พาณิชย์ชุบชีวิต 2 หมื่นโชห่วย เจ้าตลาดค้าปลีกชุมชน

“บัตรคนจน” ชุบชีวิตโชห่วย 20,000 ร้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากหญ้า ปล่อยฟรีขายสินค้าชุมชน “สนธิรัตน์” เผยสเต็ป 2 ธงฟ้าฯ ผนึกตลาดกลางสร้างเครือข่ายค้าปลีกเข้มแข็งติดอาวุธออนไลน์ พร้อมผุดโปรเจ็กต์สร้างงานคนจน 11.4 ล้านคนเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ มั่นใจปีཹเศรษฐกิจรากหญ้าฟื้น ยอดขายตจว.คึกคัก

หลังจากรัฐบาลได้จัดทำโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เปิดให้ลงทะเบียนประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศรวม 11.4 ล้านคน ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถนำบัตรไปรูดซื้อสินค้าผ่านเครื่องรูดบัตร (EDC) จากร้านค้าธงฟ้าประชารัฐได้ 200 บาทต่อเดือน สำหรับผู้มีรายได้เกิน 30,000 บาท และ 300 บาทต่อเดือน สำหรับผู้มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 จะติดตั้งได้ 18,000- 20,000 แห่ง ซึ่งเป็นร้านที่เข้าร่วม

ทั้งนี้ หากคำนวณจากยอดขายตามวงเงินที่รัฐบาลกำหนดไว้รายละ 300 บาทต่อเดือน ของประชาชน 11.4 ล้านคน เท่ากับว่า 1 เดือนจะมียอดซื้อขายกว่า 3,000 ล้านบาท ที่จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นหรือระดับรากหญ้า เมื่อลงพื้นที่ต่างจังหวัดพบว่า ร้านธงฟ้าประชารัฐบางแห่งสามารถทำยอดขายได้ถึงวันละ 300,000 บาท จึงทำให้มีร้านค้าปลีกอื่นที่เริ่มเห็นประโยชน์และอยากจะเข้าร่วมมากขึ้น

เพิ่มสินค้าชุมชน-สินค้าเกษตร

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ได้เรียกประชุมพาณิชย์จังหวัดและสั่งการให้คัดเลือกสินค้าชุมชนที่มีมาตรฐาน เป็นสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูปจากชุมชนต่างๆ ที่มีปัญหาปริมาณซัพพลายส่วนเกินในแต่ละพื้นที่ เช่น กล้วย ข้าวถุง ไข่ไก่ ให้นำมาจำหน่ายในร้านธงฟ้าฯแต่ละพื้นที่โดยไม่จำกัดจำนวนสินค้า และไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการวางขายสินค้า โดยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นการบ่มเพาะธุรกิจเอสเอ็มอีระดับชุมชนด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่สินค้าชุมชนมีช่องทางการจำหน่ายผ่านเอาต์เลตร้านธงฟ้าประชารัฐ 20,000 ร้าน ส่วนการยกระดับมาตรฐานสินค้าที่นำเข้ามาขาย กระทรวงพาณิชย์จะประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมช่วยพัฒนามาตรฐานให้กับสินค้าที่ผ่านการคัดเลือก

ติดอาวุธออนไลน์

นายสนธิรัตน์กล่าวอีกว่า สำหรับร้านธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการและมีความพร้อม จะส่งเสริมให้เข้าสู่ระบบออนไลน์ เป็นการ “ติดอาวุธ” ให้ร้านโชห่วย โดยประสานกับกระทรวงดีอี และไปรษณีย์ไทย ช่วยยกระดับให้เป็น e-Commerce หรือที่เรียกว่า “โชห่วยไฮบริด” เริ่มจาก 500 ร้านค้า แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็น 10,000-20,000 ร้าน ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

“เดิมทีร้านค้าโชห่วยมีแต่ตายกับตาย นี่ถือเป็นครั้งแรกที่โชห่วยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลสร้างความเข้มแข็งให้ วันนี้เป็นการปลดล็อกโชห่วย โดยใช้เงินสวัสดิการแห่งรัฐ 3,000 ล้านบาทต่อเดือน เข้าไปช่วยต่อยอด ทำให้โชห่วยเติบโตอย่างยั่งยืน” นายสนธิรัตน์กล่าวและว่า เมื่อถึงวันที่มีการเลือกตั้งเสร็จ ถึงแม้ตนไม่อยู่แล้ว แต่โครงการนี้ต้องไม่ล้ม เชื่อว่าใน 1 ปีหลังจากดำเนินโครงการธงฟ้าประชารัฐ จะเห็นผลการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2561 แน่นอน เรียกได้ว่าปีหน้า (2561) จะเป็นปีแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

เชื่อมโยงเครือข่ายค้าปลีก

สำหรับสเต็ปในปี 2561 มีแผนจะเชื่อมโยงร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 20,000 ร้าน กับตลาดสินค้าเกษตรเฉพาะ 100 ตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่ โยงไปถึงตลาดสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ของภาคเอกชน ประมาณ 10 ตลาด เพื่อสร้างเครือข่ายค้าปลีก ช่วยต่อยอดทำให้สินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนมีตลาดกว้างมากขึ้น

