กำเนิด สตรอเบอรี่ ผลไม้ข้ามชาติ

สตรอเบอรี่ ผลไม้ไทย (เชื้อสายฝรั่ง) รสชาติอร่อยชนิดหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันมาหลายร้อยปี จนถึงสมัยปัจจุบัน ประเทศไทยปลูกสตรอเบอรี่กันมาก จนกลายเป็นสินค้าส่งออกทั้งภายในประเทศและประเทศใกล้เคียง

พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการปลูกสตรอเบอรี่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นทางภาคเหนือ แถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นต้น และในพื้นที่บางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เลย และเพชรบูรณ์ และมีแนวโน้มที่สามารถปลูกได้พอสมควรในพื้นที่สูงของภาคกลาง เช่น แถบจังหวัดกาญจนบุรี สตรอเบอรี่ได้รับความนิยมอย่างสูงในฐานะผลไม้ที่มีผลการวิจัยรองรับว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ โดย โครงการหลวง คือจุดเริ่มต้นของ สตรอเบอรี่

สตรอเบอรี่ เป็นผลไม้ที่มีสีสันและรูปทรงสวยงามจนได้ชื่อว่าเป็น เทพีแห่งผลไม้ และยังเป็นผลไม้ที่มีความแปลก เพราะแทนที่เมล็ดจะอยู่ข้างใน แต่ดันไปแปะอยู่ที่เปลือกข้างนอกซะงั้น สำหรับรสชาติของสตรอเบอรี่นั้นจะมีทั้งหวาน และเปรี้ยวผสมหวาน นำไปใช้ปรุงและประกอบอาหารได้หลายๆ อย่าง หรือจะกินได้ทั้งผลสดๆ และนำมาแปรรูปเพื่อถนอมอาหารประเภท แยม ที่ใช้กินกับขนมปังก็อร่อย

ในบรรดาผลไม้นานาชนิด ผลไม้ที่ดึงดูดใจผู้คนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็ก หนุ่มสาว ตลอดจนผู้ใหญ่ ต้องยกให้ สตรอเบอรี่ ผลไม้สีแดงสดใส รสชาติหวานอมเปรี้ยวนี้นี่เอง!

สตรอเบอรี่ เป็นพืชตระกูลเดียวกับกุหลาบ เป็นไม้ล้มลุก พุ่มเตี้ยติดดิน สูงเพียง 6-8 นิ้ว มีใบประกอบ ขอบใบจัก ใบส่วนใหญ่มี 3 ใบย่อย มีขนสั้นปกคลุมผิวใบ ช่วงอากาศเย็นใบอาจจะมีสีม่วงหรือแดง หรือเขียวปนม่วง ในส่วนของดอกจะมีรูปร่างคล้ายระฆังหงายสีขาว มีกลิ่นหอม โดยทั่วไปมักจะบานในฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูหนาวของไทย ส่วนของผลจะเกิดจากการอัดรวมของผลย่อยๆ มากมายบนแกนเดียวกัน

ตามปกติ สตรอเบอรี่เจริญเติบโตได้ในที่ที่มีอากาศอบอุ่น ดินอุดมสมบรูณ์ค่อนข้างสูง ผลสตรอเบอรี่อ่อนจะมีสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว เมือสุกจัดจะมีสีแดง

ประวัติ

สตรอเบอรี่ ถูกพบเมื่อราวศตวรรษที่ 10-15 โดยเริ่มที่ประเทศฝรั่งเศส พบภาพวาดเป็นภาพประสูติของพระเยซู มีภาพของพระบิดาโจเซฟ ยืนถือถาดสตรอเบอรี่ และอีกภาพเป็นภาพพระนางแมรี่ อุ้มพระเยซู และมีนางฟ้าถือถาดสตรอเบอรี่เช่นกัน ซึ่งจะเห็นว่าภาพเขียนศิลปะยุโรปสมัยกลางนั้น มีสตรอเบอรี่เป็นส่วนประกอบของภาพเกือบทุกภาพ

ในช่วง ค.ศ. 1500-1600 มีการปลูกสตรอเบอรี่กันอย่างกว้างขวางเนื่องจากมีลักษณะสวยงาม และสามารถนำผลมากินได้ มีการพัฒนาพันธุ์สตรอเบอรี่ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงศตวรรษที่ 17 มีการนำสตรอเบอรี่พันธุ์ เอฟ เวอจิเนียน่า จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาในยุโรป และสตรอเบอรี่พันธุ์นี้ก็คือ บิดาของสตรอเบอรี่ในยุคปัจจุบัน

สตรอเบอรี่โครงการหลวง กำเนิดด้วยพระบารมีล้นเกล้าฯ

สตรอเบอรี่ ถูกนำเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2477 ซึ่งในสมัยนั้นพระช่วงเกษตรศิลปการ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน) ได้ต้นพันธุ์สตรอเบอรี่จากชาวอังกฤษชื่อ คาลิโฟล ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานด้านป่าไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ในครั้งนั้นไม่มีใครสนใจเพราะกำลังให้ความสำคัญกับพันธุ์ยาสูบเวอร์จิเนีย และพันธุ์หอมหัวใหญ่มากกว่า

