ต้องตัดสินใจโครงการบรรเทาน้ำท่วม

แฟ้มภาพ

กลายเป็นเรื่องที่ต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดทุก ๆ ปี เมื่อประเทศไทยย่างเข้าสู่ฤดูฝนกับปัญหาน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเมืองใหญ่ และศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงกรุงเทพมหานคร

เป็นการติดตามระดับน้ำท่ามกลางความหวาดผวากับเหตุการณ์วิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 จะหวนกลับมาอีกหรือไม่ โดยเป็นไปในลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลาด 3 ปีของรัฐบาล คสช.

แต่ปริมาณน้ำจากภาคเหนือตอนล่างที่ฝนตกท้ายเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ ได้ทวีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากอิทธิพลของพายุ 4 ลูก ที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ทำให้มีปริมาณน้ำไหลหลากเหนือเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 3,000 ลบ.ม./วินาที

กรมชลประทานเองก็ได้บริหารจัดการน้ำจำนวนนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าที่เครื่องไม้เครื่องมือที่มีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการระบายน้ำเข้าทุ่ง หรือแก้มลิงบางระกำ ที่เตรียมการไว้ถึง 500 ล้าน ลบ.ม. การระบายน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตก-ตะวันออกเหนือเขื่อนเจ้าพระยา หรือการปล่อยน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ จำนวน 12 ทุ่ง อีก 1,500 ล้าน ลบ.ม.

การดำเนินการหน่วงน้ำ-ตัดยอดน้ำเข้าทุ่งดังกล่าว จุดประสงค์หลักก็คือการป้องกันไม่ให้เมืองใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงเทพมหานคร นิคมอุตสาหกรรม ตลอด 2 ฝั่งของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รอดพ้นไปจากน้ำท่วมใหญ่

ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำ นอกพนังกันน้ำ หรือพื้นที่บริเวณทุ่งรับน้ำ-พื้นที่นอกเมืองใหญ่ จะถูกน้ำท่วมสูงมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

นับเป็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นแสนครอบครัว หรืออาจจะเป็นล้านคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเป็นการถาวร

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นโครงการคลองระบายน้ำหลากฝั่งตะวันออก (คลองชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย) คลองระบายน้ำคู่ถนนวงแหวนรอบ 3 หรือคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ที่ทุ่มเถียงกันจนหาข้อยุติไม่ได้

จึงสมควรที่ หัวหน้ารัฐบาล จะต้องตัดสินใจจะดำเนินการต่อโครงการเหล่านี้อย่างไร ดีกว่าการออกตระเวนตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือน 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้ามากกว่า

Advertisement

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์