‘แก่นมะกรูด’ ชูศาสตร์พระราชา‘โคก-หนอง-นา’ โมเดล

ย่างเข้าฤดูหนาว…“แก่นมะกรูด” อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นับเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวฤดูหนาว ที่มีบรรยากาศและสภาพใกล้เคียง จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีการปลูกพืชเมืองหนาวต่างๆ ได้ผลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสตรอเบอรี่ ที่สามารถสร้างช่องทางอาชีพ สร้างรายได้ และเปิดรับการเข้าถึงในสังคม ทำให้ชุมชนกะเหรี่ยงยิ้มได้ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามหลักพึ่งพาป่า และการดำรงอยู่อย่างพอเพียง

แต่หากย้อนไปในปี 2546…

แก่นมะกรูดและบริเวณโดยรอบนี้ยังเป็นภูเขาหัวโล้น ที่เชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลก เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ปลูกพืชทำการเกษตรเชิงเดี่ยวของชาวกะเหรี่ยง เช่น ทำไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด และสับปะรด ซึ่งต่างพากันรุกล้ำลักลอบเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าในเขตป่าสงวนฯ จนกระจายวงกว้างไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลบริหารจัดการป่าสงวนฯ โดยร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุทัยธานี มูลนิธิปิดทองหลังพระ เข้ามาช่วยกันบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยง ด้วยการนำศาสตร์พระราชา ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นหลักในการดำรงชีวิตได้อย่างพอดี พออยู่ และพอเพียง รวมถึงการรู้จักพึ่งพิงป่าและธรรมชาติ แนะนำช่องทางสร้างอาชีพและรายได้ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนและมีความสุขวันนบ ขอสุข หนึ่งในเกษตรกรชุมชนกะเหรี่ยงแก่นมะกรูด บ้านใหม่คลองอังวะ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่เลือกยึดหลักเดินตามรอยเท้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จนสามารถดำรงชีวิตครอบครัวให้พอมี พอกิน ได้อย่างมีความสุข ในการนำศาสตร์พระราชา “หลุมขนมครก” และ “โคก-หนอง-นา โมเดล” มาร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาสู่การออกแบบพื้นที่ 1 พื้นที่ จำนวน 23 ไร่ ในการทำให้พื้นที่สามารถเก็บน้ำฝนไว้ให้ได้ทั้ง 100% โดยมีการคำนวณปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา รวมไปถึงน้ำสำหรับการบริโภคและปลูกข้าว ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่ และการนำศาสตร์พระราชามาบริหารด้านการจัดการ ดิน น้ำ ป่า มาใช้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำดินที่ขุดจากหนองมาทำโคก คือการขุดหนองคดโค้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่รอบหนอง และเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา การขุดคลองไส้ไก่ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ การยกหัวคันนาสูง เพื่อกักเก็บน้ำฝน การทำนาน้ำลึกโดยใช้ระดับน้ำในท้องนาควบคุมวัชพืช และศัตรูพืช หลุมขนมครก เมื่อนำมาปฏิบัติจะแตกต่างตามพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่สูง แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือในพื้นที่ลุ่มใช้รูปแบบโคก-หนอง-นา โมเดล ในพื้นที่สูงใช้การเปลี่ยนเขาหัวโล้น เป็นเขาหัวจุก”วันนบ” ในวัย 55 ปี เล่าว่า เมื่อก่อนก็มีความคิดเหมือนคนทั่วไป คืออยากจะรวย วิ่งตามคนอื่น ทำข้าวโพด ทำมัน ทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวมาโดยตลอด จนวันหนึ่งมานอนคิดว่า ถ้าเรายังทำอยู่อย่างนี้ไปตลอด เราได้เงินมาแล้วจะเอาให้มันเยอะไปเรื่อยๆ แล้วคำว่าพอเพียงนี้เราได้เอามาใช้แล้วหรือยัง แล้วก็กลับมาคิดว่า คำว่าพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านจะทรงพูดอยู่เสมอว่า ให้ตั้งอยู่ในความพอเพียง แต่เรากลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ได้เงินมาก้อนหนึ่งแทนที่จะสบาย แต่กลับเกิดความคิดที่ว่า เดี๋ยวต้องกลับไปเอามาให้ได้ก้อนใหญ่กว่าเดิม เพื่อสู้แข่งในวงการในสังคมของเรา ซึ่งในตอนนั้นคิดว่าถ้าเราอยู่อย่างนี้ตลอดคงหาความสุขไม่เจอ ก็คงจะเหนื่อย “เลยเริ่มลุกขึ้นมาศึกษาแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน จนพอศึกษาอย่างจริงจัง พอเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะรู้เลยว่าทุกคำพูดของพระองค์ท่าน มันไม่มีข้อไหนเลยที่ไม่ใช่ความจริง เลยทำให้เปลี่ยนจากความคิดที่ว่าหวังจะร่ำรวย ไม่อีกแล้ว จะลองทำตามหลักของพระองค์ท่านดู โดยเริ่มจากพอมี พอกิน แบ่งปัน ให้คนรอบตัวเราก่อน