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่นแก่ชาวเขา สตรอเบอรี่จึงเป็นพืชที่ได้รับการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง และกลายมาเป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน จนกลายสัญชาติมาเป็นไทยโดยปริยาย และยังพบว่าสตรอเบอรี่ที่มีรสอร่อยที่สุดนั้น อยู่ที่บ้านขุนกลาง ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

พันธุ์สตรอเบอรี่เดิมเป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีคุณภาพไม่ดีนัก สำหรับพันธุ์สตรอเบอรี่ของสถานีพืชผลเมืองหนาวในสมัยนั้นมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ เบอร์ 13 (แคมบริจ เฟเวอริจ) เบอร์ 16 (ไตโอก้า) เบอร์ 20 (เซคเคียว) ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานชื่อพันธุ์สตรอเบอรี่ทั้ง 3 พันธุ์ คือ พันธุ์พระราชทาน เบอร์ 13 เบอร์ 16 เบอร์ 20

คุณค่าทางอาหารของ สตรอเบอรี่

สตรอเบอรี่ สีแดงสด กลิ่นหอม หวาน อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารมากมายที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพและความงามเลยทีเดียว ในสตรอเบอรี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ แอนโทไซยานิน เคอซิติน เคมเพอรอล ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนช่วยยับยั้งสารก่อโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ และเมื่อเปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระกับผลไม้ชนิดอื่นๆ สตรอเบอรี่นั้นจะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า ส้ม ถึง 1 เท่าครึ่ง มากกว่าองุ่นแดงอยู่ 2 เท่า มากกว่ากีวี 3 เท่า  มากกว่ามะเขือเทศและกล้วยหอม 7 เท่า และมากกว่าลูกแพร 15 เท่า และยังเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง

สตรอเบอรี่ ปริมาณ 100 กรัม จะมีวิตามินซีมากถึง 58 มิลลิกรัม เลยทีเดียว นอกจากนี้ สตรอเบอรี่ยังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำไม่มีคอเลสเตอรอล และมีไฟเบอร์ จึงเหมาะมากสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก

สตรอเบอรี่ ในอดีตปลูกเป็นพืชคลุมดินให้กับต้นไม้อื่น สตรอเบอรี่มีประโยชน์มากมาย ให้พลังงานต่ำ เหมาะกับคนลดน้ำหนัก และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ยับยั้งการเกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่น ลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ บำรุงสายตา สมอง และระบบประสาท

สตรอเบอรี่ มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ทั้งให้พลังงาน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เหล็ก และอุดมไปด้วยวิตามินซี รวมทั้งเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้ตั้งแต่รากเลยทีเดียว เช่น

รากและผล ใช้ทำยารักษาโรคหลอดลมอักเสบ โรคนิ่ว อาการปวดหัว ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานสะดวก

ใบ มีสารแอนติเจนที่มีคุณสมบัติเป็นยาฝาดสมาน โดยนำใบ 30 กรัม มาชงกับน้ำร้อนๆ ประมาณ 500 มิลลิลิตร ช่วยแก้อาการท้องร่วงได้

ผล ซึ่งอุดมด้วยวิตามินซี กรดอินทรีย์ และธาตุเหล็ก ใช้เป็นยาระบายและมีคุณสมบัติบำรุงเชื้ออสุจิให้แข็งแรงด้วย

น้ำคั้นจากสตรอเบอรี่ และสารสกัดจากผลที่อุดมด้วย ซูปเปอร์ไฟเบอร์ เพคติน สามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิตสูง และสามารถฆ่าเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดเริมได้

สตรอเบอรี่ นำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ใช้ทาหน้า จะทำให้หน้าขาวขึ้น อีกทั้งยังช่วยสมานผิว และลบริ้วรอยที่ถูกแดดเผาได้ดี

ผลการวิจัยของนักวิจัยชาวอิตาลี พบว่า สตรอเบอรี่สามารถยับยั้งสารก่อมะเร็งในกลุ่มไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในลำไส้ และสำหรับสถาบันวิจัยรัฐนิวเจอซี่ พบว่าคนที่กินสตรอเบอรี่มากๆ จะปลอดจากโรคมะเร็งได้มากกว่าคนที่ไม่ค่อยกิน หรือไม่กินเลย 3 เท่า

สตรอเบอรี่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย เช่น แยม ไวน์ ไอศกรีม โยเกิร์ต ขนม ลูกอม นมเปรี้ยว สบู่ แชมพู ลิปสติก เป็นต้น

คุณค่าของสตรอเบอรี่มีมากมายเหลือคณานับอย่างนี้ ลองหันมากินสตรอเบอรี่กันเถอะ