โดยในเร็ว ๆ นี้จะเชิญยักษ์ใหญ่กลุ่มผู้ประกอบการตลาดกลางสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศ เช่น ตลาดไท ตลาดศรีเมือง ตลาดเมืองทอง ตลาดอุบลเจริญศรี ฯลฯ เป็นต้น มาหารือแนวทางการสร้างความเชื่อมโยง โดยต่อไปร้านธงฟ้าฯไม่ใช่เพียงร้านที่ขายสินค้าตามบัตรสวัสดิการเท่านั้น แต่จะทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมสินค้า (collector) ที่มีศักยภาพแต่ละชุมชน ส่งต่อไปให้ตลาดกลางสินค้าเกษตรกระจายสู่ทั่วประเทศ และต่อยอดไปถึงการส่งออกในตลาดอาเซียนด้วย

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงตลาดเข้ากับร้านธงฟ้าฯ ไม่เพียงแต่จะช่วยโชห่วย แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นโจทย์การทำงานที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบให้

สร้างงานคนจน 11.4 ล้านคน

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คนจน 11.4 ล้านคน พ้นความยากจน ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าส่งเสริมให้ประชาชนที่ลงทะเบียนคนจน 11.4 ล้านคน ที่สนใจประกอบธุรกิจได้มีโอกาสเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องคัดเลือกแฟรนไชส์ที่ดีมาช่วยอบรม และจะทำหน้าที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินภาครัฐให้ เช่น ออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ ให้ช่วยด้านสินเชื่อรายย่อย 20,000-30,000 บาท สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน เหตุที่ต้องกำหนดให้ส่งเสริมในระบบแฟรนไชส์ เพราะแฟรนไชส์เป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว นี่จึงเหมือนโครงการพี่จูงน้องอย่างแท้จริง

“เป้าหมายคือ ถ้าปีแรกลดคนจนลงในจำนวน 11.4 ล้านคน ลดลงไปสัก 500,000-1 ล้านคน โดยอาจจะใช้วิธีให้ทำแฟรนไชส์ยกหมู่บ้าน เป็นโมเดลแต่ละหมู่บ้านไปเลย ซึ่งคาดหวังว่าถ้าทำได้สัก 3% ช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากหมุนเวียนดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรก็ดีขึ้นด้วย อีกทั้งจำนวนคนจนก็ลดลง”

รายได้ค้าปลีกสะดุด

รายงานข่าวระบุว่า จำนวนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐขณะนี้มี 20,000 ร้านค้า มากกว่าจำนวนร้านสะดวกซื้อบางแบรนด์ถึง 2 เท่า หากประชาชน 11.4 ล้านคน ใช้บัตร 300 บาทต่อเดือน เป็นเงิน 3,400 ล้านบาท อาจส่งผลให้ยอดขายค้าปลีกของร้านโมเดิร์นเทรดบางแบรนด์มียอดลดลง เพราะขายสินค้ากลุ่มเดียวกัน และการเชื่อมโยงเครือข่ายกับตลาด มีโอกาสที่ร้านธงฟ้าฯจะสามารถทำยอดได้มากกว่า และจำหน่ายสินค้าได้ราคาต่ำกว่าโมเดิร์นเทรด เพราะอยู่ในพื้นที่ และลดต้นทุนค่าจีพีต่ำกว่า ถึงต้นทุนรับมาจะแพงกว่า แต่การลดมาร์จิ้นลงอาจทำให้ขายราคาได้ถูกกว่าโมเดิร์นเทรด และทุนบริหารจัดการ ต้นทุนของโชห่วยต่ำกว่าโมเดิร์นเทรด

อุดรบัตรคนจนคึกคัก

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ รองประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้บริหารร้านค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ จ.อุดรธานี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการบัตรสวัสดิการของรัฐช่วยกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยให้คึกคักยิ่งขึ้น และช่วยแบ่งเบาค่าครองชีพของคนจนได้ระดับหนึ่ง หลัก ๆ ใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ฯลฯ และเป็นผลดีต่อร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้นมากนัก เพราะกำลังซื้อในต่างจังหวัดยังไม่ฟื้น จากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านยังหาเงินได้ยาก

ตอนนี้ที่เป็นปัญหาคือจำนวนร้านค้า และเครื่องรูดบัตรยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ และไม่ครอบคลุมพื้นที่ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า หากร้านค้าโชห่วยที่เข้าร่วมโครงการเป็นร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีของรองรับผู้มีบัตรได้เป็นจำนวนมาก จะทำให้การขายค่อนข้างได้เปรียบร้านโชห่วยบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ได้เข้าร่วม รวมทั้งร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในเวลานี้คือการกระจายเครื่องรูดบัตรยังมีไม่มากนัก รวมทั้งสัญญาณของเครื่องค่อนข้างช้า ทำให้ลูกค้ารอนาน ตนเห็นว่าการที่มีลูกค้าไปซื้อสินค้าร้านธงฟ้าฯจำนวนมาก อีกด้านหนึ่งอาจเสียโอกาสการขายให้กับลูกค้าทั่วไปที่มาซื้อด้วยเงินสด ร้านค้าก็ต้องบริหารจัดการให้ดี