และในความโชคดีตอนนั้นมูลนิธิปิดทองหลังพระได้เข้ามาในช่วงนั้นพอดี ทำให้เราได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ศึกษาเพิ่มเติม ทำให้มั่นใจได้ว่าตัวเราจะต้องเป็นตัวเรา จะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ในตามหลักที่พระองค์ท่านวางไว้ว่า เราจะต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ซึ่งตอนนั้นพอได้เข้าไปศึกษาแนวทางวิธีคิด ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้บรรลุความสำเร็จตามที่เราหวังไว้ ซึ่งก็ได้เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิปิดทองหลังพระเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในหลายๆ อย่าง ให้ความรู้ มีโอกาสเข้าไปศึกษาหลักกสิกรรมธรรมชาติเพิ่มเข้ามาอีก“จากนั้นได้นำหลักและความรู้ทุกอย่างที่ได้มาปรับปรุง มาประยุกต์ใช้ในชีวิตของเรา ซึ่งมันสามารถแก้ได้ทุกชนชั้น แต่คนส่วนใหญ่หลายๆ คนอาจจะคิดว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะเอามาใช้ได้แค่การทำเกษตรเท่านั้น ซึ่งที่จริงมันสามารถนำไปใช้ได้กับทุกชนชั้น ทุกธุรกิจ ทุกผู้คน ทุกวันนี้พอทำอะไรไปเหนื่อยๆ ยังรู้สึกว่าเหมือนพระองค์ท่านกำลังมองเราอยู่ ยิ่งทำให้มั่นใจและมีกำลังใจว่าเราต้องทำตามแนวคิด ตามหลักพระราชดำริของพระองค์ท่าน อย่างที่เราตั้งใจไว้แล้วว่าจะเดินตามรอยของพ่อ

“ถามว่าทุกวันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นไหม อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเลยว่าชีวิตเรามีความสุข พอใจ เรามีความสุข เราจะกิน จะนอน จะคิดอะไร ทุกอย่างมันจะตามเรามาหมดเลย อย่างเช่น พืชผลของเราที่มี พระองค์ท่านบอกว่าอย่าเปลือยดินให้ห่มดิน เพราะดินคือรากฐานของการที่เราจะสร้างอาหาร เราจะปลูกพืชขึ้นมาให้ได้กิน เราก็ทำตามแนวที่ได้เรียนรู้มา โดยเอาฟางมาห่มดิน พอดินมันดีขึ้นเราจะปลูกอะไรพืชผลมันก็ดี ซึ่งหลักของพระองค์ท่านพูดเท่าไหร่ก็ไม่หมด และทุกหลักนั้นสามารถนำไปใช้ได้จริงทุกประการ”

“วันนบ” ทิ้งท้ายว่า อยากจะฝากให้ทุกคนลองศึกษาแนวคิดและหลักคำสอนของพระองค์ท่านดู แล้วจะรู้ว่าทุกสิ่งที่พระองค์ท่านตรัสไว้ คือความจริงและใช้ได้จริงทุกประการ ทุกคำที่ท่านพูดบางทีเราอาจจะคิดว่าเป็นคำธรรมดาๆ แต่หากนำคำพูดเหล่านั้นกลับมาคิดแล้ว เราจะรู้ได้เลยว่ามันคือความจริง เหมือนพระองค์ท่านได้รู้แล้ว ต่างประเทศยังต้องส่งคนเข้ามาศึกษาศาสตร์พระราชาของเรา แล้วทำไมคนไทยเราจะไม่เห็นคุณค่าของศาสตร์พระราชาของพระองค์ท่าน

ขอบคุณข้อมูลจาก ศิริวัฒน์ วรศิริ