ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวที่น่ายินดีเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาของไทยอีกครั้ง เมื่อทีมนักวิจัย และนักประดิษฐ์ของไทยคว้า 85 รางวัล จากเวทีประกวดนานาชาติ ในภูมิภาคยุโรปและเอเชียมาฝากคนไทยได้อีกครั้ง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่นักวิจัย และนักประดิษฐ์ ผู้ชนะรางวัลจากเวทีประกวดนานาชาติ โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ประเทศไทย โดย วช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยไทย และนักประดิษฐ์ไทย ในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพเข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมา วช. ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยไปคว้ารางวัลเกียรติยศจาก 2 ประเทศ ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ในงาน “13th Taipei international Invention Show & Technomart” (INST 2017) ระหว่าง วันที่ 28-30 กันยายน 2560 ซึ่งการจัดงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก The Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไต้หวัน ภายในงานมีนักวิจัยจากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงมากกว่า 1,000 ผลงาน มีนานาชาติเข้าร่วม 19 ประเทศ
ในงานนี้ วช. ได้นำนักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย เข้าร่วมประกวด จำนวน 64 ผลงาน จาก 19 หน่วยงาน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
โดยผลงานของนักวิจัยไทยสามารถคว้ารางวัล Platinum Award จากผลงาน เรื่อง “VIP-Safe Plus” ชุดตรวจแลมป์เคมีไฟฟ้าแบบรวดเร็วขนาดพกพา ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (Biotec) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่มอบให้กับผลงานของนักประดิษฐ์ไทยประเทศเดียวจาก 23 รางวัล ส่วนอีก 22 รางวัล มอบให้กับนักประดิษฐ์จากประเทศไต้หวัน
นอกจากนี้ นักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย ยังได้รับรางวัลสำคัญในการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติในครั้งนี้ ประกอบด้วยรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน 9 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 11 รางวัล รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 13 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่างๆ จำนวน 16 รางวัล
นอกจากนี้ วช. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดและนำเสนอผลงาน ในเวที “11th International Warsaw Invention Show” (IWIS 2017) ระหว่าง วันที่ 9-11 ตุลาคม 2560 ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยมีผลงานของนักวิจัย นักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด จำนวน 19 ผลงาน จาก 7 หน่วยงาน
เวทีนี้นักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย สามารถคว้ารางวัล Platinum Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน จากผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้า” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และยังมีผลงานของนักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน 3 ผลงาน รางวัลเหรียญทอง จำนวน 4 ผลงาน เหรียญเงิน จำนวน 8 ผลงาน และเหรียญทองแดง จำนวน 3 ผลงาน และรางวัล Special Prize จากประเทศต่างๆ กว่า 10 ผลงาน โดยมีประเทศที่เข้าร่วมนำเสนอผลงาน 32 ประเทศ มากกว่า 400 ผลงาน
ทั้งนี้ ผลงานวิจัย และผลงานประดิษฐ์ ที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ จะนำไปจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2561 ระหว่าง วันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นวัตกรรมเด่น ที่น่าจับตามอง
ในครั้งนี้ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น
“บีไซม์ เอ็นเอสพี” เป็นผลิตภัณฑ์เอนไซม์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสุกร โดยช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การย่อยได้ของอาหาร เพิ่มอัตราการเจริญเติบโต เฉลี่ยต่อวัน (ADG) ลดอัตราการแลกเนื้อ (FCR) ช่วยลดต้นทุนอาหาร และเพิ่มผลกำไรจากการลงทุนได้อย่างชัดเจน ผลงานชิ้นนี้ เป็นของ สพ.ญ. ปานวาด อุ่นใจ และคณะ แห่งอุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
“ตู้อบและรมควันยางพาราประหยัดพลังงาน แบบใช้งานภายในครัวเรือน” เป็นผลงานของ คุณเฉลิมศักดิ์ ตันติเจริญวิวัฒน์ และคณะ แห่งวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี โทร. (081) 978-7699 ได้รับรางวัล Special Prize จากองค์กรส่งเสริมด้านนวัตกรรมของประเทศอินโดนีเซีย จุดเด่นของผลงานชิ้นนี้คือ ตู้อบและรมควันยางพาราประหยัดพลังงาน แบบใช้งานภายในครัวเรือน จะมีการนำยางพาราออกมาตากยางและเก็บอัตโนมัติ รวมถึงมีการอบและรมควันยางจากชุดกำเนิดความร้อน ซึ่งลมร้อนและควันจะกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันลมร้อนส่วนเกินจะถูกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวสวนยางพาราเป็นอย่างมาก เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา เฉลี่ย 3.35 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันยังลดการขนส่ง และการใช้พลังงานของผู้ส่งออกยางแผ่นดิบรมควันรายย่อย
“ซอสหอยขม” ผลงานของ คุณณัฐชรัฐ แพกุล และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัล Special Prize จากองค์กรด้านนวัตกรรมของประเทศแคนาดา ผลิตภัณฑ์ซอสหอยขม ผลิตโดยใช้เนื้อหอยขม นำมาเคี่ยวกับส่วนผสมต่างๆ และนำมาสกัดเพื่อให้ได้ซอสหอยขมชนิดเข้มข้น มีความใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ซอสหอยที่จำหน่ายตามท้องตลาด สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายประเภท เช่น นำไปผัดกับอาหาร ผัดกับผักชนิดต่างๆ ใช้เป็นเครื่องปรุงรสต่างๆ ในการประกอบอาหารได้ โดยสามารถใช้แทนซอสหอยนางรมได้ 100% อีกทั้งยังมีปริมาณคอเลสเตอรอลที่ต่ำกว่ามาก และมีราคาต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอีกด้วย
“เซรั่มบำรุงผิวหน้า จากสารสกัดเงาะพันธุ์สีชมพู ขนาดนาโนที่ใช้เทคโนโลยีนีโอโซม ซึ่งพัฒนาจากกะทิ” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัล Special Prize จากองค์กรด้านนวัตกรรมของประเทศแคนาดา ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวหน้า ได้พัฒนาจากสารสกัดเงาะพันธุ์สีชมพู ซึ่งเป็นพืชที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย ซึ่งจะช่วยในการลดริ้วรอย มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นที่สูง มีฤทธิ์ในการลดจุดด่างดำ และทำให้ผิวหน้าชุ่มชื้น
นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีนีโอโซม ซึ่งได้มีการเติมกะทิลงไปในอัตราส่วนที่เหมาะสมในการพัฒนาประสิทธิภาพการกักเก็บสารสกัดเงาะพันธุ์สีชมพู และมีประสิทธิภาพซึมผ่านผิวได้มากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำผลผลิตทางการเกษตรมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้