จัดเกรดมาตรฐาน “ข้าวสี” ไทย คน.ตั้งงบ 20 ล.ขอใบรับรองส่งออก ตปท.

พาณิชย์จัด MOU ชาวนากับโรงสี-ผู้ส่งออก ดันสร้างมาตรฐาน “ข้าวสี” ทำตลาดต่างประเทศ ด้านกรมการค้าภายในเตรียมของบประมาณ 20 ล้านบาท ขอใบรับรองมาตรฐานในตลาดต่างประเทศ พร้อมแนะเกษตรกรเตรียมความพร้อมด้านเพาะปลูกรองรับตลาดในอนาคต

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการเชื่อมโยงตลาดข้าวสี ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกข้าวสี กับผู้ที่จะเข้ามารับซื้อ คือ โรงสี และผู้ส่งออก ผู้ประกอบการข้าวถุง เพื่อนำไปทำตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อไป การลงนามครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกในการทำตลาดข้าวสีไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ซื้อรู้จักและผู้ปลูกมีช่องทางการทำตลาดที่ชัดเจน โดยจากนี้ไปกระทรวงพาณิชย์จะส่งเสริมข้าวสีไทยให้ได้มาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพื่อยกระดับการแข่งขันต่อไป

“เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ทำให้เกษตรกรสนใจปลูกข้าวสีมากขึ้น เนื่องจากขายได้ราคาดี แต่ต้องสร้างมาตรฐานให้ได้คุณภาพ และเป็นที่ยอมรับตามความต้องการของตลาด ต่อไปกระทรวงพาณิชย์จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และทิศทางของตลาด ราคา โดยเกษตรกรต้องเตรียมความพร้อมด้านการเพาะปลูก และคุณภาพข้าว มาตรฐาน เพื่อรองรับตลาดในอนาคต ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ” นางอภิรดีกล่าว

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการตั้งงบประมาณในการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสี ข้าวอินทรีย์ โดยเฉพาะการรับรองมาตรฐานข้าวในตลาดต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ ต้นทุนในการขอใบรับรองสูง ซึ่งตั้งงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 20 ล้านบาท ระยะเวลาปี 2563-2565 และภายหลังการ MOU ต้องการให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมด้านการเพาะปลูกให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลานาน ทั้งเรื่องดิน น้ำ พันธุ์ข้าว ซึ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน หากต้องการให้ได้มาตรฐานเกษตรกรต้องเริ่มต้นในตอนนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบเพื่อขอรับรองคุณภาพ มาตรฐานจะได้สะดวกมากขึ้น

“ค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองมาตรฐานข้าวในต่างประเทศอยู่ที่ราคา 70,000-80,000 บาทต่อ 1 ใบรับรอง ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ใบรับรองมาตรฐานเพื่อการส่งออก กรมจึงได้ตั้งงบประมาณขึ้นมา โดยที่เกษตรกรไม่ต้องจ่าย เพื่อสร้างมาตรฐานข้าวให้ได้ตามการตรวจสอบเท่านั้น” นายบุณยฤทธิ์กล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อสามารถผลิตข้าวสี ข้าวอินทรีย์ และได้การรับรองจากต่างประเทศ จะทำให้การส่งออกข้าวไทยขยายตัวได้ในอนาคต และระหว่างที่เกษตรกรเตรียมการเพาะปลูกกรมจะเชิญชวนผู้ปลูกที่มีข้าวสีอยู่แล้วมาร่วมงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และผู้จัดงานของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้จัดงานอันดับหนึ่งของโลกในการจัดงานเกษตรอินทรีย์ และเพื่อให้ข้าวสี ข้าวอินทรีย์ของไทย เริ่มเป็นที่รู้จัก และทำการประชาสัมพันธ์ไปในตัว ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นการทำตลาดที่ดีให้กับเกษตรกรเองด้วย โดยงานจะมีขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2561

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์