วิกฤต 200 ชีวิต ถ้าพะยูน เหลือน้อยกว่านี้ ?

เมื่อราวกลางเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์ จัดสัมมนาเรื่อง การอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลระดับประเทศ

เนื้อหาหลักๆในเวทีสัมมนาในครั้งนั้น พูดกันว่า แม้พะยูนจะเป็นสัตว์ป่าสงวน และอยู่ในบัญชี 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(ไซเตส) คือห้ามมีการค้าขายกันอย่างเด็ดขาด แต่ถึงกระนั้น พะยูน ในประเทศไทยยังจัดอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย และการทำลายแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารของพะยูน รวมทั้งการล่าและการติดเครื่องมือประมง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้จำนวนของพะยูนลดลงอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันคาดว่าในน่านน้ำไทยมีพะยูนไม่เกิน 200 ตัว โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นแหล่งที่พบพะยูนมากที่สุดคือ ประมาณ 130 – 150 ตัว เนื่องจากบริเวณดังกล่าว มีแหล่งหญ้าทะเลชนิดที่เป็นแหล่งอาหารหลักและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก นอกจากนี้ยังมีในพื้นที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ประมาณ 15 ตัว และในพื้นที่อ่าวไชยา จ.สุราษฎร์ธานี อีกประมาณ 10 ตัว

โดยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบว่ามีกลุ่มผู้ล่าพะยูนอยู่ เนื่องจากมีความเชื่อผิดๆ เช่น กระดูกพะยูน สามารถนำไปทำยาโด๊ป และยารักษาโรคมะเร็ง ส่วนเขี้ยวพะยูน นำไปเป็นเครื่องรางของขลัง เนื้อพะยูนนำไปทานเป็นอาหารราคากิโลกรัมละ 150 บาท ความเชื่อเหล่านี้ทำให้พะยูนยังเป็นที่ต้องการของตลาดมืด สิ่งที่จะช่วยแก้ไขได้คือการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่เป็นจริงว่า กระดูกหรือเขี้ยวพะยูนไม่สามารถนำไปรักษาโรคหรือเป็นเครื่องรางของขลังได้ ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะกำหนดแนวเขตในการอนุรักษ์ดูแลพะยูนอย่างจริงจัง โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจประชากรพะยูนในประเทศไทยว่า มีอยู่ในจำนวนเท่าไร โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือน ธันวาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561 นี้

ธัญญา เนติธรรมกุล

กรมอุทยานประชุมร่วมกับ จ.ตรัง

ครั้นเรื่องนี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ ปรากฏว่า ยังความไม่พอใจให้แก่กลุ่มนักอนุรักษ์ และผู้บริหารฝ่ายปกครอง รวมไปถึงบรรดานักวิชาการ ในพื้นที่ จ.ตรังอย่างมาก พร้อมกับยืนยันหนักแน่น ชาวตรังต่างให้ความรักและเอ็นดูพะยูนมากกว่าสิ่งอื่นใด แทบไม่ต้องพูดถึงการอนุรักษ์เลย เพราะทุกคนในพื้นที่ไม่มีใครติดจะล่าพะยูนอยู่แล้ว อย่าว่าแต่การล่าเลย แค่จะทำร้ายยังไม่เคยคิด โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ออกมาพูด

จึงเป็นที่วิพากษ์กันพอสมควรกับวิธีการคิดดังกล่าว ว่า แทนที่จะรับฟังข้อมูล และมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กลับออกมาตอบโต้อย่างร้อนรน

ไม่นานหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง พบซากพะยูนถูกเชือกมัดไว้กับต้นไม้ ในพื้นที่ป่าโกงกาง หมู่ 7 คลองโต๊ะขัน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง สภาพคือ ถูกตัดหัว แล่เนื้อ เลาะกระดูก เหลือแต่หนังและไส้ไหลทะลักออกมา จึงได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อหาคนร้ายที่กระทำการเลวร้ายครั้งนี้มาดำเนินคดี

