เผยแพร่ |
---|
ตามที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ข้อเสนอการเก็บเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมแบบใหม่” ซึ่งสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ใช้ประกันสังคมทั่วประเทศ 1,251 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2560 โดยกลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการจะเรียกเก็บเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นใหม่ตามฐานเงินเดือน โดยร้อยละ 57 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะจ่ายเท่าเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่อยากจ่ายเพิ่ม เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น แต่การให้บริการก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่ร้อยละ 23.50 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เหมาะสมและสอดคล้องกับฐานเงินเดือนที่ปรับขึ้น และร้อยละ 19.50 ไม่แน่ใจ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการสำรวจดังกล่าว เนื่องจากการเพิ่มเงินสมทบนั้นจะดำเนินการในกลุ่มผู้มีเงินเดือน 16,000-20,000 บาท โดยเพิ่มสูงสุดที่ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่ได้กระทบกับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท เนื่องจากยังเก็บเงินสมทบเท่าเดิม แต่ผลการสำรวจไม่ชัดเจนว่ามุ่งไปที่กลุ่มเงินเดือน 16,000 บาทอย่างเดียวหรือไม่ หรือเฉลี่ยภาพรวมทั้งหมด ตนมองว่าการสำรวจดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดขึ้นได้ เพราะจริงๆ แล้วการเพิ่มเงินสมทบจะส่งผลดีในเรื่องของเงินออมยามเกษียณที่มากขึ้น แต่ในเรื่องการบริหารจัดการแน่นอนว่า ต้องมีการปฏิรูปโดยต้องทำคู่ขนานกันไป เช่น เมื่อมีการจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ยามเกษียณนั้น แต่ก็ต้องมีการปรับปรุงการจ่ายเงินยามเกษียณให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นด้วย
“เมื่อเร็วๆนี้ คปค.ได้ประชุมหารือจนได้ข้อสรุปในเรื่องปฎิรูปชราภาพ กรณีการเก็บเงินสมทบเพิ่ม ว่า หากเก็บเพิ่มในกลุ่ม 16,000 บาทต่อเดือนเห็นด้วยเพื่อประโยชน์ต่อการเพิ่มเงินออม แต่ต้องปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่ โดยเฉพาะเกณฑ์การจ่าย ยกตัวอย่าง เมื่อเกษียณและรับเงินบำนาญ แต่เสียชีวิตหลังจาก 60 เดือนไปแล้วนั้น เดิมเงินออมที่ผู้ประกันตนเก็บจะตกไปอยู่ในกองทุน สปส.อัตโนมัติ แต่ คปค.เห็นว่า ควรปรับเปลี่ยนให้เงินก้อนนี้มอบแก่ทายาทโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะอย่างไรเสียเงินจำนวนนี้ก็ยังเป็นของผู้ประกันตน ซึ่งเก็บออมมาตั้งแต่ทำงาน” นายมนัสกล่าว
ประธาน คปค. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนใน ม.39 โดยยังได้เงินชราภาพเป็นรายเดือนเช่นเดิม แต่เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตน ม.39 จะต้องจ่ายเพิ่มคิดในอัตราประมาณ 168 บาทต่อเดือน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ 1.ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค 2.ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ และ 3.ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย ส่วนเงินสมทบชราภาพให้เริ่มนับตั้งเดือนแรกที่ถูกนำส่งประกันสังคม นอกจากนี้ ประเด็นเงินสงเคราะห์บุตร เดิม สปส.มีข่าวว่าจะมีการขยายเงินสงเคราะห์บุตรจำนวน 400 บาทเป็น 600 บาท แต่ยังอยู่ในขั้นอนุกรรมการ ยังไม่มีการประกาศใช้ และกรณีนี้จะได้เงินสงเคราะห์บุตรสำหรับเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 ปี ทาง คปค.เห็นว่าควรขยายอายุเพิ่มเติม เป็นจากเด็กอายุ 6 ปีไปถึง 12 ปี และเพิ่มเงินสงเคราะห์จากเดิม 400 บาท เป็น 600 บาทต่อเดือน และไม่จำกัดจำนวนบุตรจากเดิมกำหนดไม่เกิน 3 คน ซึ่งจะให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไขเพิ่ม 4/2558 ชึ่งมีผลบังใช้ตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2558 โดยคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง ค่าคลอดเหมาจ่าย ครั้ง 13,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเรื่องการปฏิรูปประกันสังคมนั้น ทาง คปค.และเครือข่ายเตรียมจัดงานเสวนาการปฏิรูปประกันสังคมที่ผ่านมา ผู้ประกันตนได้อะไร ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ที่กระทรวงแรงงาน
ที่มา : มติชนออนไลน์