจารณาดำเนินการสร้างราคาประหยัด ใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น

นอกจากนี้ แม้จะทรงสนับสนุนให้ลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต แต่ก็ทรงแนะให้ทำด้วยความรอบคอบ สมเหตุสมผล ไม่เกินตัว

ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “…ไปทางชลบุรี หลายสิบปีมาแล้ว มีพ่อค้าคนหนึ่งเขาบอกว่าเขาทำโรงงานสำหรับทำสับปะรดกระป๋อง เขาลงทุนเป็นล้าน แต่จำไม่ได้แล้วว่ากี่ล้านเพื่อสร้างโรงงาน การลงทุนมากขนาดนั้น บอกให้เขาทราบว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าเคยทำโรงงานเล็กๆ ที่ภาคเหนือ ใช้เงินสามแสนบาท เพื่อที่จะเอาผลิตผลของชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋องแล้วขาย ก็ได้ผล บอกว่าที่เขาลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง เขาบอกว่าต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน ทำไปทำมา สับปะรดที่อำเภอบ้านบึง ทางชลบุรี ก็มีไม่พอ เมื่อมีไม่พอต้องไปสั่งสับปะรดมาจากปราณบุรี สับปะรดจากปราณบุรีต้องขนส่งมา ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำไปทำมาโรงงานก็ล้ม…”

ประการที่สาม การมีภูมิคุ้มกัน ทรงเน้นการพึ่งพาตัวเองได้ จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด โดยเน้นให้พัฒนาตนเองในขั้นพอมีพอกิน ก่อนจะพัฒนาไปสู่ขั้นพอมีอันจะกิน ซึ่งคนละทิศกับคนส่วนใหญ่ที่เริ่มจากพอมีอันจะกิน ก่อนจะเป็นพอมีพอกิน ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงห่วงใยเกษตรกรเพราะพึ่งพาอยู่กับเกษตรชนิดเดียว เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางธรรมชาติหรือการตลาด ทำให้รายได้เกษตรกรมีความไม่แน่นอนสูง

พระองค์จึงศึกษาและมีพระราชดำริในเรื่องทฤษฎีใหม่ ให้จัดสรรพื้นที่ทั้งในเรื่องทำนา ไร่สวน ประมง โรงเรือน และที่อยู่อาศัย แล้วก็เป็นแนวทางให้เกษตรกรพออยู่พอกินในเบื้องต้น ก่อนจะแก้ปัญหาหนี้สินและออกจากกับดักความยากจนได้

นอกจากนี้ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง กล่าวคือ ท่านจะมีแผน 2 รองรับหากแผนแรกล้มเหลว ดังโครงการนมอัดเม็ด ที่แรกเริ่มมีการแปรรูปนมผงให้กลายเป็นท็อฟฟี่รสนม แต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่นิยม ก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นนมผงอัดเม็ด สะท้อนว่ามีความจำเป็นที่เราจะต้องมีแผนสำรองให้กับชีวิตให้กับธุรกิจที่ทำ

ประการที่สี่ การใช้ความรู้ในการประกอบอาชีพ และส่งเสริมให้เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง

ตัวอย่างเช่น การทดลองใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เช่น ในพื้นที่ที่ไม่มีดินเลย ทรงทดลองใช้หญ้าแฝกระเบิดหิน หรือทดลองปรับสภาพน้ำที่เป็นด่างด้วยการใส่ปุ๋ยคอก เป็นต้น หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่อาศัยการเติมออกซิเจนจากอากาศลงสู่น้ำ จึงเป็นที่มาของกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่สำคัญ การที่พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยต่างๆ เช่นนี้ได้ เพราะพระองค์ทรงทำการทดลองในหลายพื้นที่ และพระองค์ทรงเป็นคลังความรู้ที่ไม่เคยหยุดเรียนรู้

ประการที่ห้า ความเพียร ซึ่งเป็นคุณธรรมข้อสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติงานสำเร็จ และเป็นหลักยึดให้กับจิตใจให้มีความกล้าหาญ และสามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ดังพระราชดำรัสว่า “…ความเพียรที่จะเป็นกำลังได้ต้องมีลักษณะแข็งกล้า ไม่ย่อหย่อนเสื่อมคลายด้วยอุปสรรค ด้วยความยากลำบากเหน็ดเหนื่อยประการใดๆ หากแต่อุตสาหะพยายามกระทำเรื่อยไปไม่ถอยหลัง แม้หยุดมือก็ยังพยายามคิดต่อไป ไม่ทอดธุระ กำลังความเพียรจึงทำให้การงานไม่ชะงักล่าช้า มีแต่ดำเนินรุดหน้าเป็นลำดับไป จนบรรลุความสำเร็จโดยไม่มีสิ่งใดจะยับยั้งขัดขวางได้ ซึ่งความเพียรอย่างไม่ย่อท้อจึงเป็นแรงขับให้เกิดการระเบิดศักยภาพจากภายใน…”

ที่สำคัญเมื่อใช้ความรู้ผนึกกับความเพียร ทำให้พระองค์สร้างนวัตกรรมที่สำคัญของโลก อาทิ การทำฝนเทียม หรือในโครงการแกล้งดินต่างๆ เพื่อใช้ธรรมชาติปรับสภาพดินให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูก

และหลายประเทศในโลกนำหลักการนี้ของท่านไปใช้จนให้ผลเป็นที่ประจักษ์ และ FAO กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ เป็นวันดินโลก เพื่อเป็นการสดุดีพระเกียรติคุณ

การจะเป็นเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่แค่มีไฟมีฝัน แต่ต้องเลือกธุรกิจที่จะทำได้ถูกต้อง มีความเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจนั้นอย่างแท้จริง วางกลยุทธ์ที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการที่ดี ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และหมั่นหาความรู้ ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญ การตั้งโจทย์ให้พออยู่พอกิน ก่อนจะพัฒนาไปสู่ขั้นพอมีอันจะกิน จะทำให้โอกาสเกิดความสำเร็จมาก และขอปิดปาฐกถาด้วยพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “…ที่พูดก็นึกว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจ ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้ปรับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งหนึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถจะแก้ไขได้…”