ถึงกระนั้นก็มิใย ยังมีคำเล็ดลอดออกมาว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อหวังประโยชน์อะไรบางอย่าง

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ถึงกับต้องออกมาว่า หน้าที่ของกรมอุทยานฯ คือการทำงานอนุรักษ์ อย่าโทษกันไปมา ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คนที่จะได้รับ คือทาง จ.ตรัง และชาวบ้านในพื้นที่ เกาะลิบงเอง ชาวบ้านจะมีอาชีพ จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นำนักท่องเที่ยวไปชมพะยูน ถามว่า กรมอุทยานฯจะได้อะไรจากการจัดฉากล่าพะยูน อย่าให้กรมอุทยานต้องกลายเป็นเหยื่อการเมืองในพื้นที่ กรมอุทยานทำงานอนุรักษ์ และดูแลไม่ให้ใครทำผิดกฏหมายเรื่องสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้ว นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เข้า ประชุม กับนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง มูลนิธิอันดามัน ชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลตรัง ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน เกาะลิบง หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ร่วมประชุมเพื่อแนวทางการอนุรักษ์พะยูนในทะเลตรัง ร่วมกัน

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า การดูแลอนุรักษ์พะยูนนั้น ต้องอาศัยหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ชุมชน ชาวประมง จ.ตรังเอง ต้องเล่นบทนำในการอนุรักษพะยูนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งจ.ตรัง มีทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ทั้ง 2 พื้นที่จะได้มีการร่วมกันทำงานอย่างเข้มข้น เนื่องจากพะยูนอาศัยอยู่กระจัดกระจาย ที่ผ่านมาภัยคุกคามพะยูนมีหลายอย่างไม่ว่าติดเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย การสูญเสียแหล่งหญ้าทะเล เรื่องของมลภาวะ หรือขยะทะเล วันนี้การจัดการให้เกิดผลสำเร็จไม่ให้พะยูนตายอย่างผิดธรรมชาติ จะต้องมีการจัดการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ทุกมิติอย่างครอบคลุม

“เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา จ.ตรัง โดยเฉพาะชาวบ้านเกาะลิบง และยังเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทางทะเลมีประสิทธิภาพมาก จึงเห็นด้วยกับทางผู้ว่าราชการ จ.ตรัง ที่จะจัดให้มีกรรมการระดับจังหวัดในการชับเคลื่อนเรื่องพะยูน ในส่วนของกรมอุทยานฯ นั้น พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ให้นโยบาย 3 ป.คือ ปฎิบัติทันที ปฎิบัติร่วมกับชุมชน และ ปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องพยายามไม่ทำให้พะยูนตายอย่างผิดธรรมชาติอีก” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติกล่าว

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี

ถึงตอนนี้ก็ใช่ว่าจะสามารถวางใจได้ว่า การอนุรักษ์พะยูน การดูแลหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน จะได้ผลมากแค่ไหน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจังหวัดอันเป็นพื้นที่พะยูนชุกชุมที่สุด จะยืนยันหนักแน่นว่าดูแลฟูมฟักพะยูนดีแค่ไหน แต่บทสรุปล่าสุดคือ การล่าและฆ่าพะยูนยังคงมีอยู่

และวันนี้ก็ยังหาตัวคนฆ่าพะยูนตัวล่าสุดยังไม่ได้

การดูแลพะยูนและแหล่งอาหาร จึงต้องเข้มข้นขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้นดังที่ตกลงกันไว้ในห้องประชุม..
ออกมาจากห้องประชุมแล้ว ทุกอย่างก็ต้องเข้มข้นเช่นกัน
พะยูนเหลือไม่ถึง 200 ตัว ถือว่าน้อยมาก
ถ้าน้อยลงไปกว่านี้ก็ถือว่าวิกฤตสุดสุด

 

ที่มา : มติชนออนไลน์